ในปีครบรอบชาตกาล 112 ปีของปรีดี พนมยงค์ และ 8 ทศวรรษของการอภิวัฒน์ ปรีดี พนมยงค์ ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งอย่างกว้างขวาง แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือนในการอภิวัฒน์ 2475, หัวหน้าขบวนการเสรีไทย, ผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ธนาคารแห่งประเทศไทย) หรือแพะในคดีลอบปลงพระชนม์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล หากเป็นการพูดในเชิงตั้งคำถามและท้าทายอย่างตรงไปตรงมาถึงสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อัน “ล่วงละเมิดมิได้” และการเป็นเทวดาประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงตัวตนในโลกทัศน์และความเชื่อความศรัทธาของนักศึกษา อาจารย์ นักวิชาการในรั้วธรรมศาสตร์ และบุคคลที่รักบูชาปรีดี ด้วยการที่รูปปั้นและรูปภาพของปรีดีถูกนำมาหยอกล้อในลักษณะต่างๆ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากภาพนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งแสดงท่าปีนป่ายก่ายเกาะรูปปั้นปรีดีในห้องอนุสรณ์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสังคมไซเบอร์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2555 และนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงรุมประณามนักศึกษาในรูปดังกล่าวถึงความเหมาะสม รู้จัก “ที่ต่ำที่สูง”
ประเด็นหนึ่งที่แตกยอดมาจากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว คือการที่นักศึกษาผู้แสดงท่าโหนอนุสาวรีย์ปรีดีในรูปดังกล่าวนั้นเป็นกะเทย/สาวประเภทสอง/ผู้หญิงข้ามเพศ (ทั้งนี้แล้วแต่สำนักคิด trangenderisms ในไทยจะนิยาม) ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ถูกท้าทายในแง่ทัศนคติของเขาต่อการยอมรับความหลากหลายทางเพศภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) วาทกรรม “ปรีดี เกลียดตุ๊ด” แพร่กระจายในเว็บไซต์ Facebook เช่นใน เพจ “กู kult” มีการตั้งคำถามต่อนิยาม “ลักเพศ” ที่ปรีดีเคยให้ไว้ว่าเป็นเพศวิถีและการเสพสุขทางเพศที่ขัดต่อธรรมจริยาส่วนรวมของปวงชน ศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และรวมไปถึงประชาธิปไตย