ไม่นานหลังการประท้วงผละงานในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2453 กระทรวงมหาดไทยได้รวบรวมรายชื่อบรรดาผู้ยุยงปลุกปั่นที่จะต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศ เอกสารของกระทรวงระบุถึง “ชาติ” ของผู้ถูกกล่าวหา ความผิด และผลสอบปากคำโดยกองตระเวนแผนกจีน แต่ละคนมีหมายเลขกำกับและมีคำว่า “จีน” นำหน้าชื่อ เช่น จีนเงิน, จีนฮะ, จีนเหว่, และจีนเท้ง หนึ่งในนั้นมีรายชื่อหมายเลข28 คือ จีนฟอง ฟองเป็นฮากกาหรือจีนแคะ ที่สารภาพว่าได้ก่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงด้วยการขว้างปาก้อนอิฐใส่คนลากรถคนหนึ่งและคุกคามให้เขาหยุดลากรถ ในช่วงการประท้วงผละงานครั้งนี้มีรายงานว่าเกิดความรุนแรงขึ้นไม่น้อย เอกสารชิ้นนี้ระบุถึงอีกหลายคนที่รับสารภาพว่าได้กระทำการข่มข่ปลุกปั่นในลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งหมดมี“เชื้อชาติ” แตกต่างกันไปคือ แคะ แต้จิ๋ว ไหหลำ และกวางตุ้ง แต่ก็มีแซ่เดียวกันหมดคือ จีน ขณะที่ลักษณะการจัดจำพวกในบัญชีรายชื่อบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญกับเชื้อชาติและสัญชาติของทางการในการจัดจำแนกประชากร เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าฟองได้ใช้คำว่า “จีน” เพื่อระบุตัวตนของเขาเองหรือไม่ ไม่ปรากฏบันทึกหลักฐานใดเกี่ยวกับตัวเขาในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ บทความนี้จึงหันไปหาแหล่งข้อมูลอีกแหล่งหนึ่ง นั่นคือสภาพแวดล้อมที่คนอย่างฟองและจีนอพยพคนอื่นๆ สร้างขึ้นในกรุงเทพฯในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อดูว่ากรุงเทพฯยุคต้นศตวรรษที่ 20 ได้พัฒนากลายเป็นเมืองสองเมืองที่ซ้อนอยู่ในพื้นที่เดียวกันได้อย่างไร เมืองหนึ่งคือเมืองหลวงของรัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตยภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกเมืองคือเมืองท่าที่กำลังเจริญเติบโต ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนอพยพและคนอื่นๆที่ปราศจากสัญชาติและเชื้อชาติชัดเจน และอยู่ใต้กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต
บทความนี้เสนอว่า การดำเนินการรณรงค์ทั้งในทางรูปธรรมและในทางถ้อยคำได้เกิดขึ้นในช่วงการประท้วงผละงานเมื่อปี พ.ศ. 2453 ซึ่งทำให้เมืองทั้งสองและประชากรของทั้งสองเมืองถูกสร้างให้มีลักษณะเฉพาะทางเชื้อชาติเพื่อให้เป็นไปได้ที่จะควบคุมการสั่งสมอำนาจทางการเมืองของผู้อพยพที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อสร้างการสนับสนุนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และการลงทุนต่างๆในการพัฒนาเมืองของราชสำนัก