สิ่งตีพิมพ์ในซอง

1. สานแสงอรุณ
ฉบับ “ถ้าโลกนี้ไม่มีนิทาน…”
ปีที่ 13 ฉบับที่ 2
มีนาคม – เมษายน 2552
บรรณาธิการ:ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม
80 บาท (360 บาท/1 ปี 6 ฉบับ)

หลังจากทิ้งช่วงนานราวจะแข่งกับ อ่าน ในเรื่องความล่าช้า ในที่สุด สานแสงอรุณ ฉบับมีนาคม – เมษายน ก็ออกมาให้ยลโฉม ด้วยภาพปกสดใสน่ารัก เข้ากันกับชื่อฉบับ “ถ้าโลกนี้ไม่มีนิทาน” ซึ่งมีบทสัมภาษณ์ ทศสิริ พูลนวล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, มณฑาทิพย์ สุขโสภา แห่งกลุ่มละครหุ่นเงาพระจันทร์พเนจร พร้อมรายงานพิเศษจากกองบก. ว่าด้วยประเภทจำพวกของนิทาน และอีกสารพัดจากนักเขียนคอลัมน์ประจำซึ่งมีเรื่องราวอื่นๆ อันแวดล้อมเกี่ยวกับนิทานและคนเล่านิทานมานำเสนอ สำหรับบทความรับเชิญชิ้นใหญ่ประจำฉบับนี้ ใช้ชื่อว่า “อนุสาสนีปาฏิหาริย์” เป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนคือ แดนอรัญ แสงทอง เรียกว่า “ธรรมนิยายน้อยๆ”

2. วารสารธรรมศาสตร์
ฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 75 ปี
ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2552
คณะบรรณาธิการ: สมบัติ จันทรวงศ์ และคณะ
บรรณาธิการ: ปรีชา วาณิชยเศรษฐกุล
100 บาท

วารสารธรรมศาสตร์ ฉบับพิเศษในโอกาสครบรอบ 75 ปีของมหาวิทยาลัย รวบรวมทั้งบทความที่เคยตีพิมพ์
มาแล้วในวารสารธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งเก่า และบทความวิจัยใหม่ๆ มานำเสนอไว้ในคราวเดียวกัน พร้อม
บทความพิเศษ “จิตสำนึกอาจารย์กับ จิตวิญญาณมหาวิทยาลัย” โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

บทความจากอดีตที่คัดเลือกมานั้น ได้แก่ บทสนทนาระหว่างม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, เสน่ห์ จามริก,
เกษม ศิริสัมพันธ์ (เคยตีพิมพ์ในฉบับ ปี 2515), บันทึกฉบับ 5 มีนาคม 2526 ของนายปรีดี พนมยงค์
เรื่องตอบคำถามบางประการของนิสิตนักศึกษา, “แนวทฤษฎีการรวมกลุ่มในสังคมไทย และ ‘กลุ่มอิทธิพล’ ”
โดย ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล (เคยตีพิมพ์ในฉบับปี 2517), “ลูกเสือชาวบ้าน: บางสิ่งบางอย่างจาก 6 ตุลาคม 2519”
โดยกวีรัตน์ คุณาภัทร (เคยตีพิมพ์ในฉบับปี 2521) และกระทั่ง “จดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง” (ตีพิมพ์ครั้งแรกใน
เศรษฐศาสตร์สาร, 2515)

สำหรับบทความวิจัยใหม่ๆ ที่คัดเลือกมาตีพิมพ์จำนวน 4 บทความนั้น ได้แก่ “การบริโภคและการผลิตภาวะ
(หลัง) สมัยใหม่: วัยรุ่นกับวัฒนธรรมป๊อปในประเทศไทย” แปลจากบทความของอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ซึ่งตีพิมพ์ใน
Media Consumption and Everyday Life in Asia ของสนพ. Routledge (2008) และบทความโดย
แสวง บุญเฉลิมวิภาส และไพศาล ลิ้มสถิตย์ ที่สรุปจากงานวิจัยโครงการ “การศึกษาพันธกรณีและความพร้อมของ
ประเทศไทยในการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. 2003” ซึ่งได้รับทุนจาก
สำนักงานป.ป.ช. ส่วนอีกสองบทความนั้นเป็นบทความวิจัยจากอีกหนึ่งโครงการภายใต้ทุนอุดหนุนจากสกว. คือ
โครงการ “วิกฤตความแตกแยกของธรรมวิทยาแห่งพลเมือง:การศึกษาคำประกาศธรรมของประกาศร่วมสมัย” ที่
ทำให้เห็นถึงฐานะและคุณภาพของงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันได้ดีพอสมควร

3. ราหูอมจันทร์ Vol. 6
ฉบับ ผีน้อยสองตัวกับแผลเป็นของปู่
กองทุนกนกพงศ์ สงสมพันธุ์
กรกฎาคม – กันยายน 2552
200 บาท (300 บาท/1 ปี 2 ฉบับ)

….และโดยไม่ถามว่าข้าพเจ้าเก็บหมายเลขบัญชีธนาคารของเขาไว้หรือไม่
เขาบอกให้ข้าพเจ้าจด
ข้าพเจ้าจด

