ไยเรียกร้องรัก จึ่งเหี้ยมหักหาญ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลียร์ (King Lear)

What moods, what passions, what nights of despair and gathering storms of anger, what
sudden cruelties and amazing tenderness are buried and hidden and implied in every love story.
H.G. Wells, The Transient

รักเอยรักพ่อ
วลี “รักพ่อ” ในเบื้องต้นเป็นวลีพื้นๆ เด็กปฐมวัยก็เข้าใจได้ แต่เมื่อลองตรองดู โดยเริ่มจากการแยกศัพท์คำว่า “รัก” และคำว่า “พ่อ” ความหมายก็ไม่ตรงไปตรงมาอย่างที่คิด คำว่า “รัก” มีหลายความหมายทับซ้อนกันอยู่ ส่วนคำว่า “พ่อ” มิได้จำกัดความหมายเพียงเป็นเพศผู้ในทางชีววิทยาเท่านั้น ชาวอีสาน โดยเฉพาะในเขตอีสานใต้ นิยมเรียกผู้อาวุโสที่เป็นชายว่า “พ่อ” ซึ่งพอเทียบได้กับคำภาคกลางว่า “ลุง” หรือให้ใกล้เคียงกว่าคือ “คุณลุง” ด้วยมีน้ำเสียงแสดงความเคารพมากกว่า คำว่า “พ่อ” ยังใช้ในความหมายต่างๆ เช่น “พ่อ” ที่เป็นหัวหน้าใหญ่ในหมู่นักเลง คล้ายๆ Godfather สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สองในเกาะซิซิลี อิตาลี “พ่อ” ที่มีนัยยะท้าทาย ดังในประโยค “ก็มันไม่ใช่พ่อกู” ฯลฯ ยิ่งเมื่อนำคำว่า “พ่อ” ไปรวมกับคำอื่นๆ ความหมายก็จะขยายออกไปอีก เช่น พ่อพันธุ์ พ่อเลี้ยง พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้านในภาษาคำเมือง) หรือ โอละพ่อ เป็นต้น

เมื่อนำคำว่า “รัก” ซึ่งมีความหมายหลายนัย มาผสมกับคำว่า “พ่อ” วลี “รักพ่อ” ก็พิเศษขึ้นอีก ชะรอยเด็กอนุบาลจะอ่อนโลกเกินไปที่จะเข้าใจ ปรมาจารย์รัฐศาสตร์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามถึงกับประกาศว่า เราสามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในรอบ 5 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วยวลี “รักพ่อ” เขาคิดวนเวียนถึงประเด็นที่เขาเห็นว่า
ลุ่มลึกนี้ จนประสงค์ให้นักศึกษาทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สังคม (จตุรมิติของสังคมศาสตร์ไทย) โดยใช้สำนวน “รักพ่อ” เป็น “conceptual approach” เขามีความหวังลางๆว่าเมื่อกฎหมายอาญามาตรา 108 ถึง 112 ล้มเลิกไป อาจมีนักศึกษาออกจากหลืบมาทำเรื่องนี้ แต่ที่เป็นไปได้มากกว่าคือวิทยานิพนธ์เรื่องนี้อาจไม่ได้ทำโดยนักรัฐศาสตร์ยุครถไถแทนควาย แต่โดยนักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยยุคโบราณและรู้จักควายจากโครงกระดูกในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ

นอกจากจะแยกวลี “รักพ่อ” เป็นแต่ละคำแล้ว ก็สามารถทำในทิศทางตรงกันข้ามได้ด้วย คือ นำวลีนี้ไปรวมกับวลีและประโยคอื่นๆ ดังตัวอย่างสองตัวอย่าง คือ “รักพ่อ รักชาติ” และ “รวมพลังคนไทย รักพ่อ ปกป้องพ่อ ร่วมแสดงจุดยืน ยิงพวกหมิ่นให้คลานเป็นหมา”

ตัวอย่างที่ 1 เมื่อนำวลี “รักพ่อ รักชาติ” มาคู่กัน ก็จะได้ความเป็นไปได้ 4 กรณี คือ

(ก) รักพ่อ รักชาติ
(ข) รักพ่อ ไม่รักชาติ
(ค) ไม่รักพ่อ รักชาติ
(ง) ไม่รักพ่อ ไม่รักชาติ

ในกรณี (ก) ความหมายรองรับซึ่งกันและกันโดยไม่ติดขัด ส่วนกรณี (ข)–(ง) นั้น จำเป็นต้องใช้คำบุพบทเสริม เช่น แต่ กระนั้น ทั้ง เพื่อให้วลีทั้งสองมาอยู่คู่กันได้ มิฉะนั้นรูปปฏิเสธของวลีใดวลีหนึ่งจะขาดตรรกะในทางภาษา ส่วนจะเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้หรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ตัวอย่างที่ 2 ประโยค “รวมพลังคนไทย รักพ่อ ปกป้องพ่อ ร่วมแสดงจุดยืน ยิงพวกหมิ่นให้คลานเป็นหมา”
ประโยคนี้มีทั้งความสมเหตุสมผลและเป็นจริงในเชิงประจักษ์ สื่อความหมายในรูปประโยคบอกเล่าที่แฝงเป็นประโยคคำสั่งอยู่ในตัว ในเชิงตรรกะนั้น แต่ละวลีก็คล้องรองรับกัน ซึ่งมาจากฐานคิดที่ว่า คนไทยถูกแบ่งออกเป็นสอง
สายพันธุ์ (species) คือสายพันธุ์ “รักพ่อ” กับ สายพันธุ์ “ไม่รักพ่อ” แต่เพื่อหลีกเลี่ยงรูปปฏิเสธ เพราะ “ไม่รักพ่อ” นั้นไม่ต้องด้วยหลักตรรกะดังกล่าว จึงสมควรปรับการจำแนกประเภทด้วยอีกมาตรการหนึ่งคือ สายพันธุ์ “รักเจ้า” กับ สายพันธุ์ “ล้มเจ้า” ประโยคในกรณีตัวอย่างที่ 2 ซึ่งเผยแพร่ใน fb อย่างกว้างขวางนี้เรียกร้องให้คนไทยสายพันธุ์
“รักพ่อ” มารวมพลังกัน รวมกันทำไม? รวมกันเพื่อปกป้อง “พ่อ” จากคนไทยอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งอาจจะกลายเป็น “คนอื่น” ไปแล้ว กลุ่มวลีและประโยคในตัวอย่างนี้มิได้เป็นเพียงข้อความที่เป็นเหตุเป็นผลกันเท่านั้น ในทางความเป็นจริง ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซ้ำยังเป็นปรากฏการณ์ในรูปพหูพจน์อีกด้วย

เมื่อ “รักพ่อ” เป็นวลีที่สามารถนำไปสู่ฆาตกรรมยามเช้าได้ จึงเป็นวลีที่ทรงพลังอย่างยิ่ง กระนั้นความพิสดารของวลี “รักพ่อ” นี้ก็ใช่ว่าเป็นลักษณะจำเพาะของสังคมสารขัณฑ์ หรือเป็นต้นความคิดของปรมาจารย์ทางรัฐศาสตร์ก็หาไม่ แท้แล้วมีคนได้ทำมาก่อนนับหลายร้อยปี เพียงแต่ไม่ได้อยู่ในรูปวิทยานิพนธ์ แต่เป็นบทละคร โดยใช้ตัวพ่อเป็น
ชื่อเรื่อง คือ King Lear ผู้ประพันธ์ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็ เชคสเปียร์ (เจ้าเก่า) เขาเอง

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในสารสารอ่าน]