อ่าน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ผ่านแว่นการเมืองของสุนทรียศาสตร์ (1)

ร็องซีแยร์กับการเมืองของสุนทรียศาสตร์
บทความนี้ไม่ได้สนใจศึกษาประเด็นเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรม แต่สนใจประเด็นเรื่องสุนทรียศาสตร์กับการเมือง ส่วนวัตถุประสงค์หลักของบทความอยู่ที่การทดลองปรับใช้แนววิเคราะห์ “สุนทรียศาสตร์กับการเมือง” ของ
นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อ ฌาคส์ ร็องซีแยร์ (Jacques Rancière) กับการศึกษาการเมืองภาคประชาชนใน
สังคมไทยโดยใช้การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นตัวอย่าง
*
การศึกษาการเมืองภาคประชาชนผ่านแว่นของการเมืองของสุนทรียศาสตร์ในแบบร็องซีแยร์ สามารถสลาย
มายาภาพที่สำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนโดยทั่วๆ ไป และการเมืองภาคประชาชนในสังคมไทยเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ การเมืองภาคประชาชนไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องนำไปสู่การเปิดพื้นที่ เปิดเสียง
เพิ่มการมีส่วนร่วมทางการเมืองให้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม หรือกลุ่มคนที่ร็องซีแยร์เรียกว่า “ส่วนที่
ถูกนับเพื่อที่จะไม่นับรวมให้เป็นส่วน” ของสังคม
*
การศึกษาการเมืองภาคประชาชนในแบบของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผ่านแว่นการเมืองของ
สุนทรียศาสตร์ของร็องซีแยร์ ทำให้เราต้องหันกลับมาตั้งคำถามกับทัศนะแม่บทเกี่ยวกับการเมืองภาคประชาชนใน
สังคมไทยที่ว่าชนชั้นกลางในเมืองคือพลังขับเคลื่อนระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย เพราะการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชนชั้นกลางในเมืองของสังคมไทยจะสนับสนุนเฉพาะระบอบประชาธิปไตยสำนวนที่ตัวเองจะได้ผลประโยชน์ ดังนั้น ทันทีที่เสียงของมวลชนในชนบทกลายเป็นภาษาพูดที่สามารถได้ยินและได้รับการฟังในรูปของนโยบายประชานิยมแบบต่างๆ การต่อต้านประชาธิปไตยแบบมวลชนจากชนชั้นกลางและชนชั้นนำในเมืองก็เริ่มขึ้น และกลายเป็นปัญหาบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน การเมือง
ภาคประชาชนกับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสำนวนที่สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นกับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยจึงไม่จำเป็นต้องไปด้วยกันเสมอหากมองจากแว่นของการเมืองของสุนทรียศาสตร์ในแบบของร็องซีแยร์
****