กำเนิดสถาปนิกสยาม : คำศัพท์และการสร้างตัวตนในสังคมสมัยใหม่

…เมื่อมหาชนเลิกการประพฤติตัวเป็นนกเป็นหนู เลิกการขุดรูทำรังอยู่กันเอง และก้าวขึ้นมาถึงระดับแห่งอารยชนที่ทันสมัยกันแล้ว ก็ควรมอบหน้าที่ก่อสร้างบ้านร้านโรงงานให้สถาปนิกผู้ชำนาญในทางวิจิตรศิลปและเทฆนิคแห่งการก่อสร้าง การงานจึงจะได้ผลเต็มเมล็ดเต็มหน่วยจากราคาเงินที่ต้องเสียสละไป ดีกว่าการงานที่กระทำโดยผู้ที่สักแต่ว่าทำได้เท่านั้น…จงไว้ใจในสถาปนิก เพราะโดยสถาปนิกเท่านั้น ท่านจึงจะสามารถมีบ้านที่บริบูรณ์ทั้งเทฆนิคและศิลปที่สะดวก ที่ถาวร ที่ราคาพอสมควร ที่มีอนามัย ที่หมดจดงดงาม ที่จะให้ความผาสุกสำราญใจแก่ท่านได้ และที่จะยืนราคาอยู่ได้นานที่สุด…

หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร


ศึกษากำเนิดวิชาชีพสถาปนิกไปเพื่ออะไร

ประวัติวิชาชีพสถาปนิกในสังคมไทยมักถูกอธิบายผ่านงานวิชาการกระแสหลักว่าเป็นผลพวงจากการพัฒนาประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่ต้องการใช้สอยรูปแบบอาคารที่สลับซับซ้อนขึ้นทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ซึ่งเรียกร้องความรู้สมัยใหม่ในการออกแบบก่อสร้างอาคารจากยุโรป และองค์ความรู้แบบช่างไทยโบราณไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเพียงพออีกต่อไป แต่กระนั้น การอธิบายส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่นำเสนอว่าการเปลี่ยนผ่านนี้มีลักษณะเชื่อมโยงและต่อเนื่องมาจากความเป็นช่างในอดีตค่อนข้างมาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การอธิบายเสมือนว่า “ช่าง” คือบรรพบุรุษของ “สถาปนิก” ในปัจจุบัน ต่างเพียงวิชาความรู้ที่เป็นแบบตะวันตกและชื่อเรียกที่บัญญัติขึ้นใหม่เท่านั้น

จริงอยู่ สถาปนิกกับช่างมีความคาบเกี่ยวกัน แต่ข้อด้อยของคำอธิบายนี้คือการทำให้ภาพความเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดหายไป และถูกลดทอนเหลือเพียงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นและต่อเนื่องกันหมด ที่สำคัญ การนำเสนอในทำนองนี้ราวกับบอกว่าความรู้สถาปัตยกรรมแบบใหม่มีลักษณะเป็นศาสตร์บริสุทธิ์ ปราศจากค่านิยมและอุดมการณ์ใด ซึ่งวงวิชาการปัจจุบันไม่น่าจะเชื่อกันแล้วว่าความรู้ชุดใดจะสามารถอ้างสถานภาพเช่นนั้นได้จริง

บทความนี้ต้องการนำเสนอภาพกำเนิดของวิชาชีพสถาปนิกซึ่งเข้ามาแทนที่ระบบช่างแบบจารีตในทัศนะที่ไม่ต่างจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการเมืองการปกครองสมัยใหม่, การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบกฎหมายสมัยใหม่, การแพทย์สมัยใหม่ที่เข้าสวมทับการแพทย์แบบโบราณ, หรือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่เข้าแทนที่ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งเต็มไปด้วยการปะทะทางความคิด ความเชื่อ ตลอดจนความไม่ลงรอยกันในบทบาททางสังคมและผลประโยชน์ระหว่างกลุ่ม ที่สำคัญ บทความต้องการย้ำให้เห็นว่า “วิชาชีพสถาปนิกไทย” และ “ความเป็นสถาปนิกไทย” เป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างทางวัฒนธรรมเมื่อไม่ถึงหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมาเท่านั้น แม้บุคคลที่ทำหน้าที่ออกแบบอาคารจะดำรงอยู่ในสังคมไทยมาแล้วหลายร้อยปีในนามของ “ช่าง” แต่ช่างในอดีตมีความหมายกว้างและไม่สามารถถูกสวมทับแทนที่ได้ด้วยคำว่า “สถาปนิก” ได้ สถาปนิกเป็นกล่มุ บุคคลที่ถือกำเนิดใหม่ มีบทบาทหน้าที่อย่างใหม่ภายใต้บริบทสมัยใหม่ไทยที่แม้ว่าจะมีบางด้านยึดโยงอยู่กับความเป็นช่าง แต่เนื้อแท้แล้วมีความต่างมากกว่าความเหมือน

กระบวนการนี้ในแง่หนึ่งย่อมมิใช่การเข้าแทนที่ความรู้เดิมที่ล้าสมัยโดยชุดความรู้ทันสมัยกว่าที่ถูกต้องกว่าตามความเข้าใจทั่วไป แต่เป็นกระบวนการที่นำมาสู่การสถาปนา “ตัวตน” ให้แก่คนกลุ่มใหม่ที่อ้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญกว่า, อ้างความเป็นผู้รู้ที่ร่ำเรียนวิชาก่อสร้างอาคารที่ถูกต้องโดยตรงจากสังคมตะวันตกมากกว่า, อ้างความเป็นผู้มีรสนิยมที่รู้คุณค่าความงามที่แท้จริงยิ่งกว่า,อ้างมาตรฐานในการปฏิบัติวิชาชีพตลอดจนความปลอดภัยต่างๆ ตามเกณฑ์แห่งความเป็นสังคมสมัยใหม่ เพื่อสถาปนาสัจจะความรู้ที่จริงแท้ อันนำมาซึ่งการก่อรูป “ตัวตน” และ “อำนาจ” สมัยใหม่ของวงวิชาชีพสถาปัตยกรรมในสังคมไทย

โดยสรุป บทความนี้ต้องการท้าทายกรอบคำอธิบายเดิมบนสมมติฐานใหม่ว่า กำเนิดสถาปนิกเป็นกระบวนการที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างความรู้แบบจารีตกับความรู้ชุดใหม่ เพื่อแย่งชิงการกำหนดสถานะความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางสังคมหลังจากที่โครงสร้างสังคมเดิมกำลังหมดความชอบธรรมและเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสมัยใหม่ ช่างแบบอดีตที่ยึดกับโครงสร้างเดิมจึงเปลี่ยนสถานะและความหมายตามไปด้วย วิชาชีพสถาปนิกคือคำตอบใหม่ คือโครงสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่ที่เบียดขับโครงสร้างเดิมให้หายไปหรือลดสถานะเป็นเพียงกลุ่มอาชีพที่มีช่วงชั้น
ต่ำกว่า

การนำเสนอมิได้มีเป้าหมายที่จะมองกำเนิดวิชาชีพนี้ในแง่ลบ ผู้เขียนมีทัศนะต่อการสถาปนา “ความรู้/อำนาจ” ว่าเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมสมัยใหม่ที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้ และต้องการให้ตระหนักถึงปฏิบัติการของ “ความรู้/อำนาจ” ในวงวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่มักถูกละเลยไป