…compleately ?

ชล เจนประภาพันธ์ จบบทวิจารณ์นิทรรศการภาพถ่าย How to disappear completely ? ด้วยประมวลความคิดที่ว่า

ในหลายๆ กรณี การพินิจภาพถ่ายดูราวกับว่าจะต้องทำให้ภาพระเหิดหายกลายเป็นไอ เพราะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับภาพถ่ายมักเป็นเรื่องจับต้องไม่ได้… ความทรงจำ เวลา ความรู้สึก อารมณ์ ฯลฯ ถูกบีบอัด กัดเซาะอยู่ในภาพถ่าย จนล้นฟูมฟายเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการสร้างชีวิตแก่ภาพถ่ายให้ดำรงอยู่ บางทีเราอาจต้องยอมสูญเสียเหตุผลบางอย่าง (จนบางครั้งอาจต้องทำความเสียหายให้กับขนบ) How to disappear completely ? ดังที่นิทรรศการนี้ได้ถาม ภาพลักษณ์เมื่อถูกกัดเซาะ กร่อนกลายด้วยคำถาม และความรู้(สึก) การหายไปอย่างไร้ร่องรอยด้วยการระเหิดจะทำให้ภาพถ่ายได้กำเนิดอีกครั้งในรูปแบบที่ต่างออกไป

{เชิงแทรก: ชล เจนประภาพันธ์, “How to disappear completely? (กลายเป็นภาพระเหิดที่กำเนิดจากความสูญเสีย)”, ปาจารยสาร, ฉบับที่ 4 ปีที่ 33, ก.ย. – ต.ค. 2552, หน้า 114 – 119. นิทรรศการ How to disappear completely ? จัดขึ้นที่ แมวใจดีแกลเลอรี่ (เชียงใหม่) 29 ส.ค. – 30 ก.ย. 2552 ตรงข้ามกับชล บทวิเคราะห์นี้ไม่ครอบคลุมผลงานทุกชิ้น และบางที เรื่องน่าสนใจก็อาจหลุดรอดจากการเอ่ยถึง อาจจะ disappear ไปจากลายลักษณ์ แต่จะหายไปจากสายตา completely ได้อย่างไร? (อาทิ รูปที่ 1) ไม่อยู่ในสายตาก็เหมือนอยู่ หรือมีอยู่อาจเหมือนไม่มี… }
*
How to – disappear – completely -?
หากถอดคำถามออกเป็นส่วนๆ จะยิ่งเห็นว่าคำถามคงความซับซ้อนที่ไม่อาจตอบแบบรวดเดียวและอย่างรวบรัด How to อย่างไร ? ทำอย่างไร ? ตั้งต้นให้แสวงหาหนทาง วิธีการ กระบวนการ ขั้นตอน ยุทธวิธี ซึ่งอาจรวมไปถึงเทคนิคการปฏิบัติ ทักษะของการจัดการ หรืออาจพาดพิงถึงเหล่าคู่มือ How to… ทั้งหลายแหล่ที่ผุดขึ้นมาในปัจจุบัน สอนเรื่องเฉพาะทางและทั่วไปในขั้นเบื้องต้นเสมือนทางลัดให้รู้ไวขึ้นและฉาบฉวยขึ้น คำถามแบบ How to สามารถผลัดให้ Why ตามมารับภาระสืบเนื่องเพื่อว่าประเด็นทั้งหลายจะไม่ยุติลงกับขั้นตอน กระบวนการ กระทั่ง Who Where หรือ When ก็เป็นตัวเลือกอื่นๆ ที่แฝงใน How to จนสลัดทิ้งไม่หมด และไม่ควรเลี่ยงความเป็นไปได้เหล่านั้น ใคร / ที่ไหน / เมื่อไร / เพราะอะไร ล้วนแต่เคียงข้าง How to เพื่อที่หนทางจะไม่ไร้ซึ่งคน / พื้นที่ / เวลา / เหตุผลคำอธิบาย
*
