รูปปั้นศักด์ิสิทธิ์

ณ ห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พ.ศ. 2549

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ขณะนั้น ได้ตั้งคณะทำงานทางวิชาการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อกำหนดแนวทางในการออกแบบนิทรรศการใหม่ภายในห้องอนุสรณสถานปรีดี พนมยงค์ ซึ่งชำรุดและล้าสมัยไปตามกาลเวลา

คณะทำงานซึ่งมีผมเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ตกลงที่จะใช้รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ ที่ตั้งอยู่อย่างไร้พลังบริเวณด้านหลังของห้องจัดแสดงเดิม มาออกแบบจัดวางองค์ประกอบใหม่ในตำแหน่งโดดเด่นด้านหน้า เพื่อสร้างให้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของห้องอนุสรณสถานฯ ใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าชมระลึกถึง “หลักการสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ของปรีดี พนมยงค์ และเพื่อระลึกถึงอุดมการณ์ของปรีดีในฐานะสามัญชนแกนนำคณะราษฎรที่นำประชาธิปไตยมาสู่สยาม ตลอดจนในฐานะผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ห้องอนุสรณสถานฯ เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการอีกครั้งเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ในฐานะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบ ผมรู้สึกประหลาดใจในเวลาต่อมา เมื่อพบว่า เพียงไม่นานหลังจากนั้น ความตั้งใจที่จะให้รูปปั้นเป็นตัวแทนในการระลึกถึงปรีดีในเชิงแนวคิดและอุดมการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ความศักดิ์สิทธิ์เริ่มแผ่คลุมรูปปั้น และทำให้รูปปั้นที่แสนไร้พลังอย่างสิ้นเชิงในอดีตกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมที่ขาดเสียไม่ได้ของนักศึกษาใหม่ธรรมศาสตร์ เป็นพิธีกรรมที่ส่งผ่านคำพูดของรุ่นพี่ที่คอยกำชับรุ่นน้อง ณ ขณะเดินชมห้องอนุสรณสถานฯ ในวันแรกพบว่า “ขึ้นไปอย่าลืมไหว้พ่อปรีดีด้วยนะครับ”

สถานะศักดิ์สิทธิ์ของรูปปั้นปรีดีในห้องอนุสรณสถานฯ สัมพันธ์โดยตรงกับกระแสการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ของอนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ หน้าตึกโดม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา อันเป็นผลจากกระบวนการรื้อฟื้นภาพลักษณ์และสถานภาพของปรีดี พนมยงค์ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แต่เป็นไปในลักษณะเกินเลยจนไหลไปสู่กระแส “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” อย่างล้นเกินโดยไม่รู้ตัว

กลุ่มคนที่ตกอยู่ในลัทธิบูชาตัวบุคคล อาจจะไม่ต้องสนใจอะไรเลยก็ได้กับแนวคิด อุดมการณ์ และการกระทำของบุคคลในประวัติศาสตร์ เพียงแต่ขอให้ได้รับการบอกเถอะว่า นี่คือบุคคลสำคัญของหน่วยงาน องค์กร สังคม หรือประเทศชาติ เราก็พร้อมที่จะจุดธูปเทียนบูชา สักการะในความศักดิ์สิทธิ์ทันที รวมไปถึงกราบไหว้ขอพรและการบันดาลโชคลาภในทางต่างๆ แก่ตนเอง

รูปปั้นปรีดี พนมยงค์ มิใช่กรณีแรกหรือกรณีเดียว หากกวาดตาไปรอบๆ สังคมไทย เราจะพบปรากฏการณ์เปลี่ยน
รูปปั้นสมัยใหม่ที่ควรจะระลึกถึงในแบบสมัยใหม่ ให้กลายไปเป็นศาลเจ้าในแบบสังคมก่อนสมัยใหม่ได้อย่างดกดื่นทั่วไป