นิตยสารเรื่องสั้นรายฤดูกาลอันก่อเกิดจากดำริของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ผู้ล่วงลับ และกลุ่มเพื่อนพ้อง ดำเนินมาถึง
ฉบับที่ 6 แล้ว ในฉบับนี้ นอกจาก 10 เรื่องสั้นที่ผ่านการคัดกรองโดยคณะบรรณาธิการ ซึ่งจะได้สิทธิ์เข้าชิงรางวัล
กนกพงศ์ สงสมพันธุ์แล้ว ยังมีเรื่องสั้นรับเชิญจากประภัสสร เสวิกุล และชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เรื่องสั้นซีไรต์ของ
อีซา กามารี นักเขียนจากสิงคโปร์ และเรื่องสั้นชื่อ “มูลค่า” ซึ่งกนกพงศ์เขียนไว้เมื่อปี 2547 ว่าด้วย “ตามธรรมเนียม,
อัตราค่าเรื่องของนักเขียนแต่ละคนย่อมไม่ เท่ากัน ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของงานเขียนหรืออายุการทำงาน
ของนักเขียน แต่อยู่ที่ชื่อเสียง…”

4. เรียงร้อยถ้อยวิจารณ์
รวมบทวิจารณ์คัดสรรสาขาวรรณกรรมและภาพยนตร์
บรรณาธิการ: ตรีศิลป์ บุญขจร
ผู้จัดพิมพ์: สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ
พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2552
284 หน้า/ 200 บาท

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นในวาระงาน “นิตยาปิยาจารย์” หรืองาน “ครบรอบ 72 ปีอาจารย์นิตยา มาศะวิสุทธิ์” เมื่อ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2552 ด้วยวัตถุประสงค์ “เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการวรรณคดีวิจารณ์ และเพื่อสนับสนุน
การอ่านเชิงวิจารณ์ในสังคมไทย” โดยรวบรวมบทวิจารณ์ที่ได้รับรางวัลม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ทั้งรางวัลดีเด่น
และรางวัลชมเชย และทั้งที่เป็นงานวรรณกรรมวิจารณ์และภาพยนตร์วิจารณ์เข้าไว้ด้วยกัน นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่
ในที่สุดก็มีแหล่งค้นคว้าอ้างอิงเสียทีสำหรับผู้ที่สนใจจะหาอ่านว่าบทวิจารณ์ที่ได้รางวัลในแต่ละปีนั้นมีคุณภาพที่
เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร แม้จะน่าเสียดายที่การรวบรวมในครั้งนี้ก็ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

นอกจากบทวิจารณ์ที่ได้ประทับรางวัลแล้ว ยังมีบทวิจารณ์ที่คัดสรรมาเป็นการเฉพาะเพื่อรวมพิมพ์ไว้ในโอกาสนี้ด้วย
ซึ่งล้วนเป็นบทความวิชาการที่น่าสนใจและ น่าจะเป็นประโยชน์แก่การค้นคว้าอ้างอิงต่อไป ทั้งที่เป็นบทวิจารณ์ของ
อ.นิตยาเอง และบทความของบรรดานักวิจารณ์รุ่นหลังไม่ว่าจะเป็น ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, สุรเดช โชติอุดมพันธ์,
สรณัฐ ไตลังคะ, พิเชฐ แสงทอง, สายวรุณ น้อยนิมิต และตรีศิลป์ บุญขจร แม้จะเป็นเรื่องน่าเสียดายอีกเช่นกัน
ที่ไม่มีการระบุที่มาหรือข้อมูลการตีพิมพ์ของบทความส่วนใหญ่เหล่านั้นเอาไว้

5. ช่อการะเกด
ฉบับที่ 49
กรกฎาคม – กันยายน 2552
บรรณาธิการ: สุชาติ สวัสดิ์ศรี
235 บาท

ช่อการะเกด ฉบับนี้เปิดเล่มด้วยจดหมาย 29 ฉบับจากนักเขียนช่อการะเกดรุ่นที่ 1 และ 2 ที่ตอบรับ
เทียบเชิญส่งเรื่องสั้นมาร่วมตีพิมพ์ใน ช่อการะเกด 51 อย่างคับคั่ง สะท้อนถึงจิตใจยอมรับนับถือต่อเส้นทาง
ที่ยาวนานของสำนักช่างวรรณกรรม

ความเฉพาะตัวของเวทีช่อการะเกด คือลีลาพิเศษของ “รสนิยมส่วนตัว” ของบรรณาธิการ โดยเฉพาะ
ในแต่ละครั้งที่ออกมาเป็นคำวิจารณ์ปะหน้าเรื่องสั้นที่ได้ รับการตีพิมพ์แต่ละเรื่อง ซึ่งต่างจากอรรถาธิบายเฝือๆ ใน
คำประกาศเชิดชูของรางวัลวรรณกรรมทั้งหลายโดยทั่วไป