How to ปักหลักแรกของคำถามที่ยากยิ่งต่อการตอบด้วยกริยา disappear = หาย/ตาย จะหายไปด้วยวิธีใดกับการถ่ายภาพและกับภาพถ่ายทั้งๆ ที่ในความคิดทั่วไปนั้นภาพถ่ายและการถ่ายภาพคือกระบวนการทำให้ปรากฏ ? พาดพิงไปยัง appear และกลบทับขั้นตอนของ disappear? แล้วจะตายไปได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ในเมื่อความคิดทั่วไปหรือ cliché ที่ผูกติดกับภาพถ่ายนั้นอิงอยู่กับการทำให้ยังคงมีชีวิตชีวิตที่เป็นอมตะในภาพถ่าย ? จะตายใน/ด้วยภาพถ่ายได้อย่างไร? ยิ่งกว่านั้น แนวโน้มการประเมินคุณค่าโดยทั่วไป (หรือว่าจริงๆ แล้ว “โดยทั่วไป” ต่างหากที่เป็นปัญหา?) มักอิงกับเกณฑ์การมีชีวิตชีวา มีพลวัตของภาพถ่าย แล้วจะ “ตาย” ในภาพถ่ายด้วยหนทางใด ? เมื่อไหร่ ? ที่ไหน ? ใครหรืออะไรหาย / ตายจากไป ? ด้วยเหตุใด ? แล้วทำไมคำถามจึงไม่เป็น How to appear completely ? เพราะไม่มีอะไรยืนยันว่าการปรากฏตน ปรากฏตัว จะยุ่งยากน้อยกว่าการหายหรือตายจากไป disappear เองก็มาจากการเติมอุปสรรค dis ให้ appear อันเท่ากับว่าการหาย /ตาย มาจากการปรากฏ / อยู่ การปรากฏของการไม่ปรากฏมาจากการปรากฏ ต้องให้ dis ปรากฏนำ appear การหายหรือตายจึงปรากฏหรือคงอยู่
*
ดูเหมือนว่าคำวิเศษณ์ท้ายสุดทำให้ประเด็นทั้งหลายยุ่งยากมากขึ้นเพราะทำให้ประโยคคำถามนั้นสุดโต่ง จะหายหรือตายไปอย่างไรโดยสิ้นเชิง ? completely จะสูญสิ้นด้วยวิธีใดอย่างสิ้นเชิง ? (และอาจต้องเติมต่อด้วยว่าอย่างมีเชิง…) หาย / ตายไปโดยสมบูรณ์ได้อย่างไร ? เพราะทุกความคิดเรื่องความสมบูรณ์ บริบูรณ์ หมดจด เกลี้ยงเกลา ล้วนแต่ถูกท้าทายและหักล้างเพื่อประโยชน์จากการเติมต่อ รวมทั้งการสร้างและสรรค์ต่อเนื่อง จุดจบกลายเป็นเพียงจุดประจบกับความคิดใหม่/แตกต่างที่จะตามมา ดังนั้น completely จึงถูกรุกไล่ด้วย incompletely แล้วยังต้องย้อนไปตั้งคำถามต่อประโยคคำถามที่สุดโต่งนั้นว่าสุดโต่งแบบ completely ? หรือ สุดโต่งอยู่ในที (implicitly) ? จะหายหรือตายจากไปอย่างสุดโต่ง คืออย่างสมบูรณ์หรือว่าสุดโต่งอยู่ในที ? ภาพถ่ายแบบสุดโต่ง ภาพที่สื่อเสนอเรื่องสุดโต่ง เรื่องแบบ extreme หรือ extremely สุดโต่ง มีอะไรเป็นเกณฑ์วัดขอบสุดและสุดขั้ว ? (เมื่อกระทบถึงเกณฑ์ก็เห็นคำตอบอยู่รำไร คำตอบสไตล์ cliché ที่ปฏิเสธเกณฑ์ บอก [กัน] ว่าไม่มีเกณฑ์ ไม่ต้องมีเกณฑ์ คำตอบรำไร แบบสุดโต่งอยู่ในที [เช่นกัน]) completely กลายเป็นคำขอบ คำระบุขอบของประโยค คำที่มีนัยถึงความสุดโต่งที่
