สนามห(ล)วง

และแล้วสนามหลวงรูปโฉมใหม่ก็ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อเช้าวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา หลังจากที่ล้อมรั้วปิดปรับปรุงเป็นเวลาประมาณ 1 ปี โดยมี ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าของแนวความคิดในการแปลงโฉมพื้นที่สนามหลวงในครั้งนี้เป็นประธานในพิธี

สนามหลวงโฉมใหม่ ใช้งบประมาณในการปรับปรุงทั้งสิ้นราว 180 ล้านบาท เป็นงบประมาณรัฐบาลภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง รายละเอียดทางกายภาพที่ปรับปรุงมีอาทิ ปรับสภาพพื้นพร้อมทั้งปูหญ้าใหม่ทั้งหมด จัดทำระบบระบายน้ำใต้ดิน ระบบรดน้ำอัตโนมัติ ปรับปรุงสภาพทางเดินเท้าและแนวต้นไม้โดยรอบ ปรับปรุงม้านั่ง เพิ่มจุดบริการน้ำดื่มและถังขยะ

มีการคำนึงถึงความปลอดภัยโดยทำการติดตั้งไฟส่องสว่างและกล้องวงจรปิด 42 ตัว กระจายทั่วทั้งพื้นที่ 74 ไร่ ที่สำคัญคือ มีการติดตั้งรั้วเหล็กโปร่งสูงประมาณ 1.70 เมตรรอบสนามหลวง ซึ่งจะเปิดในเวลา 5.00 น. และปิดในเวลา 22.00 น. การทำรั้วกั้นมีเป้าหมายเพื่อกันไม่ให้มีคนเข้าไปใช้งานนอกเวลาที่ได้กำหนดเอาไว้ มีการติดตั้งหอกระจายเสียง นอกจากนี้ยังมีการจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจจำนวน 100 คน แบ่งเป็น 3 กะ และจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 92 คนเพื่อดูแลสนามหลวงอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง

สนามหลวงโฉมใหม่จะมีการควบคุมการใช้สอยพื้นที่อย่างเคร่งครัด แม้ว่า ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ จะยังไม่มีการประกาศกฎระเบียบที่แน่นอนออกมา แต่จากการเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆ เราก็พอมองเห็นหลักเกณฑ์ที่จะออกมาได้อย่างกว้างๆ แล้วคือ จะเน้นการใช้สอยไปที่งานพิธีและพระราชพิธีเป็นหลัก ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ได้ในเวลาที่กำหนดเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ แต่ไม่อนุญาตให้มีการมาอาศัยหลับนอนในพื้นที่โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นคนหรือนกพิราบ ไม่อนุญาตให้มีการค้าขายใดๆ ทั้งสิ้นในพื้นที่ ห้ามจอดรถ และที่สำคัญที่สุดคือ การห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองภายในสนามหลวง และหากมีการฝ่าฝืนจะต้องได้รับโทษทั้งจำคุกและปรับ

จากรายละเอียดข้างต้น สนามหลวงโฉมใหม่จึงเป็นพื้นที่ที่ถูกควบคุมโดยรัฐอย่างชัดเจน และจำกัดกิจกรรมการใช้งานอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยกฎระเบียบ ข้อบังคับ และบทลงโทษ จนกล่าวได้ว่า สนามหลวงใหม่ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการหวงห้ามมากกว่าที่จะเป็นพื้นที่สาธารณะ และหากทั้งหมดที่กล่าวมาได้รับการปฏิบัติจริงบนพื้นที่แห่งนี้ ผมคิดว่าเราควรจะเปลี่ยนชื่อ “สนามหลวง” เป็น “สนามหวง” แทน จะเหมาะสมกว่า เพราะสะท้อนลักษณะที่แท้จริงของพื้นที่มากกว่าชื่อเดิมเป็นไหนๆ