สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “เรื่องขุนช้างขุนแผนเอามาเล่าเป็นนิทานกันเสีย
ช้านานหลายร้อยปี” แล้วตำราเรียนวรรณคดีไทยก็ว่าตามท่านว่า กล่าวคือเสภาเรื่องนี้เริ่มในจารีตวรรณกรรม
บอกเล่า (วรรณกรรมมุขปาฐะ นิทานมุขปาฐะ) สมัยอยุธยา จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ กวีในราชสำนักได้ปรับให้เป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาภายหลังจึงได้ตีพิมพ์เป็นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ดังที่เรารู้จักกันดีทุกวันนี้
แม้จะเป็นที่รู้กันว่าเสภาเรื่องนี้ (และวรรณคดีไทยอีกหลายเรื่อง) มีจุดเริ่มต้นมาจากจารีตวรรณกรรมบอกเล่า แต่
งานศึกษาเกี่ยวกับจารีตนี้ในภาษาไทยยังมีไม่มากนัก ใน “ตำนานเสภา” ซึ่งเป็นคำนำที่เขียนโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ สำหรับ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดฯ นั้น ตลอดยี่สิบหน้าของพระนิพนธ์ซึ่งว่าด้วยพัฒนาการของเสภาเรื่องนี้ที่เป็นลายลักษณ์ มีการกล่าวถึงวรรณกรรมบอกเล่าแค่บรรทัดเดียวเท่านั้น (คือบรรทัดที่อ้างถึงข้างต้น) นับแต่นั้นมาเกือบร้อยปีก็ไม่ใคร่จะเห็นการวิจัยศึกษาเรื่องเสภาในแง่ของจารีตวรรณกรรมบอกเล่าเช่นกัน ในหนังสือ ร้องรำทำเพลง สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้สาธิตให้เห็นความสำคัญของการขับและการร้องในประวัติวรรณกรรมไทยโดยทั่วไป ทว่าก็เน้นที่ประวัติของวิธีการแสดง ไม่ใช่ที่เนื้อหาของวรรณกรรมหรือวิธีสร้างประกอบเรื่อง
อันที่จริง กล่าวได้ว่าการศึกษาจารีตวรรณกรรมบอกเล่าในภาษาไทยเป็นเรื่องยากยิ่ง เพราะแทบจะไม่มีหลักฐานอะไรเลยนอกจากหลักฐานที่ฝังอยู่ในเรื่องเอง แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องใด เรื่องนั้นก็มักจะไม่ได้รับการให้ความสำคัญไปเสียด้วย
ในบทความนี้ เราจะพยายามศึกษาเสภาในจารีตวรรณกรรมบอกเล่าด้วยการวิเคราะห์จากหลักฐานที่อยู่ในตัวเสภาเอง โดยเราจะใช้ ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ ซึ่งเราเห็นว่าเหมาะที่จะนำมาศึกษาในแง่จารีตวรรณกรรมบอกเล่า เพราะมีหลายบทที่ดูเหมือนราชสำนักจะไม่ได้ชำระในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ อีกทั้งเราจะศึกษาโดยเปรียบเทียบกับวรรณกรรมบอกเล่าในสังคมอื่น กล่าวคือกรณีของนักวิจัยชาวอเมริกันซึ่งไปศึกษาจารีตวรรณกรรมบอกเล่าที่ยุโรปตะวันออกเมื่อประมาณ 80 ปีที่แล้วและได้วิเคราะห์กลวิธีและขนบของจารีตดังกล่าวไว้อย่างลึกซึ้งและน่าสนใจ
ในส่วนแรกของบทความ เราจะแนะนำ ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ ซึ่งในปัจจุบันแทบจะไม่มีคนรู้จักแล้ว โดยจะจำแนกเเป็นสามภาคที่มีประวัติต่างกัน ส่วนที่สอง เราจะอธิบายวิธีวิเคราะห์วรรณกรรมบอกเล่าของ อัลเบิร์ต บี. ลอร์ด (Albert B. Lord) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และชี้ให้เห็นว่าคุณลักษณะของวรรณกรรม
บอกเล่าซึ่งลอร์ดเสนอว่ามาจากกลวิธีที่นักเล่านิทานใช้เพื่อจดจำและผลิตซ้ำเรื่องนั้น สามารถพบได้ในเสภา ขุนช้างขุนแผน เช่นกัน ส่วนที่สามจะพิจารณาวิธีพัฒนาคุณภาพของเนื้อเรื่องในจารีตวรรณกรรมบอกเล่าและที่มาของวรรณกรรมที่เรียกว่า “คลาสสิก” และสุดท้ายจะเสนอข้อคิดเกี่ยวกับประวัติเรื่องขุนช้างขุนแผนจากอดีตถึงปัจจุบัน