ไม่สุด
*
เพราะสัญญะสุดท้ายที่ระบุขอบสุดคือเครื่องหมายคำถาม ทว่า “?” ก็ไม่ได้ยุติประโยคให้เป็นเพียงคำถาม “อย่างสิ้นเชิง” ประโยคคำถามในฐานะชื่อนิทรรศการอาจเป็นเพียงคำถามเชิงโวหาร กล่าวคือไม่ต้องการคำตอบเพราะรู้คำตอบแต่ต้น เพราะไม่มีคำตอบแบบสมบูรณ์และ “อย่างสิ้นเชิง” เพราะเป็นเพียงหนทาง (how to) เรียกร้องความสนใจของผู้ชมที่จะมาตอบต่อหน้าภาพต่างๆ ฯลฯ หากคำถามเป็นเพียงโวหารของการตั้งคำถามและของการขานชื่อ นิทรรศการ ประโยคคำถามจึงอาจไม่ได้มีสาระผูกพันกับผลงานที่จัดแสดง รับบทบาทเสมอเหมือน caption ทั่วไปที่คิดขึ้นภายหลัง
*
แต่ภายหลัง ด้อยค่ากว่าก่อนหน้า จนถึงขั้นแปลกปลอมหรือ / และจอมปลอม? โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าบ่อยครั้งชื่อนิทรรศการไม่ได้มาก่อนหรือพร้อมผลงาน ยิ่งเป็นการแสดงกลุ่มด้วยแล้ว ชื่อนิทรรศการอาจไม่ครอบคลุมผลงานทั้งหมด หรือแทบจะไม่เกี่ยวข้องกันเลย ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาภายหลังจนกลายเป็นเพียงคำโปรยที่ไร้บทบาทหลักของการเป็น theme งาน ในทางกลับกันชื่อนิทรรศการสามารถเป็นหลักแรกให้เริ่มต้นประกอบความคิดที่มีต่อผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งชื่อคือการระบุตัวตนอย่างคร่าวๆ สร้างพันธะบางอย่างที่จะมีร่วมกันระหว่างตัวชื่อ และสิ่งที่มีชื่อ
*
ในที่นี้ How to disappear completely ? เป็นทั้งชื่อ คำถาม และโวหาร หรืออาจเรียกว่าเป็นกึ่งชื่อ กึ่งคำถาม กึ่งโวหาร ด้วยว่า “ไม่ปรากฏ” เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแบบ completely และสภาพก้ำกึ่ง กำกวม คร่อมทาง น่าจะเหมาะกับผลงานจากนิทรรศการนี้ นิทรรศการที่ชวนชักให้พิจารณาผลงานจากหมุดคำถามที่ไม่ใช่คำถาม completely ไม่ใช่ชื่อ completely และไม่ใช่โวหาร completely แม้กระทั่งสถานภาพของผลงานก็ดูจะหลีกหลบจากการเป็นภาพถ่ายแบบ completely ซ้ำยังหลบหลีกหิ้งศิลปะที่มักทึกทักให้มากับการจัดแสดงงาน และการหันมาพิจารณาสถานภาพการเป็นภาพถ่ายและสถานภาพของภาพถ่ายในฐานะศิลปะจะช่วยย้อนไปหาคำถามเชิงโวหารนั้น โดยทำให้เห็นว่าผลงาน (ที่เรียกว่า) ภาพถ่าย เหล่านั้นต่างมีส่วนเกี่ยวพันกับทั้งวิธีการ (How to) กับการหายตายไป (disappear) กับเครื่องหมายคำถามตบท้าย
*
ภาพถ่ายอาจหายจากไปในตัวชื่อ ตายไปเพราะมีชื่อ การให้ชื่อกลับไม่ทำให้ปรากฏ ชื่อที่ตั้ง อาจรั้งไว้ให้ disappear
*
completely ?
****