สันติศึกษากับความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมในสังคมไทย

ในฐานะผู้ศึกษาด้านวรรณกรรม หัวข้อเรื่องความรุนแรงของวัฒนธรรมและวัฒนธรรมของความรุนแรงเป็นประเด็นที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดและไกลตัวที่สุดในเวลาเดียวกัน ใกล้ตัวเพราะเรื่องราวในวรรณกรรมทุกยุคทุกสมัยล้วนเต็มไปด้วยความรุนแรงหลายหลากรูปแบบ ไล่เรียงตั้งแต่มหากาพย์ว่าด้วยสงครามระหว่างนครรัฐที่ฆ่ากันเป็นว่าเล่น ละคร โศกนาฏกรรมที่ขุนนางสังหารกษัตริย์ พ่อฆ่าลูก พี่ฆ่าน้อง อาฆ่าหลาน ผัวฆ่าเมีย นวนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวชาวทาสที่ถูกกระทำย่ำยี ทั้งจากนายทาสผิวขาวและจากทาสด้วยกันเอง มาจนถึงบทกวีที่เผยให้เห็นความโหดร้ายของธรรมชาติและมนุษย์ผ่านปรากฏการณ์สิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวัน กระนั้นก็ตามทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องไกลตัวอย่างยิ่ง เพราะหากพูดกันให้ถึงที่สุดแล้ว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวรรณกรรมเป็นได้อย่างมากที่สุดก็เพียงสิ่งสมมติ ผู้คนล้มตายเป็นผักปลาในมหากาพย์เรื่องหนึ่งอย่างมากก็เป็นแค่การตายผ่านตัวอักษรบนแผ่นกระดาษ เลือดที่ไหลนองท่วมแผ่นดินเป็นได้อย่างมากที่สุดก็เพียงในจินตนาการขณะเมื่ออ่าน ยิ่งกว่านั้นปราชญ์บางท่านยังมองความรุนแรงที่ปรากฏในบทละครโศกนาฏกรรมว่าเป็นทิพยโอสถช่วยเยียวยาจิตวิญญาณ โศกนาฏกรรมของตัวละครทำหน้าที่ล้างอารมณ์และชำระจิตใจของผู้ชมให้ผ่องแผ้วยิ่งขึ้น

[…]

เราอาจเริ่มด้วยการย้อนกลับไปทบทวนแนวคิดเรื่องความรุนแรงของนักสันติศึกษาซึ่งได้ชื่อว่าทรงอิทธิพลมากผู้หนึ่งในปัจจุบัน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักสันติศึกษาในเมืองไทย เขาผู้นี้คือ โยฮัน กัลตุง สำหรับนักสันติศึกษาแล้วสิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้น่าจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน อย่างไรก็ตามขอให้ถือว่ามะพร้าวห้าวที่จะนำมาขายนี้ ได้ผ่านการปรับแต่งสายพันธุ์ให้เข้ากับจริตส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งเป็นคนหูหนาตาเถื่อนนอกวงการสันติศึกษาในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง ไม่แน่ใจว่ารสชาติมะพร้าวห้าวปรับแต่งสายพันธุ์ใหม่นี้จะถูกปากหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะห้าวสมชื่อ