ก็ถ้าเรารับหลักการไม่ได้ วิธีการก็รับไม่ได้ ซ้ำยังรับคุณภาพของกรรมการส่วนใหญ่ไม่ได้เสียแล้ว เราจะไปรับคุณภาพของงานที่ผ่านการให้รางวัลอันนั้นได้อย่างไร โดยเฉพาะ เขาชื่อกานต์ของ สุวรรณี สุคนธา นี้
ผู้เขียนบอกกับข้าพเจ้าโดยตรงเลย ว่าเป็นงานชิ้นที่เจ้าตัวไม่ภูมิใจเลย ถ้าจะให้รางวัลเธอ ควรเลือกงานเธอที่ดีกว่านี้
หน้า “ศิลปบันเทิง” ของ น.ส.พ. ไทยรัฐ ประจำวันที่ 1 พ.ค. 2514 พาดหัวตัวใหญ่เต็มหน้าว่า “‘เขาชื่อกานต์’ คือวรรณกรรมยอดเยี่ยม สปอ.” เนื้อหาข่าวระบุว่า คณะกรรมการตัดสินมีมติให้ เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยม สปอ. ประจำปี 2513 แต่เพียงเล่มเดียว คณะกรรมการได้กล่าวยกย่อง เขาชื่อกานต์ ไว้ว่า
เป็นนวนิยายที่ใช้ภาษาและมีสำนวนสละสลวย มีประโยชน์ต่อคนอ่านให้ได้รับความจูงใจจากตัวอย่างที่ดีของผู้ทำความดีเสียสละในการดำเนินชีวิตที่มีคุณธรรมมีส่วนส่งเสริมการสร้างสรรค์และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว เป็นนวนิยายที่หาได้ไม่ง่ายนักในจำนวนนวนิยายปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวยังได้ให้รายละเอียดกระบวนการตัดสินรางวัลนี้ว่า เริ่มจากกรรมการคัดเลือกเสนอชื่อหนังสือจากวรรณกรรม 4 ประเภท คือ สารคดี นวนิยาย กวีนิพนธ์ และเรื่องสั้น ให้กรรมการตัดสินพิจารณา รายชื่อหนังสือผ่านการคัดเลือกในปีนั้นมีอาทิ ประเภทสารคดี เฉลิมพระเกียรติพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดย อุดม ประมวลวิทยา, พลายมงคล โดย ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ประเภทนวนิยาย โอ้…มาดา ของ สีฟ้า, เลือดขัตติยา ของ
ลักษณาวดี, ฟ้าเปลี่ยนสี ของเพ็ญแข วงศ์สง่า ประเภทบทกวี กวีบางบท ของ อังคาร กัลยาณพงศ์, จันทร์เจ้า ของ กุลทรัพย์ รุ่งฤดี ประเภทเรื่องสั้น “ดัดลิ้นหนังตะลุง” และ “ตั้งเมือง” ของ ภิญโญ ศรีจำลอง และ “นี่แหละผลกรรม” ของ ท. เลียงพิบูลย์
การประกาศให้ เขาชื่อกานต์ ของสุวรรณี สุคนธา เป็นวรรณกรรมยอดเยี่ยมประจำปี 2513 ของ สปอ. (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คงจะไม่กลายเป็นเรื่องฮือฮาในวงวรรณกรรมไทยขณะนั้น หาก
สุลักษณ์ ศิวรักษ์ จะไม่ออกมาวิจารณ์รางวัลนี้อย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะประเด็นเรื่ององค์ประกอบและการได้มาของคณะกรรมการชุดต่างๆ ตลอดจนกระบวนการคัดเลือกเรื่องและการตัดสิน (จากรายชื่อหนังสือที่ผ่านการคัดเลือกซึ่งมีความแตกต่างกันมากในเชิงคุณภาพ ไม่น่าประหลาดใจในคำตำหนิอย่างไม่ไว้หน้าของสุลักษณ์) สุลักษณ์ยังได้ตำหนิองค์การ สปอ. ว่า ขาดความจริงใจและความตั้งใจจริงในการสนับสนุนวรรณกรรม เงินรางวัลที่จัดสรรให้ก็น้อยนิด เป็น “เงินเหลือจากงบประมาณทางทหารที่ซื้อปืนกลก็ไม่พอกระบอกเสียแล้ว เลยโยนมาให้”
