ตำนานพุทธเจดีย์สยาม: ต้นธารประวัติศาสตร์ศิลปะ และรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์

หากสำรวจโครงสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยกระแสหลัก โดยเฉพาะในโลกวิชาการไทย ลักษณะร่วมประการหนึ่งที่จะพบได้อย่างชัดเจนคือการที่ข้อเขียนเหล่านี้เกือบทั้งหมดอธิบายงานศิลปะไทยภายใต้โครงสร้างชุดเดียวกันคือโครงสร้างการจำแนกหมวดหมู่รูปแบบตามยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ที่ยึดโยงอยู่กับรัฐหรืออาณาจักรต่างๆ เช่น ทวารวดี, ศรีวิชัย, ลพบุรี, เชียงแสน, สุโขทัย, อยุธยา, และรัตนโกสินทร์ เป็นต้น

โครงสร้างดังกล่าวถูกถือเสมือนหนึ่งสัจจะความจริง งานศิลปะไทยถูกอธิบายประหนึ่งว่าสร้างขึ้นภายใต้สำนึกเรื่องยุคสมัยทางศิลปะนับตั้งแต่ตัวมันเองถูกสร้างขึ้น ขณะที่ข้อถกเถียงในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะแม้จะมีอยู่มาก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นข้อถกเถียงเรื่องอายุสมัยของชิ้นงาน และการกำหนดช่วงเวลาของยุคสมัยทางศิลปะที่แตกต่างกัน อาทิ “ทวารวดี” ควรเริ่มและจบในช่วงปีใด เป็นต้น แต่แทบไม่มีข้อถกเถียงที่ตั้งคำถามกลับไปสู่จุดกำเนิดว่า ทำไมต้องมียุคสมัย “ทวารวดี” หรือมองให้ไกลไปกว่านั้น เช่น ทำไมต้องแบ่งยุคสมัยทางศิลปะด้วยรัฐหรืออาณาจักร แน่นอนแม้จะมีนักวิชาการเคยตั้งคำถามลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการท้าทายนั้นส่งผลต่อโครงสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยในโลกวิชาการไทยน้อยมาก

กล่าวให้ถึงที่สุด ในปัจจุบัน สถานะของการแบ่งยุคสมัยข้างต้นได้เข้าใกล้สถานะความเป็นสัจธรรมโดยตัวของมันเองเข้าไปทุกที ข้อถกเถียงที่ดำเนินไปมีเพียงแค่การปรับเปลี่ยนช่วงเวลาว่ายุคสมัยเหล่านี้ควรเริ่มและจบลงเมื่อใด อิทธิพลของยุคสมัยเหล่านี้ครอบคลุมอาณาบริเวณมากน้อยแค่ไหน หรืองานศิลปะชิ้นใดควรถูกถือว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยทางศิลปะแบบไหนเท่านั้น โดยไม่มีการแตะประเด็นเชิงโครงสร้างของการแบ่งยุคสมัยแต่อย่างใด

ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชื่อเรียกยุคสมัยทางศิลปะข้างต้นกลายเป็นคำศัพท์อ้างอิงพื้นฐานในการคิด พูด และเขียนชิ้นงานทางศิลปะของสังคมไทย มีลักษณะเป็นคำศัพท์ที่เชื่อกันว่าเป็น “ความจริงสัมบูรณ์” ทั้งที่โดยข้อเท็จจริง ชื่อยุคสมัยทั้งหมดเป็นเพียงศัพท์บัญญัติ อันเป็นสิ่งสมมติ หรือความจริงแบบสัมพัทธ์ ที่มีสถานะเป็นเครื่องมือช่วยในการทำความเข้าใจงานศิลปะแบบหนึ่งเท่านั้น ในโลกวิชาการประวัติศาสตร์ศิลปะนอกสังคมไทย การจำแนกหมวดหมู่ทางศิลปะชนิดที่แบ่งตามยุคสมัยของรัฐและอาณาจักร แม้จะดำรงอยู่ แต่ก็มีสถานะเป็นเพียงหนึ่งในวิธีการที่หลากหลายในการมองงานศิลปะ และมิได้ถูกสถาปนาจนกลายเป็นสัจธรรมที่ทรงพลังอำนาจอย่างในสังคมไทย เช่น แม้จะมีงานเขียนที่นิยมจำแนกงานศิลปะออกเป็นยุคโกธิค, เรอเนสซองส์ ฯลฯ ดำรงอยู่ แต่การจำแนกอื่นก็มีพื้นที่มากพอในงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกงานศิลปะตามกรอบมาร์กซิสม์, อาณานิคม (colonialism), สตรีนิยม (feminism) หรือการศึกษาที่ใช้มุมมองแบบสัญศาสตร์ (semiotics) อาทิ โครงสร้างนิยม (structuralism), หลังโครงสร้างนิยม (post-structuralism), รื้อสร้าง (deconstruction) หรือแม้กระทั่งการอธิบายงานศิลปะในกรอบทฤษฎีจิตวิเคราะห์ เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะในโครงสร้างงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะไทยข้างต้น หากลองสืบค้นไปจนถึงต้นธารอันเป็นเสมือนแม่บทต้นแบบงานชิ้นสำคัญที่มีอิทธิพลสูงยิ่งต่อการก่อรูปโครงสร้างความรู้ชุดนี้ คงหลีกไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง ตำนานพุทธเจดีย์สยาม ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