เมืองและชนบทในกวีนิพนธ์ร่วมสมัย: จาก “เจ้าสาวใบตอง” ถึง “แผ่นดินใหม่”

แม้ว่าบทเพลง สวัสดีบางกอก ของครูเอื้อ สุนทรสนาน (ประพันธ์เนื้อเพลงโดย อาจินต์ ปัญจพรรค์) ที่ให้ภาพของสังคมเมืองไว้อย่างน่าหวาดหวั่นว่า “อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้…หัวใจสิแสนบ้าใบหน้าใส สวมหน้ากาก ปากซื่อถึงมือไว คอยจงใจทำร้าย ทำลายเรา” จะแต่งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 และเพลง มนต์รักลูกทุ่ง ของครูไพบูลย์
บุตรขัน ที่พรรณนาภาพของสังคมชนบทไว้อย่างงดงามราวสรวงสวรรค์ว่า “ทุ่งรวงทองของเรานั้นมีคุณค่า มนต์รักลูกทุ่งบ้านนา หวานแว่วแผ่วดังกังวาน” จะโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ก็ยังดูเหมือนว่าภาพของเมืองที่แสนชั่วร้าย กับภาพที่แสนบริสุทธิ์ดีงามของชนบท จะได้รับการผลิตซ้ำ ตอกย้ำ และเผยแพร่อยู่ในบทเพลง ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และสื่ออื่นๆ อย่างไม่ขาดสายมาจนปัจจุบัน
*
กวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัยในฐานะประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่ง เป็นแหล่งข้อมูลอย่างดีสำหรับสืบสาว
กระบวนการประกอบสร้างภาพของเมืองและชนบท ทั้งในแง่ที่เป็นการตอกย้ำภาพที่เคยมีอยู่เดิม และการนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างออกไป บทกวีสองบทของกวีสองคนที่แสดงให้เห็นกระบวนการผลิตซ้ำและความพยายามที่จะ
บ่อนเซาะภาพแบบฉบับของเมืองและชนบทอย่างน่าสนใจ และจะได้วิเคราะห์ในบทวิจารณ์ชิ้นนี้ ก็คือบทกวี
“เจ้าสาวใบตอง” ในรวมบทกวีรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ชุด ม้าก้านกล้วย ของไพวรินทร์ ขาวงาม และบทกวี
“แผ่นดินใหม่” ในรวมบทกวีที่เข้ารอบ 8 เล่มสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. 2550 ชุด ปลายทางของเขาทั้งหลาย
ของ กฤช เหลือลมัย
****