เสียงสะท้อนจากปัญญาชนสยามนามสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ดูจะไม่ส่งผลสะเทือนใดๆมากนัก ดังจะพบว่าในปีถัดมายังคงมีการมอบรางวัล สปอ. เช่นเคย ในทำนองเดียวกัน นวนิยาย เขาชื่อกานต์ ที่สุลักษณ์อ้างว่าผู้เขียนไม่ภูมิใจเลย นับวันก็จะได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างกว้างขวาง กลายเป็นหนึ่งในนวนิยายชิ้นเอกที่คนจดจำได้มากกว่าเล่มอื่นๆของสุวรรณี เรื่องราวของกานต์ ผู้เลือกไปทำงานเป็นหมอประจำอนามัยในพื้นที่ทุรกันดารและต้องจบชีวิตลงเพราะถูกนายอำเภอสั่งเก็บ น่าจะสร้างความประทับใจในหมู่ผู้อ่านยุคนั้นไม่น้อย จนมีผู้นำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์หลายครั้ง ยิ่งไปกว่านั้นในภายหลังยังได้รับการคัดเลือกจากคณะวิจัยของวิทยากร เชียงกูล ให้เป็น “หนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน”
อย่างไรก็ตาม บทความของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีคุณูปการสำคัญช่วยกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงประเด็นเรื่องคุณค่าและความหมายของนวนิยายเล่มนี้อย่างจริงจัง มากกว่านวนิยายเล่มอื่นๆที่ได้รับรางวัลเดียวกันนี้ (เรือมนุษย์ ของกฤษณา อโศกสิน ในปี 2511, จดหมายจากเมืองไทย ของโบตั๋น ในปี 2512 และ ก่อนตะวันตกดิน ของ กฤษณา อโศกสิน ในปี 2514 อันเป็นปีสุดท้ายที่มีการมอบรางวัลนี้) วารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับเดียวกันกับที่มีบทความของสุลักษณ์ ได้ตีพิมพ์บทความของสิทธา พินิจภูวดล “ทำไมคณะกรรมการจึงเลือก เขาชื่อกานต์ ของ
สุวรรณี” แจกแจงกระบวนการตัดสินของกรรมการ พร้อมกับอภิปรายคุณค่าด้านต่างๆ ของนวนิยายเล่มนี้ทั้งในแง่ของกลวิธีการประพันธ์ และเนื้อหาที่ “ทิ้งร่องรอยภูมิปัญญาคติเตือนใจ เร้าใจให้คนทำความดีเสียสละแก่สังคมและเป็นตัวอย่างที่ยึดถือตามได้” ในช่วงไล่เลี่ยกัน “มโหทร” (นามแฝง) ได้เขียนบทวิจารณ์เชิงลำลอง สาธยายคุณสมบัติเด่นของนวนิยายเล่มนี้ทั้งในด้านฉาก ตัวละครและเนื้อหาที่มุ่งปฏิรูปสังคม โดยเฉพาะระบบราชการที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยการฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้จะติติงความไม่สมจริงบางประการของโครงเรื่อง แต่ “มโหทร” สรุปว่า “คุณ
สุวรรณี สุคนธา ควรนับได้ว่าเป็นผู้หนึ่ง ซึ่งช่วยยกระดับนวนิยายแบบเพ้อฝัน (Romantic) ให้มาเป็นแบบชีวิตจริง (Realistic) ทำให้เป็นการก้าวตามอารยประเทศได้อีกก้าวหนึ่ง ไม่ล้าหลังเขาตั้งหลายร้อยปีอย่างนวนิยายอื่นๆที่มีอยู่เป็นส่วนมากทุกวันนี้” จากนั้นไม่นาน นิตยา มาศะวิสุทธิ์ และ วันเพ็ญ จันทรวิโรจน์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์ความเป็นคนนอกสังคมของหมอกานต์ โดยชี้ว่านวนิยายต้องการนำเสนอ “ความขัดแย้งระหว่างคุณค่าของตัวเอกคือหมอกานต์กับคุณค่าของสังคม” และเช่นเดียวกับ “มโหทร” บทความสรุปว่า “สุวรรณี สุคนธา ได้พัฒนานวนิยายไทยสู่ก้าวใหม่อีกก้าวหนึ่ง หมอกานต์ไม่มีลักษณะของความเป็น‘พระเอก’ตามรูปแบบของนวนิยายไทยโดยทั่วไป เขาไม่ใช่หนุ่มนักเรียนนอก และก็ไม่ใช่เด็กบ้านนอกที่เข้ามาได้ดีในกรุง รูปร่างหน้าตาของเขาไม่มีอะไรสะดุดตาพอที่จะมีผู้ชมหรือกล่าวถึง”
