รักเอย : สิ่งที่พูดไม่ได้ไม่ได้พูด

ผมต้องสารภาพว่าแม้จะได้ยินกิตติศัพท์มานานพอสมควรเกี่ยวกับหนังสือ รักเอย ของคุณรสมาลิน
ตั้งนพกุล จากคนรอบข้างซึ่งล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นหนังสือที่ต้องอ่านให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่กล้าหยิบหนังสือเล่มนี้ขี้นมาอ่าน เพราะกลัวอยู่ลึกๆในใจว่าหากได้อ่านแล้วคงมิอาจกลั้นน้ำตาไม่ให้ซึมออกมาได้ และเมื่อรวบรวมกำลังใจเปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ในท้ายที่สุด ก็มิใช่เรื่องเกินความคาดหมายแต่อย่างใดที่น้ำตานั้นก็ไหลตั้งแต่ยังอ่านไม่จบเล่ม

แต่แม้ขณะที่ต้องอ่านด้วยอาการกลั้นใจและกลั้นน้ำตาเช่นนั้น ผมพบว่าหนังสือเล่มนี้มีสิ่งที่เหนือความคาดหมายของผมอยู่หลายประการ และนี่คือสิ่งที่ผมอยากจะถ่ายทอดสู่กันฟัง

หนังสือ รักเอย ของคุณรสมาลิน ตั้งนพกุล เป็นหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพของคุณอำพล ตั้งนพกุล หรือที่รู้จักกันดีในนาม “อากง” ซึ่งถูกจับกุมคุมขังในข้อหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2), (3) ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกตัดสินโดยศาลอาญาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ว่ามีความผิดจริงและให้จำคุกตามความผิดสี่กระทง กระทงละห้าปี รวมเป็นโทษจำคุก 20 ปี

ท่อนหนึ่งของคำพิพากษาครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้ให้เหตุผลประกอบการตัดสินไว้ว่า

แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้อง […] แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดที่มีลักษณะร้ายแรงดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ ทั้งจะอาศัยโอกาสกระทำเมื่อไม่มีผู้ใดรู้เ ห็น จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน ซึ่งจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดซึ่งบ่งชี้อย่างใกล้ชิดและสมเหตุสมผลโดยไม่มีข้อพิรุธใดๆ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดประกอบกันจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า ในช่วงเวลาเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความตามฟ้อง […] ซึ่งข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่เป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และเป็นการใส่ความหมิ่นประมาท โดยประการที่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติยศต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง […] จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

ระหว่างต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลอาญา และอยู่ในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ คุณอำพลได้ถึงแก่กรรมใน
เรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 โดยผลการชันสูตรสรุปว่าคุณอำพลเสียชีวิตจากหัวใจ
ล้มเหลว อันเป็นผลสืบเนื่องจากอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งในตับซึ่งแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย

ดังที่ทราบกันดี คดีของคุณอำพล หรือที่เรียกกันว่า “คดีอากง” นั้น เป็นหนึ่งในคดีตามมาตรา 112 หรือที่เรียกกันลำลองว่า “คดีหมิ่นฯ” ที่สั่นสะเทือนสามัญสำนึกและมโนสำนึกมากที่สุดคดีหนึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีข่าว “อากง” ถูกจับเพราะส่งข้อความเอสเอ็มเอสไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการของนายอภิสิทธ์ิ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยสามัญสำนึกของคนโดยทั่วไปก็ยากจะปักใจเชื่อว่า
ชายชราเชื้อสายจีนวัยหกสิบกว่าผู้นี้จะสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความตามที่ถูกกล่าวหาได้ อีกทั้งผู้รับ
ปลายทางก็มิใช่คนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป มิพักต้องพูดถึงว่า “อากง” จะเอาปัญญาที่ไหนไปล่วงรู้เบอร์โทรศัพท์ของผู้รับได้

ครั้นเมื่ออ่านคำพิพากษาของศาลโดยเฉพาะในท่อนที่ยกมาในที่นี้ ก็ยิ่งดูจะสวนทางกับหลักนิติธรรมสากลที่ถือว่า
ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธ์ิจนกว่าโจทก์จะสามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัยว่าผิดจริง หาไม่แล้วต้องยกประโยชน์ให้ผู้ถูกกล่าวหา แต่ในคดีอากง ดูเหมือนว่าศาลจะใช้หลักที่กลับตาลปัตร กล่าวคือเมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถพิสูจน์จนสิ้นสงสัยในความบริสุทธ์ิของตนได้ ดังนั้นจึงยกประโยชน์ให้โจทก์ คือถือว่าผู้ต้องหามีความผิดตามฟ้อง ยิ่งไปกว่านั้นโทษจำคุกที่ศาลตัดสินโดยกำหนดโทษสูงสุดตามกฎหมายคือกระทงละห้าปี ส่งข้อความสี่ข้อความถือเป็นสี่กระทง จึงตัดสินให้จำคุกคุณอำพลรวมทั้งสิ้น 20 ปีนั้น ในมโนสำนึกของวิญญูชนย่อมรู้สึกว่านี่เป็นโทษทัณฑ์ที่ไร้มนุษยธรรมและไร้การุณยธรรม และรุนแรงสาหัสเสียยิ่งกว่าอาชญากรในคดีฆาตกรรมบางรายเสียอีก

ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่การเสียชีวิตของคุณอำพลขณะถูกจับกุมคุมขัง ย่อมสร้างความสะเทือนใจไม่น้อยแก่
ผู้ได้ยินได้ฟังเรื่องราวความเป็นมาของเขา และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมไม่กล้าจะหยิบหนังสือ รักเอย อันเป็นหนังสือบันทึกของคุณรสมาลิน ตั้งนพกุล ภรรยาของคุณอำพลที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมามากกว่าสี่สิบปีตราบจนกระทั่งคุณอำพลต้องมาจบชีวิตของเขาลงเพราะข้อความเอสเอ็มเอสสี่ข้อความ ทุกวันนี้แค่นึกถึงภาพผู้ชุมนุม
กลางถนนถูกยิงจนล้มตายคนแล้วคนเล่าดั่งใบไม้ร่วง ก็ชวนให้หดหู่เกินกว่าจะครองใจให้เป็นปกติสุขได้ หากจะต้องมารับรู้รายละเอียดเรื่องราวชีวิตของคุณอำพลและคุณรสมาลิน ผมไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใดสามารถข่มใจมิให้รู้สึกสะท้านไหวไปกับชะตากรรมที่พวกเขาได้ประสบ