ปรากฏการณ์ข้างต้นมิได้น่าสนใจอะไรนักสำหรับผม แต่สิ่งที่น่าสนใจจนทำให้ต้องมาเขียนถึงในบทความนี้คือเมื่อมีคนบางคนยอมรับไม่ได้กับการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้กับรูปปั้นปรีดี และต้องการที่จะกระตุกให้สังคมกลับมามอง
รูปปั้นปรีดีในสถานะและบทบาทที่มันควรจะเป็น คือระลึกถึงคุณงามความดีหรืออุดมการณ์ของคนคนนั้นในแบบ
โลกสมัยใหม่ แต่การณ์กลับเป็นว่ามีคนเป็นจำนวนมากรับไม่ได้และกล่าวโจมตีในระดับที่ผมคาดไม่ถึง

ที่คาดไม่ถึงเพราะหลายความเห็นเป็นไปในทำนองว่า เราควรต้องเข้าใจการสร้างความหมายศักดิ์สิทธิ์แก่รูปปั้น
สมัยใหม่เหล่านั้น แม้ว่ามันจะขัดแย้งกับความหมาย ตัวตน หรืออุดมการณ์ของบุคคลคนนั้นก็ตาม ที่สำคัญคือ เราจะต้องยอมรับกับมันโดยที่ไม่ควรทำอะไรที่รุนแรงหรือกระทบจิตใจผู้คนที่สมาทานความหมายใหม่เหล่านั้นแล้วอีกด้วย

ผมคิดว่าทุกคนคงทราบดีนะครับ ว่าผมหมายถึงกรณีอะไร

ก็เหตุการณ์วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ที่มีนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งใช้นามว่า “Aum Neko” ได้ถ่ายภาพคู่กับรูปปั้น โดยขึ้นไปนั่งบนฐานรูปปั้น และโพสท่าโหนเกาะไหล่ตัวรูปปั้น ภาพดังกล่าวปรากฏใน facebook ส่วนตัวของนักศึกษาผู้นั้น พร้อมทั้งข้อความประกอบภาพว่า

ความรัก ความคลั่งคืออะไร แต่ประเทศไทยก็ไม่มีกฎหมายหมิ่นท่านปรีดี เพราะเราทุกคนเท่ากัน

ไม่นานนัก ภาพนี้ได้กลายเป็นวิวาทะในโลกออนไลน์ที่ลามมาสู่โลกออฟไลน์อย่างรวดเร็ว

ในระหว่างวิวาทะดังกล่าวผมก็ติดตามอยู่โดยที่ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะเข้าใจในลัทธิบูชาตัวบุคคลชนิดล้นเกินของสังคมไทยเป็นอย่างดี

แต่เมื่อผมได้มีโอกาสอ่านความเห็นชิ้นหนึ่งของ อ.เกษียร เตชะพีระ ที่นำเสนอในลักษณะที่แสดงความเข้าใจต่อ
เป้าหมาย แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ โดยมองว่าวิธีการเช่นนั้นนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังตกอยู่ในตรรกกะเดียวกับระบบทุนนิยมที่ต้องการจะทำลาย aura (ความศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง รัศมี ฯลฯ) ของงานศิลปะหรือวัตถุทางวัฒนธรรมทั้งหลาย โดยการแปลงคุณค่าหรือนำเข้าสู่ “กระบวนการทำให้เป็นสาธารณ์” หรือถ้าใช้คำของ อ. เกษียรคือ
“สาธารณกรรม” (profanation) เพื่อหากำไรในโลกทุนนิยม

แม้วิวาทะนี้จะจบไปแล้วอย่างรวดเร็ว อันเป็นธรรมชาติของวิวาทะในโลกออนไลน์ทั่วไปที่มักจะมาแรงแต่ไปเร็ว แต่โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าความเห็นของ อ. เกษียร ยังคงสำคัญและน่าสนใจอยู่ (แม้ว่าจะเหนือความคาดหมายสำหรับผม) และควรค่าแก่การนำมาอภิปรายและเขียนถึงในบทความนี้
****