หมายเหตุจากผู้เขียน บทความชิ้นนี้เดินทางอย่างลุ่มๆดอนๆ ที่ระหว่างจอดแวะข้างทางกินเวลายาวนานกว่าตอนก้าวเดิน กว่าจะมาถึงจุดหมายปลายทาง มันก็พลาดบางสิ่งบางอย่างไปแล้ว บทความนี้ถูกกลับมาเขียนอีกครั้งอย่างตั้งอกตั้งใจในหัวค่ำวันที่ 13 ธันวาคม 2558 หลังกลับจากวางดอกไม้ไว้ที่ห้องของ “ครูเบน” Benedict Anderson เพื่อรำลึกถึงผู้ที่เคยคะยั้นคะยอผู้เขียนอย่างอ้อมๆ แต่สม่ำเสมอ ว่าให้เขียนวิจารณ์หนังสือเล่มหนึ่ง ที่ครั้งหนึ่งเขาเลือกอ่านเพื่อเรียนรู้ภาษาไทยด้วยตนเอง แต่สุดท้ายด้วยความเกียจคร้านของผู้เขียนที่เตะถ่วงไม่ยอมทำให้เสร็จสักที ดูเหมือนครูเบนจะอ่อนใจเคี่ยวเข็ญ นานๆจึงค่อยถามถึงมันสักครั้ง กระทั่งเวลาล่วงเลยและสายเกินไป
ผู้เขียนจึงขอให้บทความชิ้นนี้แทนทั้งคำขอบคุณสำหรับหลายสิ่งหลายอย่างที่ครูเบนเคยมอบให้ แทนคำขอโทษสำหรับความดื้อรั้นของผู้เขียนเอง เป็นที่ระลึกถึงช่วงเวลาดีๆที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งเตือนใจไม่ให้ผู้เขียนผัดวันประกันพรุ่งอีก เพราะบางทีวันพรุ่งอาจไม่มีอีกต่อไป
การแบ่ง “เพศ” โดยอิงกับเพศสสรีระ (sex) หรือเพศสถานะ (gender) เพียงสองอย่างในลักษณะคู่ตรงข้ามคือ “เพศชาย” และ “ความเป็นชาย” กับ “เพศหญิง” และ “ความเป็นหญิง” ส่งผลให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์นอกกรอบ หรือเลือกที่จะมีเพศวิถี (sexuality) หรือเพศสถานะไม่ตรงกับเพศสรีระ ถูกเรียกว่า “กะเทย” ทั้งหญิงที่มีอัตลักษณ์ “ความเป็นชาย” และชายที่มีอัตลักษณ์ “ความเป็นหญิง” เช่น ในนวนิยาย เรื่องของจัน ดารา ของอุษณา เพลิงธรรม (เริ่มเขียนในปี 2507 แต่บริบทตามเนื้อเรื่องอยู่ในช่วงทศวรรษ 2460) ตัวเอกบรรยายถึงความเป็น “กะเทย” ว่า “ตามความรู้สึกร้ายของผม เธอไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียวเสียแล้ว เธอเป็นกะเทย กะเทยซึ่งเป็นคนสองเพศได้อย่างละเท่าๆกัน และยิ่งปีก็จะยิ่งเป็นข้างผู้ชายแก่กล้าขึ้นทุกที”
แต่เมื่อสังคมไทยเปิดกว้างขึ้น นิยามเพศสถานะและเพศวิถีก็เริ่มถูกประดิษฐ์หรือเลือกใช้มากขึ้นโดยเฉพาะสำหรับเพศวิถีรักเพศเดียวกันนับแต่ พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เช่น สังคมไทยเริ่มรู้จักคำว่า “เกย์” จากหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 อันเนื่องมาจากข่าวคดีฆาตกรรม Darrell Berrigan บรรณาธิการชาวอเมริกันของหนังสือพิมพ์ Bangkok World ที่นำไปสู่การสืบเสาะพฤติกรรมทางเพศของเขา อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้น คำว่า “เกย์” ยังคงถูกใช้ในความหมายของอาชีพ “ผู้ชายขายตัว” ไม่ใช่อัตลักษณ์ทางเพศ เช่น “…แห่งดังกล่าวที่ซ่องสุมพวก ‘เกย์’ หรือพวกผู้ชายขายตัวนี้” ขณะที่คำว่า “กะเทย” จะใช้เรียกชายที่มีเพศวิถีรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเลือกแสดงอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เช่นในเนื้อข่าวหนังสือพิมพ์ที่บรรยายว่า “มีกะเทยนายหนึ่งชื่อ ‘ป’ …กะเทยชื่อ ‘ป’ ผู้นี้ไม่ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง เขาชอบแต่งตัวแบบผู้ชายปรกติ”
“กะเทย” จึงเป็นคำที่ใช้เพื่อบ่งบอกเพศสถานะและเพศวิถี ขณะที่คำว่า “เกย์” ยังคงใช้เพื่อบ่งบอกเพศวิถีเพียงอย่างเดียว
