อ่าน “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ผ่านแว่นการเมืองของสุนทรียศาสตร์ (2)

การชุมนุมประท้วงและการเดินขบวนต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีลักษณะของสุนทรียศาสตร์ ไม่ใช่เพราะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก และไม่ใช่เพราะมีการจัดการแสดงบนเวทีปราศรัยและการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างน่าตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็นและผู้ที่ชมภาพการถ่ายทอดการเคลื่อนไหวจากสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ด้วยแสง สี เสียง การแต่งกายและการแสดงแบบต่างๆ รวมตลอดถึงบรรดาป้ายประท้วงที่มีข้อความและสีสันที่ตระการตา จนทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าการชุมนุมประท้วงทางการเมืองในสังคมไทยไปอย่างมาก ขณะเดียวกันการชุมนุมประท้วงของพันธมิตรฯ ก็มีลักษณะคล้ายงานบันเทิงรื่นเริงสังสรรค์ที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมมานั่งฟังการอภิปรายทางการเมืองบนเวทีปราศรัยในตอนเย็น สลับกับการแสดงดนตรี และงิ้วการเมืองบนเวที พร้อมอาหารและเครื่องดื่มสารพัดแบบคอยให้บริการผู้ร่วมชุมนุม รวมตลอดถึงการขายสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมประท้วง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดพันธมิตร หมวกพันธมิตร ผ้าพันคอพันธมิตร สายรัดข้อมือ ผ้าโพกศีรษะ วีซีดี ดีวีดี หนังสือและเอกสารแจกจ่ายมากมาย และที่สำคัญ มีการถ่ายทอดการชุมนุมและกิจกรรมต่างๆ ของผู้ชุมนุมทางสถานีโทรทัศน์ ASTV ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ไม่มีวันหยุด จนการชุมนุมประท้วงมีลักษณะไม่ต่างจากรายการ Reality TV การรณรงค์ทางการเมืองด้วยสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม แฟชั่น ดนตรี และการค้าจึงสอดประสานกันอย่างสนิทแนบแน่นในโลกยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ผู้ประท้วงนำมาใช้ในการต่อต้าน “ทุนสามานย์”

แสง สี เสียงและความหรูหราตระการตาต่างๆ ของการชุมนุมของพันธมิตรฯ มีความตระการตาในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากการแสดงของมวยปล้ำที่ โรล็องด์ บาร์ตส์ ได้บรรยายไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง ในงานศึกษาของเขา นั่นคือ ลำพังผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมากที่มีความแตกต่างหลากหลายทางกายภาพมาเชื่อมต่ออยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็สามารถจัดได้ว่าเป็นงานศิลปะและการจัดแสดงทางศิลปะได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่เมื่อผนวกรวมกับแสง สี เสียง ความมืดในตอนกลางคืนและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเคลื่อนไหวข้างต้น ก็ยิ่งทำให้การรณรงค์ทางการเมืองของพันธมิตรฯ สามารถสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้รับชมอยู่ทางบ้านได้อย่างน่าอัศจรรย์และมีพลัง หรือที่ กีย์ เดอบอร์ด เรียกว่า “สังคมของความน่าตื่นตาตื่นใจ” ยิ่งไปกว่านั้น สีสันของการรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ ยังมีลักษณะคล้ายการชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนในประเทศแถบยุโรปตะวันออกที่เรียกร้องประชาธิปไตยและถูกเรียกรวมๆ ในภาษาวิชาการว่า “การปฏิวัติรหัสสี” (the color-coded revolutions) เนื่องจากมีการใช้สีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการเคลื่อนไหว เช่น การปฏิวัติสีส้มในยูเครน การปฏิวัติดอกกุหลาบในจอร์เจียร์ และการปฏิวัติทิวลิปในคีร์กีซสถาน เป็นต้น

หากพิจารณาจากมุมมองของ “การปฏิวัติรหัสสี” การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ก็คือ “การปฏิวัติสีเหลือง” (the Yellow Revolution) เนื่องจากมีการใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ความต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในประเทศแถบยุโรปตะวันออก กับของพันธมิตรฯ ในประเทศไทย อยู่ที่การปฏิวัติรหัสสีในยุโรปตะวันออกเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งเพื่อล้มล้างผู้นำเผด็จการด้วยการเดินขบวนประท้วงแทนการจับอาวุธขึ้นสู้ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “การปฏิวัติอย่างนุ่มนวล” (the Velvet Revolution) ส่วนการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯเป็นการเรียกร้องเพื่อล้มล้างผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ด้วยการกดดันให้ทหารยึดอำนาจผ่านยุทธวิธีท้าทาย ขัดขวางการทำงานของระบบการเมืองปกติ