โลกนี้งดงามจริงหนอ โลกนี้พิลึกจริงหนอ
เรื่องสำคัญที่ วัด โรงเรียน พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ไม่ชอบบอก คือ ถนนของชีวิตกับทางเดินของหัวใจนั้นเป็นคนละเส้นกัน เส้นใดเส้นหนึ่งหรือทั้งสองเส้นมักจะขรุขระ ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นอัครคหบดี ราชินีแห่งจักรภพ หรือคนมีกินไม่ครบมื้อ คนถือกะลาไปตามถนน แต่ความไม่ลงตัวของชีวิตและของหัวใจนี้ คือข้อคิดที่ โธมัส ฮาร์ดี (Thomas Hardy) อยากจะบอกและบอกไว้อย่างเข้มข้นใน Far from the Madding Crowd หรือที่ผู้เขียนจะขอใช้ชื่อไทยว่า ไกลจากความอึงอล นวนิยายเอกเรื่องหนึ่งของเขา ที่เป็นเพชรน้ำงามในขุมทรัพย์วรรณคดีอังกฤษ
อีกเรื่องที่อิงเปรียบกันได้ซึ่งนักวิชาการหลายสำนัก รวมทั้งโอวาทของผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ไม่ชอบกล่าวถึง คือ สถาบันต่างๆ ทั้งที่มีและไม่มี “ฯ” ตามหลังนั้น มักจะลักลั่นกันกับชีวิตทางสังคมการเมืองที่พึงปรารถนา ทั้งนี้เพราะการสร้างสถาบัน องค์กรต่างๆ ทั้งอิสระและไม่อิสระ มาจาก “หลักการและเหตุผล” ชุดหนึ่ง ซึ่งมักจะต่างไปจากวิถีชีวิต ความคิดฝัน และธงชนชั้นของมวลมหาประชาราษฎร์
คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งใครต่อใคร (ตั้งแต่ผู้มีเชาวน์ปัญญาล้ำลึกอย่าง คาร์ล ป็อปเปอร์, ฟรีดริช ฮาเยค ไปจนถึงผู้มีความรู้ทางปรัชญาและสังคมศาสตร์ระดับนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพวกนิยมเอกลักษณ์ความเป็นไทย) ชอบเตะตัดขาเป็นงานอดิเรก เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าปรากฏการณ์กับแก่นแท้ของความเป็นจริงเป็นสิ่งเดียวกัน ก็ป่วยการที่จะมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงสังคมศาสตร์ เพราะมิฉะนั้นเราก็จะเชื่อทุกประโยคในเพลงชาติว่าเป็นความจริง และเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยไทยมาจากปวงชนชาวไทย
แต่ประเด็นที่มาร์กซ์ไม่ได้กล่าวไว้ก็คือ การศึกษาทางมนุษยศาสตร์ก็พยายามทำหน้าที่ดุจกันในเรื่องความลักลั่นระหว่างแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์กับสถาบันต่างๆ ที่สังคมสร้างขึ้น เช่นความไม่ลงรอยกันเสมอไประหว่างความรักกับสถาบันการแต่งงาน/สถาบันครอบครัว งานของฮาร์ดี ทั้งบทกวีและนวนิยายหลายเล่ม รวมถึงเรื่องสั้นหลายเรื่อง มีศูนย์กลางอยู่ที่ความรักและปัญหาที่ตามมาจากความรัก สภาพจิตใจของผู้คนที่ตกอยู่ในภวังค์รัก อาการและพฤติกรรมที่เข้าสู่และออกจากอารมณ์นี้ ไปจนถึงสถาบันทางสังคมที่พยายามควบคุมและจัดการปัญหาที่ตามมาจากความรัก งานของฮาร์ดีจึงมีนัยเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างชีวิตกับองค์กรทางสังคมและการเมือง เมื่อเรื่องของความรักนั้นตกอยู่ใต้อิทธิพลของสังคม ศาสนา และการปกครองในนามของประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งวางกฎวางเกณฑ์ให้ชีวิตรักอยู่ในกรอบในกรง และด้วยเหตุที่ความยุ่งยากเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นความตายของมนุษย์ ฮาร์ดีจึงได้ชื่อว่าเป็นขุนพลน้อยคนหนึ่งในจำนวนกองทัพนักคิด ปราชญ์ กวี นักประพันธ์ ฯลฯ อันไพศาล ที่ได้ฝากมรดกไว้เป็นคลังความรู้และความรู้สึก ให้ได้ศึกษากันทางมนุษยศาสตร์
ไกลจากความอึงอล ซึ่งเป็นการศึกษาสีสันอันหลากหลายของความรัก ตั้งแต่สีขาว สีรุ้ง สีช้ำเลือด สีม่วงหม่น จนถึงสีดำนี้ ก็พยายามบอกถึงอานุภาพอันแรงและร้ายแรงของความรัก อันทำให้ชุมชนที่เชื่อกันว่าเรียบง่าย พึ่งพาอาศัยกันดุจญาติมิตร อุดมไปด้วยความรักสามัคคี ฯลฯ ถึงกับเกือบล่มสลายไปกับเมฆฝนและพายุของความรัก เมื่ออ่าน ไกลจากความอึงอล ด้วยแว่นสังคมวิทยา ก็จะสนทนากันอย่างออกรสกับสำนักความคิดที่ว่า ปทัสถานสังคม (social norms) เป็นพลังที่กำหนดพฤติกรรม ความคิดของบุคคล ในนวนิยายเรื่องนี้ ตัวละครหลักๆ ตัดสินใจและกระทำ
การสำคัญๆจากแรงผลักของหัวใจของตนเอง ที่ไกลจากเสียงอันอึงอลของกลุ่มคน (madding crowd) หรืออีกนัยหนึ่งคือ เสียงเรียกร้องของหัวใจดังก้องกว่าเสียงอิทธิพลของสังคม นิยายเรื่องนี้จึงอ่านได้ทั้งเชิงคัดค้านและคล้ายคล้อยกับแนวคิดสังคมวิทยากระแสหลัก ทั้งยังอาจช่วยฉายแสงส่องไปยังการใคร่ครวญถึงคุณค่าการใช้ชีวิตของเราแต่ละชีวิต และหลายๆชีวิตรวมหมู่ซึ่งก่อรูปขึ้นเป็นสถาบันทางสังคมและการเมือง และถึงแม้ฮาร์ดีจะไม่สามารถถึงกับให้แม่กุญแจ (master key) แก่ใครได้ (หรือมีใครจะให้ได้? หากยกเว้นอัครมหาศิลปินจอมขวานและวิญญาณสุวรรณภูมิเสียแล้ว) ฮาร์ดีก็มีข้อคิดให้ช่วยคิดกันต่อไป นักมนุษยศาสตร์จึงคงมีงานให้ทำ ให้ศึกษาอีกอย่างไม่สิ้นสุด ตามสำนวนของฮาร์ดีที่ว่า “The petty done, the undone vast.”