สงครามชิงทำเนียบ

วันที่ 31 มีนาคม 1990 หลังจากใช้เวลาประชุมนานกว่าสองชั่วโมง สภามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดได้มีมติด้วยคะแนนเสียง 39 ต่อ 4 ให้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาวิชา “วัฒนธรรมตะวันตก” นี่น่าจะเป็นเพียงการตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรวิชาซึ่งเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ควรค่าแก่การจดจำใดๆ ทั้งสิ้น และน่าจะจมหายไปในแฟ้มรายงานการประชุมฝุ่นจับหนาเตอะในห้องเก็บเอกสารใต้ดิน หากวิชา “วัฒนธรรมตะวันตก” ที่ว่านี้จะไม่ใช่วิชาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนว่ามีอคติและลำเอียงทางสีผิวและทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง

มติดังกล่าวได้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับชาติ ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารเล่มสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น นิวยอร์ก ไทม์ส, วอชิงตัน โพสต์, เดอะวอลล์สตรีท เจอร์นัล, ชิคาโก ทริบูน, แอล. เอ. ไทม์ส, ไทม์ แมกาซีน, นิวส์วีค ฯลฯ พร้อมกับปฏิกิริยาทั้งสนับสนุนและต่อต้านจากบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย นักการศึกษา นักศึกษา นักเขียน หรือกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐอเมริกา

มติดังกล่าวคือการประกาศสงครามชิงทำเนียบวรรณกรรมอย่างเป็นทางการ ที่ส่งผลสะเทือนอย่างใหญ่หลวงต่อการอ่าน การศึกษา และการวิจารณ์วรรณกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา

…การเคลื่อนไหวให้มีการทบทวนรายชื่อหนังสือและวรรณกรรมที่ใช้เรียนและสอนในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและที่อื่นๆ ตลอดจนกระแสต่อต้านคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างแข็งขันจากกลุ่มนักวิชาการบางส่วน ชี้ให้เห็นนัยยะสำคัญของรายชื่อหนังสือและวรรณกรรม หรือที่เรียกกันว่า ทำเนียบหนังสือและวรรณกรรมดีเด่น (literary canon) นี่มิใช่การถกเถียงเพียงเพื่อหาข้อสรุปว่าหนังสือและวรรณกรรมเล่มใดควรจะนำมาใช้สอนในห้องเรียน เพราะลึกๆ แล้วนี่เป็นการต่อสู้ขับเคี่ยวกันเชิงการเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยอัตลักษณ์และระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม นี่คือสงครามช่วงชิงการนิยามและกำหนดคุณค่าทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญในสังคมอเมริกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่การเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงทศวรรษ 80 นี้จะได้รับการขนานนามว่า สงครามวัฒนธรรมและสงครามทำเนียบวรรณกรรม

…ลิลเลี่ยน เอส. โรบินสัน นักวิจารณ์แนวเฟมินิสต์ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงทำเนียบวรรณกรรมดีเด่นของอเมริกาไว้ว่า ทำเนียบฯ ดังกล่าวมิได้มีตัวตนชัดเจนอย่างเป็นทางการ ไม่เคยมีสถาบันแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง สมาคม หรือสโมสรแห่งชาติใดๆ ที่จะประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าวรรณกรรมดังมีรายชื่อต่อไปนี้จัดให้อยู่ในทำเนียบฯ ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติใดๆ เพื่อมาตัดสินว่าหนังสือเล่มใดควรจะอยู่หรือไม่อยู่ในทำเนียบฯ ทั้งไม่มีการตั้งหน่วยงาน คณะกรรมการ หรือบุคคลใดๆ มาทำหน้าที่สอดส่องดูแลเพื่อบังคับให้สถาบันการศึกษาสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ หรือผู้อ่านทั่วไป ต้องนำหนังสือที่อยู่ในทำเนียบฯ มาสอน พิมพ์จำหน่าย หรือซื้ออ่าน กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวกับทำเนียบวรรณกรรมดีเด่นมีลักษณะเป็น “สัญญาสุภาพบุรุษ” ที่รับรู้กันอยู่ในที โดยไม่ต้องมีลายลักษณ์อักษรหรือหน่วยงานรัฐมาดำเนินการ โรบินสันเสนอว่าลักษณะที่ไม่เป็นทางการ จับไม่มั่นคั้นไม่ตายของทำเนียบวรรณกรรมฯ ได้สร้างอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวตรวจสอบและวิพากษ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะฝ่ายที่ลุกขึ้นมาวิพากษ์ มักจะโดนกล่าวหาว่าเป็นพวกจิตหวาดระแวงกังวลเกินเหตุ หรือไม่ก็เป็นโรคประสาท คิดมากตีโพยตีพายเกินจริง

ในบ้านเราปรากฏการณ์ว่าด้วยทำเนียบวรรณกรรมน่าจะเป็นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่แรกเริ่มทำเนียบวรรณกรรมดีเด่นในประเทศไทยมีตัวตนชัดเจนและเป็นทางการอย่างยิ่ง ถึงขนาดมีพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร (พ.ศ. 2457) และแต่งตั้งคณะกรรมการวรรณคดีสโมสรเพื่อคัดเลือกและประกาศยกย่องหนังสือที่ถือเป็นแบบฉบับของหนังสือที่แต่งดี หรือเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคณะนักวิจัยพร้อมคณะกรรมการผู้ชี้ทิศทางภายใต้การสนับสนุนด้านการเงินอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐ ลุกขึ้นมาประกาศรายชื่อหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ยังไม่นับกระทรวงศึกษาธิการที่ทยอยประกาศรายชื่อหนังสืออ่านนอกเวลา หรือประกาศยกย่องหนังสือดีเด่นเป็นประจำทุกปี และที่ตรงกันข้ามกับปัญหาของทำเนียบวรรณกรรม

ดีเด่นในอเมริกาอีกประการหนึ่งคือ แม้ว่าการจัดทำเนียบฯ จะกระทำกันอย่างเป็นทางการ แต่กระแสวิพากษ์ทำเนียบฯ กลับแผ่วเบาและอ้างว้างอย่างยิ่ง ราวกับว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนยอมรับโดยดุษณีว่าทำเนียบวรรณกรรมฯ ที่ประกาศยกย่องกันอย่างเอิกเกริกนี้ถูกต้องและเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ก็อาจจะเป็นในทิศทางตรงกันข้ามคือทำเนียบวรรณกรรมฯ ที่ว่าเหล่านี้หาได้มีพลังใดๆ ทั้งสิ้นในสังคมไทย ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายจึงพร้อมใจกันเพิกเฉยและไม่แยแสกับทำเนียบฯ