แม้จะประกาศว่าเป็นการใช้เกณฑ์ส่วนตัว แต่เมื่อดูจากคำวิจารณ์ปะหน้าเรื่องสั้นที่ “ผ่านเกิด” เหล่านั้น กลายเป็นว่า
เกณฑ์ที่ไม่ยอมอ้างตัวว่าสากลนั้นกลับเปิดกว้างและหลากหลายไม่น้อย ไม่ว่าจะสำหรับเรื่องสั้นในลักษณะ
เรื่องซ้อนเรื่อง อย่าง “การเดินทางของแดนดิไลอัน” ของ “กันต์ธร อักษรนำ” หนึ่งในผู้ได้ประดับช่อการะเกด
ยอดเยี่ยมปี 2551, เรื่องแนวสะเทือนใจแบบเมโลดรามา ว่าด้วย “เขาและเธอ” ที่พบเพื่อพราก อย่าง “แทรกกลาง
ความเศร้าทั้งมวล” ของ “จารี จันทราภา” หรือเรื่องที่บรรณาธิการบอกว่าเป็นแบบ “สตรีสารนิยม” และ “ขวัญเรือน
นิยม” ที่ช่อการะเกด ก็นิยมได้เช่นกันอย่าง “สิ่งที่ถูกต้อง” ของ “จิตสุภา”

นอกจากนั้นยังมี “บ่าง” ของพอพล นนทภา เรื่องสั้นแนวมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือ ecotopia, “ฝันกลางวันกลาง
ฤดูร้อน” แนว supernatural แบบไทย-ไทย ของนักเขียนพลังแปลกๆ อย่างภาณุ ตรัยเวช, “บุรุษไปรษณีย์” แนว
เฟื่องฝัน ไม่เชิง fantasy ไม่ใช่ science fiction ของละเวง ปัญจสุนทร, “แพะในหมู่บ้าน” กับลีลาอัตถนิยม
เก็บละเอียดของ “วรภ วรภา”, “หลังโรงหนัง” ของ “วันเสาร์ เชิงศรี” ที่ผ่านเกิดด้วยประเด็นตัวละครเด็กที่กำลังเข้าสู่
โลกของผู้ใหญ่ในแนว coming of age, “ที่อยู่” ของ “สุกมล รุ่งบุญ” เรื่องสั้นประหลาดคลุมเครือในแนวทาง
แบบคาฟก้า

“เศรษฐศาสตร์ฆาตภาค” ของ “ชัยกร หาญไฟฟ้า” เรื่องสั้นย่อหน้าเยอะที่เสนอวิถีชีวิตของ Upper Middle
Class แบบไทยๆ, “ทัศนียภาพลวงตา” ของปานศักดิ์ นาแสวง ซึ่งเคยได้ประดับช่อการะเกดยอดเยี่ยมปี 51
มาแล้วอีกคนหนึ่ง ส่วนเรื่องที่ดูจะต้องรสนิยมส่วนตัวของ “อ.อ่าน” เป็นพิเศษ (และหวังว่าจะไม่ใช่ “จุมพิต
มรณะ” เช่นกัน) คือ “สายน้ำครวญ” ของ “เดช อัคร” ที่บรรณาธิการสรุปว่าเป็นเรื่องเล่าในชั้นเชิงอัตถนิยม
ที่เศร้าลึกและมีพลัง

คำวิจารณ์เหล่านี้ที่เปิดเผยและตรงประเด็นตลอดมานี่เอง ได้นำไปสู่ปฏิกิริยา “วิจารณ์คำวิจารณ์ของ
บรรณาธิการ” จากอีกบรรณาธิการนาม “วาด รวี” ที่มาร่วมปะทะทางปัญญาว่าด้วยเกณฑ์ในการ
นิยาม “เรื่องสั้นเพื่อชีวิต” กันอย่างเข้มข้นชนิดที่ผู้สนใจวรรณกรรมไม่ควรพลาด

ภาค “โลกหนังสือ” ยังคงคึกคักด้วยฝีมือผู้สื่อข่าวรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงาน “การปะทะทางวัฒนธรรม ศิลปะ
และวรรณกรรมในโลกมุสลิม”, บทเก็บความเรื่องราวของแฟลน โอไบรอัน นักเขียนไอริช, “กัลปพฤกษ์” เขียน
ถึง คนโซ หนังสือของ Knut Hamsun ที่กลายเป็นหนังของหลายผู้กำกับ คอลัมนิสต์รุ่นใหญ่ นพพร
สุวรรณพานิช เขียนอาลัยถึงรงค์ วงษ์สวรรค์ และยังมี “การเมืองในมิติกวีนิพนธ์” ของส.ศิวรักษ์ มาไว้ให้
ตามอ่านสำหรับผู้ที่พลาดฟังปาฐกถาชื่อเดียวกันนี้อีกด้วย

6. จดหมายวรรณกรรม
ปีที่ 1 ลำดับที่ 6
ฉบับ อวลดอกไม้เลือดนกเมษายน 2552
โดย คณะผู้เขียนจดหมาย

ดวงอาทิตย์
สุกรอ
ป่ายปีน
(บทกวีโดย “ชามกลางคืน”)

ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่าง “ง่ายงาม” สำหรับ จดหมายวรรณกรรม โดย “คณะผู้เขียนจดหมาย” ใน
ฉบับนี้มีจดหมายรับเชิญพิเศษจากสามนักเขียนคือ มาโนช พรหมสิงห์ ที่ทำให้รู้ว่า วิทยากร โสวัตร ลาออกจาก
งานประจำมาอยู่กับครอบครัวและเปิดร้านขายกาแฟ หนังสือ และเบียร์ ชื่อร้านฟิลาเดลเฟีย ใกล้ๆ มหาวิทยาลัย
อุบลราชธานี, พิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ ที่ยังคงยืนยัน “หากเรายังอยู่ในเกม หมายถึงเกมแห่งการเขียน
หนังสือนะครับ เราก็ต้องเล่นให้มันดีที่สุด
” และนทธี ศศิวิมล ที่มาเล่าเรื่อง “ไอ้ตาแดง” แห่งวัดป่าด้านหลัง
หมู่บ้านวังน้ำทิพย์

จดหมายจาก “ภู กระดาษ” ทำให้รู้ว่า “อรอาย อุษาสาง” กำลังจะรวมเล่มบทกวีครบรอบหนึ่ง
ทศวรรษของการทำงาน ชื่อ บนพื้นผิวแผ่นดินที่กำลังแตกกระจาย “ภู กระดาษ” บรรยายถึงความ
ยากลำบากนานาอันอาจเป็นสาเหตุให้เขาไม่สามารถร่วมสนุก “เขียนอะไรนิดๆ หน่อยๆ” ให้กับรวมเล่มของเพื่อนกวี
ได้ทัน ตอนหนึ่งนั้นเขาเล่าว่า “ขณะกำลังจะเขียน ห่าก้อม (โคตรปอบ-อภิมหาปอบ) ก็ออกอาละวาดหากิน
น้ำขี้สีกขี้แห้ง กบเขียด เป็ดไก่งัวควาย ข้าวเปลือกข้าวสาร และตับไตของคนใคไทบ้าน เพียงสองสามวัน
คนใคไทบ้านที่ออกไปหาอยู่หากินก็ล้มตายเกลื่อนหมู่บ้าน ข้าวเปลือกข้าวสารที่อยู่ในยุ้งในฉางก็ถูกกลืนกินหายวับ
ไปกับตา ไม่มีใครหรือผู้ใดกล้าออกจากบ้านแม้แต่คนเดียวในเวลานั้น เสียงพระเทศนาธรรมก็ยังดังแว่ววอนวอย
อยู่เช่นเดิม

ขณะที่จดหมายจาก “อรอาย อุษาสาง” กลับเป็นคำวิงวอนอันประหลาด “พักหลังมานี้ผมรู้สึกว่าตัวเองถูก
วางอยู่บนเรื่องเล่าของเพื่อนคนหนึ่ง […] ผมบอกเพื่อนของผมว่า อย่าวางฉากให้ผมต้องเผชิญหน้ากับมรสุมเลย
และอย่าผลักไสให้หายสาบสูญด้วย ผมมีชีวิตของผมจริงๆ และผมกลัว

“รน บารนี” ในฉบับนี้มาพร้อมเรื่องสั้น ชื่อ “เซ่น” ที่เปิดเรื่องด้วยบรรทัดแรกที่ชวนพิศวง “เป็นการยาก
ที่จะเรียกสัตว์เหล็กมหึมาที่อยู่เบื้องหน้าคุณว่าอย่างไร

จดหมายที่เขียนด้วยลีลาอารมณ์ที่ต่างไป เป็นของ “สร้อยสัตตบรรณ” ซึ่งทำหน้าที่คล้ายผู้สื่อข่าววรรณกรรม
เก็บเกร็ดวรรณกรรมสากลมาเล่าสู่กันฟัง ฉบับนี้ว่าด้วยสุนทรพจน์ของมูราคามิ ฮารูกิตอนที่ไปรับรางวัลร้อนอย่าง
รางวัลเยรูซาเล็มที่อิสราเอล บทกวีที่ยาวที่สุดในฉบับนี้ อยู่ในจดหมายจาก จารุพัฒน์ เพชราเวช ท่อนสุดท้าย
ว่าไว้ดังนี้

ฉ่ำสายนานยาวสิข้าวสูง หมู่ฝูงเขียดกบจะครบหน้า
เหลาเบ็ดเหยื่อยั่วจับตัวปลา สิงหากันยา ณ ครานี้
เห็นรอยยิ้มพราวล่ะชาวนา ข้าวปลาอิ่มสุขล่ะทุกที่
นี่คือฝันสด ณ บทกวี มิมีไกลอื่นนะยืนยัน.