ต่อมาในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2510 เริ่มมีนิตยสารเกย์และสถานเริงรมย์สำหรับเกย์ในกรุงเทพฯ ซึ่งสอดรับกับการขยายตัวของประชากรชั้นกลางในเมืองหลวงและกระแสบริโภคของทุนนิยมเสรี ทำให้คำว่า “เกย์” มิได้หมายถึงเพียงชายที่มีเพศวิถีรักเพศเดียวกันอีกต่อไป แต่ยังหมายถึงกลุ่มชายรักชายชนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีฐานะทางเศรษฐกิจดี และอาศัยอยู่ในเมือง “เกย์” จึงเป็นทั้งเพศวิถีและเพศสถานะที่มีชนชั้นกำกับอยู่ด้วย นิตยสารเกย์เองต่างก็ทำหน้าที่เผยแพร่คำนี้ออกไปในวงสังคมชุมชนเกย์ เช่นนิตยสาร Boy (2524), มิถุนาจูเนียร์ (2527), นีออน (2527), มิดเวย์ (2529), My Way (2532) อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดโรคเอดส์และความเชื่อที่ว่าเกย์เป็นกลุ่มแพร่เชื้อ คำคำนี้ก็ยิ่งแพร่หลายพร้อมไปกับความหวาดกลัวเอชไอวี/เอดส์
นิตยสารสำหรับชายรักชายกลายเป็นเครื่องมือเผยแพร่วัฒนธรรมเกย์จนกลายเป็นบรรทัดฐานนิยามอัตลักษณ์ “เกย์” ที่ผูกขาดไว้เฉพาะชนชั้นกลางในเมืองใหญ่ ส่วนหนึ่งเนื่องจากหาซื้อยาก แผงขายหนังสือและสายส่งนิตยสารสำหรับเกย์มักกระจุกอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น การมีภาพเปลือยของนายแบบอย่างชัดเจนทำให้ไม่อาจปรากฏบนแผงหนังสือได้ง่ายเหมือนนิตยสารอื่น บางแผงหนังสือไม่รับจำหน่ายเนื่องจากกลัวขายยากและกลัวการกวาดล้างจากเจ้าหน้าที่รัฐ บรรดาผู้อ่านจึงต้องรู้แหล่งซื้อเฉพาะกันเอง เช่นแผงขายหนังสือหน้าธนาคารกรุงเทพ ซอยธนิยะฝั่งถนนสุรวงศ์ หรือตามชุมชนเกย์ แหล่งรวมตัวหรือให้บริการสำหรับผู้มีเพศสถานะเกย์ เช่นแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า สปา ผับ ร้านอาหาร ซาวน่า อย่างไรก็ตาม จากคอลัมน์หาคู่ในนิตยสาร มิถนุา เผยให้เห็นว่าผู้อ่านชายรักชายมีตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-30 ปี และอาศัยกระจายอยู่หลายจังหวัด ซึ่งน่าจะสั่งซื้อหรือเป็นสมาชิกทางไปรษณีย์ ใน มิถุนา ฉบับปฐมฤกษ์ คนที่มาโฆษณาหาคู่เกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดมีเพียงหนึ่งคนจากสกลนคร ในฉบับที่ 2 พบว่าเริ่มมีจดหมายจากผู้อ่านจังหวัดอื่นๆ เช่น นครปฐม, พิษณุโลก, อุดรธานี, นนทบุรี, สงขลา, อยุธยา และสุราษฎร์ธานี
นอกจากนั้นนิตยสารเกย์ยังมักมีนวนิยาย เรื่องสั้น ที่เล่าถึงชีวิตเกย์ กล่าวกันว่าวรรณกรรมที่มีตัวดำเนินเรื่องหลักเป็นเกย์อย่างเปิดเผยโดยถูกต้องตามกฎหมายเล่มแรกในไทยคือ บัลลังก์ใยบัว แต่งโดยนักเขียนหญิง “กฤษณา อโศกสิน” (นามปากกาของ สุกัญญา ชลศึกษ์) เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2516 อันเป็นช่วงที่ชุมชนเครือข่ายเกย์เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยมากขึ้น มีสถานบันเทิงโดยเฉพาะเพื่อรองรับเกย์ นวนิยายเรื่องนี้มุ่งเน้นเรื่องราวของเกย์ที่ต้องแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อปกปิดความเป็นเกย์ ชายที่สามารถร่วมเพศได้ทั้งผู้หญิงและเพศเดียวกัน ความสัมพันธ์หลบๆซ่อนๆของเกย์ และผู้ชายที่ให้บริการทางเพศแก่ผู้ชาย
ในทำนองเดียวกัน ผลงานของ “อาทิตย์ สุรทิน” นามปากกาของ ชาญยุทธ สระแก้ว (2485–ปัจจุบัน) ที่เผยแพร่ในนิตยสารเกย์ช่วง พ.ศ. 2520-2530 ก็ให้ความสำคัญกับตัวละครชายรักชายที่แต่งงานมีครอบครัวลูกเมีย หรือชายที่มีความรักและความปรารถนาทางเพศอย่างรุนแรงกับเพศเดียวกันและสามารถมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงได้