One day, my son,
when you come to ask me
what colour was the sky
before it turned grey
I will no longer have the answers.
For Justin – Pierre
Easterine Iralu
กฎแห่งกรรมไม่ทำงาน?
I believe that God does not concern himself with human affairs.
Said Lorenzo Ruggiero
เพียง 2 ปีหลังเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1572 พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ (Charles IX) ก็เสด็จสวรรคต
คนใจร้ายบางคน (ชวนสงสัยว่าคงเป็นนักประวัติศาสตร์โปรเตสแตนต์) ซ้ำเติมพระองค์ด้วยการอธิบายสาเหตุของการสิ้นพระชนม์ว่า “เพราะถูกหลอกหลอนโดยปิศาจของพวกอูเกอโน” สำหรับพวกที่เชื่อว่าบรรดาสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎของกรรมนั้น ก็ยกกรณีพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ เป็นตัวอย่าง ส่วนพวกที่เชื่อในวิทยาศาสตร์ก็คงโต้ว่าคำอธิบายนี้มาจากความเขลา เพราะในทางการแพทย์นั้นวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์เป็นวัณโรค (มีน้อยคนที่สงสัยว่าพระองค์ถูกวางยาพิษ) ซึ่งนอกจากจะเป็นโรคสามัญ (ประจำบ้าน) แล้วก็ยังมีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยัน ขณะที่ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เลยว่า วิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบได้มาปรากฏให้พระขวัญของพระองค์กระเจิดกระเจิงจนรักษาพระหทัยไว้ไม่ได้ คำอธิบายนี้จึงไร้ค่าโดยสิ้นเชิง และเป็นคำอธิบายที่นักประวัติศาสตร์คาทอลิกเห็นว่าต้องมาจากจิตใจที่ชิงชังคลั่งแค้น
*
แต่ตามสายตาของพวกไม่มีความศรัทธาใดๆ ไม่ว่าจะในโลกนี้หรือโลกหน้า ซึ่งเห็นว่ากฎแห่งกรรมก็มี “สองมาตรฐาน” เช่นเดียวกับกฎอื่นๆ ในโลก ก็จะยกกรณีสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ (Queen Catherine de Medici) ขึ้นมาแย้งว่า พระนางมีพระชนม์ชีพยืนยาวถึง 69 พระชันษา (ซึ่งนับว่าเจริญพระชนมายุตามมาตรฐานสมัยนั้น) ทั้งที่พระหัตถ์ของพระองค์มิได้ชุ่มเลือดน้อยไปกว่าพระราชโอรสเลย หนำซ้ำยังอาจจะมากกว่าหลายเท่าด้วย เพราะเชื่อกันว่าพระองค์ได้ทั้งกึ่งขอร้องกึ่งบังคับตลอดคืนวันที่ 22 ให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๙ ทรงออกคำสั่งสังหารและบทบาทของพระองค์ในการวางแผนให้เกิดการสังหารหมู่ก็เป็นที่ยอมรับกันกว้างขวาง ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งคาทอลิก “ฮาร์ดคอร์” เช่นนักเขียนงานวรรณกรรมเรืองนาม อย่าง โอโนเร่ เดอ บัลซัค (Honoré de Balzac) ซึ่งถึงกับยกพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “พวกนักบันทึกหน้าไหว้หลังหลอกทุกยุคทุกสมัยชอบหลั่งน้ำตาให้กับชะตาชีวิตของไอ้พวกกเฬวรากสองร้อยคนที่สมควรตาย”
*
การสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองซึ่งมีความขัดแย้งหลายซับหลายซ้อน นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของบัลซัค เรื่อง คัทริน เดอ เมดิซิ (Catherine de Medici) ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์วันสังหารหมู่นั้นโดยตรง แต่วางไว้เป็นฉากหลัง และอ้างอิงเป็นนัยอยู่เป็นระยะๆ หัวใจของนวนิยายเล่มนี้ (สำหรับผู้เขียน) เป็นทั้งความพยายามที่จะอธิบายประวัติศาสตร์ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ และความจำเป็นรวมทั้งความชอบธรรมในพระราชกรณียกิจสังหารหมู่ของสมเด็จพระนางเจ้าคัทริน เดอ เมดิซิ
****