7. โอดิสซี
ผู้เขียน โฮเมอร์
ผู้แปล สุริยฉัตร ชัยมงคล
สำนักพิมพ์ ทับหนังสือ
พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2552
ปกแข็ง ราคา 420 บาท
ปกอ่อน ราคา 320 บาท

โดยรูปคำประพันธ์แล้วมันคือมหากาพย์ แต่บางทีอาจจะเป็นที่เข้าใจ
แจ่มกระจ่างกว่าสำหรับนักอ่านสมัยใหม่ ถ้าผมจะกล่าวว่า อิเลียด
คือโศกนาฏกรรม และ โอดิสซี คือนวนิยาย

ช่างคลาสสิคนัก เมื่อเห็นหนังสือคลาสสิคตีพิมพ์ออกมาด้วยสปิริตแบบคลาสสิคๆ ของสำนักพิมพ์คลาสสิคๆ
ที่มุ่งมั่นอย่างชนิดไม่กลัวขาดทุน โอดิสซี ฉบับสำนวนแปลประณีตโดยสุริยฉัตร ชัยมงคลนี้
พิมพ์ครั้งที่สามแล้ว โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ ความข้างต้นที่ยกมานั้น มาจากคำนำเสนอในฉบับภาษาอังกฤษ
โดย E.V.Rieu บรรณาธิการชุดวรรณกรรมคลาสสิคของสนพ.เพนกวินในช่วง ค.ศ. 1944 – 1964 ซึ่งได้รับ
การแปลไว้ในฉบับภาษาไทยนี้ด้วย ในคำนำเสนอดังกล่าว E.V. Rieu ยังวิเคราะห์สถานะของมหากาพย์ชิ้นนี้ไว้ว่า

โฮเมอร์มิใช่ทั้งนักประวัติศาสตร์หรือนักโบราณคดี – ในยุคสมัยของเขา แนวความคิด
เกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือโบราณคดียังหาอุบัติขึ้นไม่ และเราคงจะใกล้ความเป็นจริงกว่ามาก หากจะถือว่า
เอกกวีผู้นี้เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงบรรดาตำนาน และเทพนิยายอันหลากล้นแห่งปางบรรพ์และเป็นที่รู้จักกันดี
ของปวงผู้สดับ ให้มาอยู่ในรูปของนิทานประวัติศาสตร์. บรรดาวีรบุรุษวีรสตรีของเขา คือสมมติบรรพบุรุษ
ของเหล่าผู้สูงศักดิ์ที่โฮเมอร์ร่ายมหากาพย์นี้ให้สดับผู้ฟังย่อมโสมนัสยินดีเมื่อได้ฟังวีรกรรมอุโฆษของฅน
เหล่านั้น และวาดมโนภาพบรรดาวีรชนผู้สืบเชื้อสายจากสรวงสวรรค์และมีชีวิตประหนึ่งเทพเจ้า ว่ามีตัวตน
อยู่ห่างจากยุคสมัยของพวกเขาเพียงไม่กี่ชั่วฅน ทั้งนี้โดยปราศจากบันทึกหลักฐานเชื้อสายวงศ์วานที่ถ่องแท้
แน่นอน. แต่ในทัศนะของผมแล้วทั้งหมดคือเทพปกรณัม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของโฮเมอร์มิได้อยู่ที่
ความพยายามที่จะสาธกถึงพฤติการณ์ในอดีต หากแต่อยู่ในภาพ – ซึ่งโดยลำดับแห่งความพยายามนี้ – ไม่
อาจเลี่ยงได้ที่จะเสนอแบบแผนแห่งการดำรงชีพในยุคสมัยของเขาออกมาด้วย.

E.V. Rieu ยังเป็นผู้แปลมหากาพย์ชิ้นนี้จากภาษากรีกมาเป็นภาษาอังกฤษฉบับร้อยแก้ว และกลายเป็น
สำนวนแปลฉบับคลาสสิคของสนพ.เพนกวินคลาสสิค ก่อนจะได้รับการชำระใหม่โดยลูกชายของเขาใน
เวลาต่อมา เขาได้ปรารภไว้สั้นๆ อย่างชวนสนเท่ห์ถึงความตระหนักต่อภารกิจในการแปลไว้ว่า “ทุรกรรม
ร้ายกาจที่สุดที่นักแปลคนหนึ่งจะกระทำได้ นั่นคือ การสอดใส่ผ้าคลุมหน้าแห่งบุคลิกภาพของตัวเขาเอง
แทรกลงไประหว่างต้นฉบับดั้งเดิมกับผู้อ่าน”

8. กาจับโลง
(บุ๊คไวรัส เล่ม 3)
บรรณาธิการ: สนธยา ทรัพย์เย็น
86 หน้า ราคา 99 บาท

หลังจากทิ้งช่วงไปราวห้าปี บุ๊คไวรัส เครื่องหมายการค้าของลูกบ้าของคนรักหนังสือและหนังด้อยโอกาส
กลับมาอีกครั้งเป็นฉบับที่ 3 ในเที่ยวนี้มีเรื่องสั้นแปลมานำเสนอสองเรื่องในรูปเล่มบางกะทัดรัด เรื่องแรกคือ
“เลือดสามหยาด” (“Three Drops of Blood”) แต่งโดยนักเขียนชาวอิหร่าน ซาเดก เฮดายัต (Sadeq Hedayat)
สำนวนแปลถึงใจโดยแดนอรัญ แสงทอง ผู้แปล ฝันสีดำ หรือ The Blind Owl ของนักเขียนคนเดียวกันมาแล้ว
เรื่องที่สองคือ “สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (“The Encyclopedia of the Dead”) แต่งโดยดานิโล คิช (Danilo Kis)
นักเขียนจากยูโกสลาเวีย และมี ธิติยา ชีรานนท์ เป็นผู้แปลอย่างตั้งใจพร้อมเชิงอรรถร้อยกว่ารายการ (!)

