ขอตราชูตราช้างยั้งยืนยง ขอ ‘ราชประสงค์’ เป็นธงชัย มุสายศอยู่คู่ไทย เชิดชัย ชโย

George Orwell has written of a world in which the Political Power rewrites history:
decides what the truth is, what is to be remembered, what forgotten. …
Milan Kundera, Granta 11

มาร์คกับมาร์ค
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายชื่อ มาร์ค แอนโทนี (Mark Antony) อาศัยอยู่ในกรุงโรม ร่ำลือกันว่ารูปงามและมีวาทศิลป์เป็นเอก คุณสมบัติทั้งสองนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของเขาอย่างยิ่งยวด ความที่หน้าตาหล่อเหลา ผู้คนก็หลงไปว่าเขาเป็นคนดี ยิ่งเขาเป็นคนพูดภาษาละตินได้ฉะฉาน ผู้คนก็เข้าใจไปว่าเขาได้รับการอบรมสั่งสอนมาเลอเลิศ มาร์ค แอนโทนีได้พลิกแพลงใช้ประโยชน์จากความเข้าใจครึ่งๆ กลางๆ เช่นนี้มาเป็นอุบายชักจูงให้ผู้คนหลงเชื่อน้ำคำและการกระทำของตน
*
อีกกาลครั้งหนึ่งในปัจจุบันสมัย มีชายอีกผู้หนึ่งนามว่า มาร์ค มุสาวาที <ชีวะ> (Mark Musawateechiva) มีนิวาสสถานอยู่ในกรุงเทพฯ …
*
ทั้งสองต่างเคยได้รับคำยกยอปอปั้น มีคนกล่าวถึงมาร์ค แอนโทนี ว่าเป็น “ทิวาแห่งพิภพ” (O thou day o’
th’ world) เป็น “เลิศชาย” (man of men) เป็น “มงกุฎแห่งแผ่นดิน” (the crown of the earth) แต่เมื่อพิจารณาว่า
คำเหล่านี้มาจากปากของใคร ก็ย่อมชวนสงสัยว่าไฉนจึงสรรเสริญเยินยอกันขนาดนั้น บางวลีที่มาจากพระนาง
คลีโอพัตราคู่พระคู่นางก็พอจะอนุโลมกันได้ ส่วนบางวลีที่มาจากพรรคพวก ลูกน้อง ก็ย่อมต้องตั้งคำถามเป็นพิเศษว่าเป็นพวกอำมาตย์ยกยอกันเอง หรือไม่ก็เป็นพวกลูกขุนพลอยพยัก พวกสอพลอขอตำแหน่งกันหรือเปล่า
แม้กระนั้นก็ไม่มีใครเคยป่าวประกาศสรรพคุณเขาถึงขนาดที่ว่าโรมโชคดีได้มาร์ค แอนโทนี มาเป็นศรีของอาณาจักร ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น อีกมาร์คหนึ่งคงชื่นอุราจะหาไหนที่จะมาเทียบอิงกัน การโฆษณาเลยธงทำนองนี้คงพอกล้ำพอกลืนของเก่าที่ยังย่อยไม่หมดได้หากว่าออกจากปากนางแบบที่โฆษณาครีมบำรุงผิว แต่ถ้าเอื้อนจากโอษฐ์ของรัฐบุรุษ เราควรจะให้เขาไปทำหน้าที่ป่าวประกาศขายยาทาให้ผิวขาวจะมิดีกว่าหรือ หรืออีกทางออกหนึ่งที่เป็นแบบ ‘win-win’ คือ แต่งตั้ง ‘presenter’ ครีมบำรุงผิวให้เป็น ‘states(wo)man’ กันให้ถ้วนหน้า
*
มาร์คหนึ่งในสมัยก่อนหน้าคริสต์ศักราช 44 ปี กับอีกมาร์คหนึ่งในคริสต์ศักราชปีที่ 2010 ไม่น่าจะมีอะไรมาเกี่ยวกันได้ เพียงความพ้องของชื่อแรกย่อมไม่เป็นเหตุให้นำสองคนนี้มาคู่เคียงกันแม้ว่าทั้งคู่จะมีคุณสมบัติบางด้านร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอและในแง่ที่ต่างก็อยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ผู้โตบงการชีวิตคนจำนวนมากเหมือนกัน แต่นอกเหนือจากความคล้ายคลึงในเชิงกลับกลอกเหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัวตั้งแต่การใช้ตรรกะตื้นๆ คู่กับโวหารหรูๆ จนถึงตลบตะแลงตะแบงข้อเท็จเป็นจริงข้อจริงเป็นเท็จ จนเมืองของมาร์ค มุสาวาทีได้ฉายาว่า ‘ตอแหลแลนด์’ แล้ว ทั้งสองนายนี้กลับอยู่กันคนละขั้วตามการประเมินคุณค่าชีวิต
*
มาร์คหนึ่งนั้นเป็นตำนานมีชื่อเป็นอมตะมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน จนกระทั่งเชคสเปียร์นำเรื่องราวชีวิตมาแต่งเป็นบทละครถึงสองเรื่อง คือ Julius Caesar กับ Antony and Cleopatra และถึงจะเป็นคนน่าชังจากความกะล่อนถ้อยร้อยเล่ห์ แต่ในฉากสุดท้ายของชีวิตก็ต้องถือว่าเขามีจิตใจองอาจสมชายชาตรีและศักดิ์ศรีทหาร น่ายกย่องสรรเสริญ เป็นบุรุษผู้ควรค่าแก่การคารวะ สมค่าความเป็นคนที่พระนางคลีโอพัตราจะพลีชีพตามไป มาร์ค แอนโทนี จึงมิใช่เป็นเพียงคนสำคัญตนผิดที่ขึ้นมาเป็นใหญ่เพราะมีพวกกเฬวรากยกขึ้นคานหาม มาร์ค (แอนโทนี) ไม่ใช่คนประเภทปากกล้าขาสั่น ไม่ใช่เด็กอ่อนหัดที่เที่ยวไปซุกใต้ผ้าห่มในค่ายทหารยามหน้าสิ่วหน้าขวานชีวิตของมาร์คนี้จึงเป็นตำนานสืบมา
*
การนำมาร์ค มุสาวาที มาเปรียบเทียบกับมาร์ค แอนโทนี จึงอาจเปรียบได้กับการนำอึ่งอ่างมาเคียงกับคชสาร หรือเหี้ยกับจระเข้ (สำนวนไหนถึงจะเหมาะกว่ากัน ?) แท้แล้วที่ดูเหมือนจะนำสองนายนี้มาโยงกันนั้น ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการประหวัดไปถึงการกระทำและวาจาของมาร์ค แอนโทนี ในปัญหาความจริงกับความเท็จและความเป็นไปได้นานาระหว่างสองขั้วนี้ ซึ่งปรากฏอยู่ในเรื่อง จูเลียส ซีซาร์ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสารัตถะของการเมือง
****