ข้อเขียนนี้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีฐานในชนบทของไทยซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ให้มากขึ้น โดยเสนอว่า การเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงในช่วงหลายปีมานี้ เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญที่เกิดขึ้นกับแบบแผนความแตกแยกระหว่างเมืองกับชนบทในสังคมไทยที่ดำรงอยู่มาอย่างสืบเนื่อง ข้อเขียนชิ้นนี้ต่างไปจากงานศึกษาส่วนใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การตำหนิตัวทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นลงจากตำแหน่ง ว่าเป็นต้นเหตุของการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหนักระหว่างชาวชนบทกับชาวเมือง แต่จะเสนอว่าความแตกแยกระหว่างเมืองกับชนบทที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ โดยพื้นฐานแล้วเป็นปรากฏการณ์เชิงโครงสร้างที่พัฒนามายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษนับตั้งแต่เกิดกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่และการพัฒนาของไทย อันปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในรูปของการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างคน/เขตชนบทกับคน/เขตเมือง รูปแบบการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในลักษณะนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ก่อร่างโครงสร้างของความไม่เสมอภาคที่แฝงฝังอยู่กับสังคมไทยมานับแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
การเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงเป็นดัชนีชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเครื่องหมายของความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม-เศรษฐกิจระดับพื้นฐานในระลอกที่สาม ในเชิงประวัติศาสตร์ คลื่นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างพื้นฐานระลอกแรกของไทยเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2453- 2473 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐชาติแบบสมัยใหม่ของไทยก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น อันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นพร้อมกับการสถาปนาระบบราชการและกองทัพแบบสมัยใหม่ ผลของคลื่นความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-เศรษฐกิจระลอกแรกนี้คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มข้าราชการทหาร ที่ต่อมาได้ทำการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475 คลื่นของความเปลี่ยนแปลงเชิงสังคม-เศรษฐกิจระดับพื้นฐานระลอกที่สองเข้ามาในช่วงสงครามเย็นระหว่างทศวรรษ 2510-2520 ในระยะเวลานี้ ประเทศไทยได้นำตัวแบบการทำให้เป็นสมัยใหม่ของตะวันตกเข้ามาใช้อย่างมหาศาล เพราะมองว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประเทศรวมทั้งต่อต้านคอมมิวนิสต์ ผลบั้นปลายของยุคพัฒนานี้คือการเกิดชนชั้นกลางใหม่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชาวเมืองที่มีการศึกษา และชนชั้นกลางชาวเมืองกลุ่มใหม่นี้ได้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนาเศรษกิจและผลักดันกระบวนการสร้างประชาธิปไตย อันส่งผลให้เกิดการพังทลายของระบอบเผด็จการทหารในปี 2516 การเรียกร้องประชาธิปไตยเสรีนิยมในปี 2535 และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดที่เมืองไทยเคยมีมา
คลื่นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจพื้นฐานระลอกที่สามเริ่มต้นขึ้นในช่วงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 2520 เมื่อกระบวนการโลกาภิวัตน์ในทศวรรษ 2530 ทวีความเข้มข้นขึ้น การก่อตัวของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใหม่ซึ่งมีฐานส่วนใหญ่อยู่ในชนบทก็เริ่มเกิดขึ้น กลุ่มทางสังคมกลุ่มใหม่นี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ชนชั้นกลางระดับล่าง” ได้กลายมาเป็นฐานของกลุ่มเสื้อแดง คนกลุ่มนี้เป็นผลพวงมาจากกระบวนการทำให้เป็นสมัยใหม่และการพัฒนาที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในไทย ในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างระลอกที่สามของไทยนี้ ได้เกิดการหดตัวของภาคการเกษตร และเกิดการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในพื้นที่เขตชนบท ขณะที่ความยืดหยุ่นของการเดินทางไปมาระหว่างเขตชนบทกับเขตเมือง (อันเป็นผลมาจากการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศที่ทันสมัยและก้าวหน้าแต่มีราคาถูก ซึ่งโลกาภิวัตน์เอื้อให้เกิดขึ้น) ได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชนบทกับเมืองมีความลื่นไหลมากขึ้นหรือถึงขั้นมลายไป หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระลอกที่สาม ทำให้ชนบท “กลายเป็นเมือง” มากขึ้น โดยคำว่า “กลายเป็น” ในที่นี้ มีความหมายแบบที่ ฌีลล์ เดอเลิซ และเฟลิกซ์ กัตตารีใช้ นั่นคือ ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่มีความสำคัญน้อยกว่าการตอกย้ำแบบแผนและวิถีชีวิตแบบเมืองสำหรับชาวชนบท อันเป็นการตอกย้ำที่ทบทวีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้บุคคลสามารถกลายเป็นคนเมืองได้โดยไม่ต้องย้ายเข้าไปอาศัยในเขตเมือง มองในแง่นี้ ความเป็นเมืองจึงไม่ใช่ตำแหน่งที่ตั้งหรือพื้นที่ แต่เป็นการก่อรูปของค่านิยมและความหมายทางสังคม
นอกจากนี้ เมื่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าขึ้น จึงมีการจัดการเลือกตั้งอย่างค่อนข้างสม่ำเสมอนับแต่ช่วงทศวรรษ 2530 การเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอไม่เพียงเป็นลู่ทางให้ผู้ลงคะแนนเสียงชาวชนบทสามารถเข้าถึงส่วนแบ่งทางอำนาจและบริการสาธารณะพื้นฐานเช่นสาธารณสุขและการศึกษาได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเสมอภาคอีกด้วย กระบวนการเลือกตั้งที่สถาปนามั่นคงขึ้นนับแต่ทศวรรษ 2530 ได้ทำให้ผู้ออกเสียงชาวชนบทตระหนักถึงอำนาจของตนเองและทำให้พวกเขาได้รับสิทธิประโยชน์จากประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ในสายตาของผู้ออกเสียงชาวชนบทเหล่านี้ ประชาธิปไตยไม่ใช่หลักการนามธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเขาอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นสิ่งที่จับต้องได้และสัมพันธ์กับชีวิตจริง ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ริเริ่มโดยรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ แต่เคราะห์ร้ายที่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้พรากสิทธิประโยชน์เหล่านี้และรวมถึงความรู้สึกถึงความเสมอภาคไปจากผู้ลงคะแนนเสียงชาวชนบท ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของขบวนการเสื้อแดง