ทำไมต้องเป็น ‘กาจับโลง’ ก็เพราะมันออกแนวหลอนๆ สะกิดระทึกขวัญหน่อยๆ คลุกเคล้าด้วยละอองความแปลก
ประหลาด
” เป็นคำอธิบายในบล็อก ninamori หัวเรี่ยว หัวแรงสำคัญที่ร่วมสมบุกสมบันมากับสนธยา ทรัพย์เย็น
บก.ฟิล์มไวรัส/บุ๊คไวรัส ใน “กรรมมี สีไม่ตก” หรือคำนำจากบรรณาธิการ “วรรณ-กรรม” ดูราวจะเป็นวงเวียนกรรม
อันหนักอึ้งที่นักเขียน-นักอ่าน-ผู้จัดพิมพ์แบกไว้ โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์เฟื่องฟู การจัดพิมพ์หนังสือที่
แปลกหูแปลกตาก็ยิ่งเพิ่มอัตราความเสี่ยง แต่บุ๊คไวรัสก็ยังยืนยันเกณฑ์ในการคัดสรรว่า หน้าตาของ
วรรณกรรมบุ๊คไวรัสมักจะเป็นเรื่องที่หาอ่านไม่ได้ทั่วไปที่ “สะท้อนมุมมองต่างที่เอื้อให้มองโลกด้วยสายตาใหม่
หรืออย่างน้อยก็ส่งเสริมอุดมคติเชิงใฝ่รู้ เพียงพอจะอดทนมองสิ่งรอบตัวอย่างจริงจังและเข้าอกเข้าใจ โดยไม่ยึดติด
มากมายกับคำว่า มองโลกด้านบวก
” ซึ่งหมายเหตุจาก แดนอรัญ แสงทอง ผู้แปล ก็เป็นการยืนยันถึงเกณฑ์นี้
ได้เป็นอย่างดี “‘เลือดสามหยาด’ …เต็มไปด้วยเส้นสายอันเข้มเครียดและยุ่งเหยิง แสงอันอึมครึมและเงาดำ
อันเกรี้ยวกราด งานวรรณกรรมของเฮดายัตแตกต่างห่างไกลกับงานวรรณกรรมของมนุษย์มนาอื่นๆ แทบจะ
โดยสิ้นเชิง แตกต่างห่างไกลแม้แต่กับงานของ [เอ็ดการ์ อลัน โพ] ผู้เป็นต้นธารแห่งแรงบันดาลใจของเขาเอง
ด้วยซ้ำไป

หนังสือเล่มนี้พิมพ์แบบดิจิตอลจำนวนจำกัด ด้วยความจำกัดของงบประมาณ คำทิ้งท้ายของบรรณาธิการดูจะเป็น
คำอุทธรณ์อย่างทิ้งทวน

“วรรณกรรมจริงจังบนเล่มกระดาษ กลับหาที่กำเนิดยากเย็นขึ้นทุกวัน เกิดอะไรขึ้น
กับค่ายสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ..กับการพิมพ์วรรณกรรมแปลฮาร์ดคอร์ออกมาซักเล่ม
ดูราวกับว่าจะทำให้บริษัทขาดทุนย่อยยับเสียอย่างนั้น ที่ดองหนังสือแปลรางวัล
โนเบลไว้ในสต็อกก็มากมี ดูทีแล้วทางเลือกของตัววรรณกรรมแปลที่ควรจะมาก
ขึ้นตามเดือนปีที่ผ่านอาจจะไม่ได้เป็นจริงเสียแล้ว…เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว
ในบ้านเมืองเรายังเคยมีทางเลือกดีๆ จากคนรักการอ่านเกิดขึ้นอยู่บ้าง
มีสำนักพิมพ์เจ้าเล็กเจ้าน้อยที่คงไม่เคยได้เงินเป็นชิ้นเป็นอันอะไรมากมายกับ
การลงทุนเหล่านั้น หลายเจ้าด้วยซ้ำที่ย่อยยับไปกับอุดมคติโรแมนติคของตน
และนั่นหรือคือ (ทุกข์) ลาภที่ทิ้งไว้ให้นักอ่านรุ่นใหม่ๆ บางคนยังมีโอกาสได้
คุ้ยเขี่ยในกระบะหนังสือเก่ามือสองจนถึงทุกวันนี้”

9. ข้ามฝั่งแค้น: การเดินทางแห่งความหวัง
ผู้เขียน: ลอร่า บลูเมนเฟลด์
ผู้แปล: อนิตรา พวงสุวรรณ โมเซอร์
บรรณาธิการ: ร.จันเสน
คำนำเสนอ: พระไพศาล วิสาโล
สำนักพิมพ์:มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552
496 หน้า/350 บาท