จะเห็นว่าปฏิกิริยาตอบรับส่วนใหญ่ภายหลังการได้รับรางวัล เน้นไปยังมิติใหม่ทางวรรณกรรมของนวนิยายเล่มนี้ที่สลัดตัวเองจากนวนิยายประโลมโลกที่เขียนกันเกร่อในยุคนั้น เมื่อเวลาผ่านไปร่วม 30 ปี กมล กมลตระกูล สมาชิกในทีมวิจัย “หนังสือดีร้อยเล่มที่คนไทยควรอ่าน” ที่ประกาศให้นวนิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดี ยังได้พูดถึง “ก้าวใหม่” ของนวนิยายเล่มนี้ไว้เช่นกัน แต่มิใช่ในแง่ของการสร้างตัวละคร หากเป็นในแง่ทิศทางวรรณกรรม ทั้งนี้อาศัยประโยชน์จากการมองย้อนกลับไปดูทิศทางวรรณกรรมในช่วงดังกล่าว กมลได้เสนอว่า เมื่อพิจารณาจากบริบทสังคมภายใต้เผด็จการทหารยุคถนอม-ประภาส ที่นวนิยายส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น “วรรณกรรมน้ำเน่า” วนเวียนอยู่กับเรื่องความรักหนุ่มสาวประเภทพ่อแง่แม่งอนแล้ว “เขาชื่อกานต์ เป็นงานที่มีลักษณะเป็นหลักเขตของประวัติศาสตร์วรรณกรรมในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองกำลังจะสุกงอมในอีก ๓ ปีต่อมา ในกรณีนักศึกษาประชาชนเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ๑๔ตุลาคม ๒๕๑๖ อันเป็นผลให้ประชาชนได้รับระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาจากระบอบคณาธิปไตย” น่าเสียดายว่ากมลมิได้ขยายความประเด็นเรื่องหลักเขตหรือหลักไมล์มากไปกว่าที่ยกมาข้างต้น ทั้งยังมิได้นำเสนอประเด็นแปลกใหม่ไปมากกว่าที่บทความของสิทธาและนิตยากับ
วันเพ็ญได้เสนอมาแล้ว (ควรกล่าวว่าทั้งที่เขียนบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ร่วม 30 ปี หลังจากบทความสองชิ้นแรก สิ่งที่กมลวิเคราะห์นั้นน้อยกว่าที่บทความสองชิ้นนี้ได้เสนอไว้ด้วยซ้ำไป เมื่ออ่านแล้วไม่ชวนให้ปักใจเชื่อว่า ทำไมจึงต้องเป็นหนึ่งในร้อยของหนังสือที่คนไทยควรอ่าน)
ปฏิกิริยาตอบรับนวนิยายเล่มนี้สามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า เขาชื่อกานต์ มีความโดดเด่นทั้งในด้านความแปลกใหม่ของการนำเสนอและความเข้มข้นของเนื้อหาเกี่ยวกับอุดมคติของคนหนุ่มสาว แม้จะผูกเรื่องให้เหมือนนวนิยายรักสามเส้า แต่ เขาชื่อกานต์ มีสำเนียงแปร่งแปลกอย่างชัดเจนจากนวนิยายรักทั่วไป โดยเฉพาะฉากชนบทในเรื่องมิได้เป็นเพียงฉากหลังให้ตัวพระและตัวนางไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ พลอดรัก หรือสมานแผลใจ แต่นำเสนอปัญหาต่างๆที่คนในชนบทต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนหมอยามเจ็บไข้ได้ป่วย และการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การฉ้อราษฎร์บังหลวงของข้าราชการในพื้นที่ และที่ตราตรึงใจผู้อ่านมากที่สุดน่าจะเป็นตัวละครเอกของเรื่องคือกานต์ ในฐานะหมอนักอุดมคติผู้เสียสละความสุขส่วนตัวและครอบครัว อุทิศชีวิตเพื่อรักษาชาวบ้านในชนบทจนตัวเองต้องมาเสียชีวิตในท้ายที่สุด จารีตของวรรณกรรมที่นำเสนอปัญหาสังคมโดยเฉพาะปัญหาความยากจนในชนบทใช่ว่าจะไม่เคยปรากฏในแวดวงวรรณกรรมไทย แต่ดังที่ทราบกัน ภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจของสฤษดิ์ในปี 2501 ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จของกลุ่มทหารต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี ส่งผลให้วรรณกรรมแนวดังกล่าวโดยเฉพาะในรูปของนวนิยายแทบไม่มีที่ยืนในสังคม การปรากฏตัวของ เขาชื่อกานต์ ในช่วงปี 2513 จึงกลายเป็นเรื่องแปลกใหม่และได้รับการตอบรับค่อนข้างดี เปรียบประดุจแสงหิ่งห้อยในคืนอันมืดมิด