คณะราษฎรหลังรัฐประหาร 19 กันยา

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างในสังคมการเมืองไทย เป็นจุดเริ่มของความขัดแย้งแตกแยกในเชิงความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ ที่ทั้งกว้างขวางและหยั่งรากลึกเกินกว่าที่ใครจะคาดคิดมาก่อน
ทุกหน่วยงาน องค์กร และสถาบันทางสังคม ลามไปจนถึงเกือบทุกครอบครัว ถูกลากดึงเข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับความขัดแย้งครั้งนี้ ทั้งโดยเต็มใจไม่เต็มใจ ทั้งโดยรู้ตัวไม่รู้ตัว ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกได้ทั่วไปสำหรับเราทุกคนที่มีชีวิตร่วมสมัยกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายในรายละเอียดแต่อย่างใด

คงไม่เกินเลยไปนักหากจะพูดว่า รัฐประหาร 19 กันยา ได้นำพาสังคมไทยก้าวเข้าสู่สภาวการณ์ที่เรียกว่าแทบจะ
ไม่มีหลักการพื้นฐานอะไรที่พอจะมีความเห็นร่วมกันในสังคมเลยก็ว่าได้ ทุกเรื่อง ทุกความคิด ทุกความเชื่อ
ทุกอุดมการณ์ ในทุกๆพื้นที่ ถูกโยงเข้าสู่ความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นอย่างมหาศาลหลังรัฐประหาร

ในพื้นที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ก็ดูจะหนีลักษณะดังกล่าวไม่พ้นเช่นกัน กล่าวคือ การต่อสู้ทางการเมืองหลังรัฐประหารได้ขยายเข้าสู่การต่อสู้บนพื้นที่ความทรงจำทางประวัติศาสตร์ บุคคลและเหตุการณ์ในอดีตถูกรื้อฟื้น
ผลิตซ้ำ ตลอดจนตีความใหม่อย่างมีชีวิตชีวาในรอบ 6-7 ปีที่ผ่านมาจากทุกฝ่ายเพื่อเป็นเครื่องมือหรือสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง อาทิ พระเจ้าตาก, พระยาพิชัย, พระนเรศวร เป็นต้น จนกระทั่งบุคคลในอดีตที่คนส่วนมากแทบไม่รู้จักเลยก่อน 19 กันยา ก็เริ่มกลับมาโลดแล่นในพื้นที่ความทรงจำของสังคมไทย เช่น ขุนรองปลัดชู,
ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และ เฉลียว ปทุมรส เป็นต้น

ภายใต้สงครามความทรงจำครั้งนี้ “คณะราษฎร” และ “การปฏิวัติ 2475” ดูจะเป็นกลุ่มบุคคลและเหตุการณ์ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นอย่างมีพลังมากที่สุด

การที่ “คณะราษฎร” ตลอดจนเรื่องเล่าและเหตุการณ์ต่างๆในยุคสมัยนั้น (พ.ศ. 2475-2490)ฟื้นกลับมาและได้รับการพูดถึงอย่างมากในบริบทการเมืองปัจจุบัน เป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์โดยตรงกับเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 หรือกล่าวให้ชัดก็คือ การรัฐประหารครั้งล่าสุดได้ปลุกให้คณะราษฎรกลับมาโลดแล่นบนเวทีการเมืองไทยอย่างมีชีวิตชีวาอีกครั้งหลังจากที่ถูกหลงลืมมาอย่างยาวนาน

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารอ่าน]