มือปืนไม่อยู่บ้าน “เข้ามาสิ” แม่ของมือปืนออกปากเชิญ “เอาน้ำส้มหน่อยมั้ย”
เธอยิ้มพร้อมโบกไม้โบกมือให้ฉันเข้าไปหลบแดดในบ้าน เสียงเคาะประตูคงปลุกเธอให้ตื่นจากการงีบหลับ
เธอเดินลากรองเท้าแตะออกมาในชุดเสื้อคลุมอาบน้ำสีชมพูปักลวดลาย และดึงฉันเข้าไปในห้องนั่งเล่น
ที่มีแสงไฟสลัว ม่านถูกดึงมาปิดกันความร้อน เด็กๆ ซุกตัวอยู่ตามหลืบเงาภายในห้อง เด็กผู้ชายสามคน
เบียดกันอยู่บนเก้าอี้นวม เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งนั่งคร่อมอยู่บนเท้าแขนของโซฟา หนูน้อยวัยเตาะแตะ
เหลือบตามองขึ้นมาจากพื้น (น.1)

นอกเหนือจากชื่อหนังสือ (ซึ่งถ่ายความมาอย่างเหนือชั้นจาก Revenge: A Story of Hope) แล้ว
ย่อหน้าเปิดเรื่องนี้บอกเป็นนัยได้พอสมควรถึงข้อสรุปที่ผู้อ่านจะได้พบ จากการเดินทางไปเขตเวสต์แบงก์
ในปี 1998 ของลอร่า บลูเมนเฟลด์ เพื่อตามหามือปืนที่ยิงพ่อของเธอบาดเจ็บปางตายกลางตลาดในกรุงเยรูซาเล็ม
เมื่อสิบปีก่อนหน้า

หนังสือเล่มนี้ในภาคภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ Simon & Schuster ในปี 2002
และดูจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ผู้เขียนซึ่งเป็นนักเขียนประจำของหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ คนนี้ได้รับเชิญ
ไปสัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ วิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ แต่ละครั้งเธอต้องเล่าซ้ำไปมาถึงที่มาของความคิดแค้น
ที่กลายมาเป็นหนังสือเล่มนี้ ในการสัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ PBS ของอเมริกา (http://www.pbs.org/
newshour/conversation/jan-june02/blumenfeld_4-24.html) เธอบอกว่าการที่จู่ๆ พ่อของเธอซึ่ง
เป็นแรบไบธรรมดาคนหนึ่งต้องตกเป็นเป้ากระสุนของมือปืนชาวปาเลสไตน์ ทำให้เธอตระหนักว่าการโจมตีลักษณะนี้
ไม่ได้เริ่มต้นหรือจบลงที่พ่อของเธอ เพราะอันที่จริงแล้วมันคือส่วนหนึ่งของวิธีคิดที่มองว่าการใช้พลเมืองผู้บริสุทธิ์
เป็นเป้าเพื่อผลทางการเมืองนั้น เป็นสิ่งที่กระทำได้

วิธีคิดเยี่ยงนี้รบกวนจิตใจฉันและเขย่าความรับรู้ของฉันที่มีต่อโลก” ตอนที่พ่อของเธอถูกยิง
เธอเป็นนักศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด และกำลังจะก้าวสู่โลกภายนอก “มันไม่ใช่แค่การยิงพ่อของฉัน แต่มันคือ
การยิงไปที่ความไร้เดียงสาและสำนึกเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของฉัน ถ้าผู้คนสามารถคิดและทำแบบนี้ได้
ก็ไม่มีพวกเราคนไหนปลอดภัยอีกแล้ว
” เธอจึงเริ่มตามรอยเส้นทางของกระสุนนัดนั้น เพื่อไปให้ถึง
แหล่งที่มาของมัน และท้าทายวิธีคิดอันเป็นต้นตอ

ข้อมูลประชาสัมพันธ์หนังสือเล่มนี้ที่พบตามเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ออกมา ระบุว่าผู้เขียน
ได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังถึงแนวคิดว่าด้วยการ แก้แค้น เธอเดินทางไปหลายประเทศเพื่อรวบรวมเรื่องราว
ของผู้แก้แค้นคนอื่นๆ ได้พบปะพูดคุยกับคนหลากหลาย ทั้งที่อยู่ในหน่วยงานหรือขบวนการทางการเมือง นักค้า
ยาเสพติด พระ โสเภณี แฟนกีฬา ฯลฯ เพื่อจะทำความเข้าใจกลไกการทำงานและจิตวิทยาของการแก้แค้น

นอกเหนือจากฐานข้อมูลที่สั่งสม สิ่งที่ทำให้หนังสือว่าด้วยความแค้นเล่มนี้มีสีสันราวกับนวนิยาย ก็คือการที่เรื่องราว
ทั้งหมด เล่าจากประสบการณ์จริงของเธอในการ “ล้างแค้น” มือปืน เธอเดินทางไปเยรูซาเล็ม และใช้เวลาหกเดือน
ในการตามหาตัวมือปืน “ฉันขุดค้นบันทึกข้อมูลต่างๆ ของตำรวจ และกรุหนังสือพิมพ์เก่าๆ แล้วก็ได้รายชื่อ
ผู้ต้องสงสัย 25 คนที่ถูกกวาดจับมา เพราะยิงและฆ่านักท่องเที่ยวต่างชาติ ฉันไม่มีข้อมูลที่อยู่หรือเบอร์โทรศัพท์
ฉันใช้วิธีไปที่เขตเวสต์แบงก์และเดินเคาะประตูไปทีละบ้าน เพื่อตามหาครอบครัวของผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ จนกระทั่ง
ในที่สุดฉันก็ เคาะถูกประตู และแม่ของมือปืนก็ออกมาต้อนรับฉันเข้าบ้านพร้อมเชิญให้ดื่มน้ำส้ม

ที่นั่น เธอได้รับฟังถึงความคับแค้นของครอบครัวแห่งชนชาติผู้ตกเป็นจำเลย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้

“เป็นใครก็ต้องทำอย่างที่น้องผมทำในสถานการณ์แบบนั้น…ถ้าคุณลองสมมุติว่าคุณเป็นคนปาเลสไตน์
ซักห้านาที คุณจะรู้สึกอย่างที่พวกเรารู้สึก”
“แล้วคนที่เขาพยายามจะฆ่าล่ะคะ”
“มันไม่ใช่การแก้แค้นส่วนตัวนะ…เขาไม่รู้จักผู้ชายคนนั้น เขาทำแบบนั้นเพื่อผู้คนจะได้หันมามองเรา”
[….]
“แล้วคนจากครอบครัวของเหยื่อจะไม่มาฆ่าคนของคุณเหรอคะ”
“ไม่หรอก” อิหมัดตอบ “ไม่มีการแก้แค้น” ควันบุหรี่ม้วนตัวอยู่รอบๆ ทุกถ้อยพยางค์ “น้องชายผมไม่เคยพบ
ผู้ชายคนนั้นเป็นการส่วนตัว มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เมื่อไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ก็ไม่มีการแก้แค้น” (น. 7-8)

แม้การเดินทางของผู้เขียนจะเริ่มต้นด้วยความพยายามแก้แค้น แต่เมื่อเธอได้รับรู้ถึงความโหดร้ายของมนุษย์ที่
กระทำต่อกัน ได้รับรู้ว่าศัตรูของเธอก็มีความเป็นมนุษย์ มีครอบครัว มีความทุกข์ในฐานะผู้ถูกกระทำชาวปาเลสไตน์
ทัศนคติของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไป เรื่องราวในหนังสือให้ความหวังมากขึ้นจนราวกับเป็นเทพนิยาย เมื่อในท้ายที่สุด
ทั้งผู้เขียนและมือปืนก็สามารถมาถึงจุดที่เข้าใจในความทุกข์ของกันและกัน ฝ่ายมือปืนยอมรับผิด และฝ่ายผู้เขียน
ยอมให้อภัย หนังสือจบบทสุดท้ายด้วยฉาก เร้าอารมณ์สะเทือนใจราวกับฉากศาลพิจารณาคดีในหนังฮอลลีวู้ด
โดยมีภาพจากนิตยสารสุดสัปดาห์ในอิสราเอลที่พาดหัวคำขอโทษของมือปืน มาเป็นหลักฐานยืนยันความเป็น
“เรื่องจริง” ของเรื่องราวทั้งหมดนี้

มันเป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับฉัน และมันก็เป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับเขา” (น. 474) ในที่สุดผู้เขียน
ก็กล่าวคำนี้ออกมาหลังจากที่ “ไม่ใช่ศัตรูเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลง แต่ตัวเธอเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย
ดังที่คำนำในฉบับภาษาไทยได้สรุปบทจบของเรื่องไว้ ในแง่หนึ่ง คำพูดดังกล่าวของผู้เขียนก็ยิ่งตอกย้ำว่านี่คือ
ความหวังอันเกิดขึ้นได้เพียงในระดับ “ส่วนตัว” ที่ปัจเจกบุคคลเรียนรู้ที่จะยอมรับผิดและยอมให้อภัย
ในโลกของความขัดแย้งทางการเมืองอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ยืดเยื้อยาวนานชนิดที่มองไม่เห็นความหวังของ
การยอมรับผิดและการให้อภัย เพราะ “มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

การแก้แค้นไม่จำเป็นต้องหมายถึงการทำลายล้างศัตรูของคุณให้สิ้นซาก หากยังหมายถึงการเปลี่ยนแปลง
จิตใจของศัตรูหรือตัวคุณเอง
” หนังสือแปลแห่งความหวังเล่มนี้ สะท้อนเจตจำนงและคุณภาพที่ลงตัวกันอย่างดี
ระหว่างสำนักพิมพ์ ผู้แปล คนตรวจแก้ และท่านที่เขียนคำนำ