มีแง่มุมที่ต้องการคำอธิบายมากมายในทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ต่อกรณีการวางเพลิงสถานที่หลายแห่งกลางกรุงเทพฯ และสถานที่ราชการในหลายจังหวัด ภายหลังจากที่แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมลงเมื่อบ่ายวันที่ 19 พฤษภาคม 2553
*
แต่ที่ผ่านมา สังคมไทยดูจะสนใจอยากถามเพียงแค่ใครหรือกลุ่มไหนเป็นผู้ก่อเหตุเท่านั้น โดยมีคำอธิบายหลักอยู่ 3 แบบ คือ หนึ่ง เป็นการเผาโดยมีการวางแผนมาตั้งแต่ต้นของกลุ่มแกนนำนปช. สอง เป็นการเผาเพื่อสร้างสถานการณ์ใส่ร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมโดยกลุ่มมือที่สามที่สนับสนุนรัฐหรือโดยฝ่ายรัฐเอง และสามคือ การเผาที่เป็นไปโดยมิได้มีฝ่ายใดวางแผนไว้ล่วงหน้า ไร้การควบคุม เป็นไปเองอย่างไร้ทิศทางของผู้ชุมนุมภายหลังการประกาศยุติการชุมนุม
*
แม้ไม่ปฏิเสธว่าคำถามดังกล่าวสำคัญ แต่โดยส่วนตัวแล้ว คำถามแรกที่น่าสนใจในเหตุการณ์เมื่อเย็นวันที่ 19 พฤษภาคม คือ การเผา Central World มีเป้าหมายในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างไร
*
ผมเข้าใจว่าคนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐ นปช. หรือพวกไม่แสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายไหน) ต่างมีแนวโน้มจะมองว่าการเลือกวางเพลิงในแง่เป้าหมายนั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเอง เป็นการตัดสินใจเฉพาะตัวเฉพาะหน้าหลังการยกเลิกการชุมนุม หรือแม้แต่คนที่เชื่อว่ามีการเตรียมการอย่างดี ก็ยังมีแนวโน้มที่จะมองว่า การเลือกเป้าหมายมีลักษณะที่ไม่ได้คิดในเชิงนัยยะสำคัญทางการเมืองนัก
*
ดังนั้น เมื่อเชื่อว่าเป้าหมายมิได้เกิดขึ้นโดยความตั้งใจอย่างเต็มที่ ประเด็นในเชิงสัญลักษณ์หรือนัยยะทางการเมืองของสถานที่จึงไม่มี และด้วยเหตุนี้ การตั้งประเด็นว่าทำไมต้องเป็น Central World ที่ถูกเผา ทำไมไม่เป็นที่อื่น จึงไม่ถูกถามอย่างซีเรียสแต่อย่างใด
*
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะเสนอก็คือ เป้าหมายของสถานที่ ไม่ว่าจะวางแผนไว้ก่อนโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเป็นไปเองด้วยอารมณ์โกรธพาไปก็ตามนั้น มีนัยยะสำคัญควรแก่การพิจารณาในมิติทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่มีความสำคัญอย่าง Central World
*
ไม่สงสัยหรือครับว่า ทำไมสถานที่ที่ถูกเผาจะต้องเป็นที่นั่นหรือที่นี่ แต่กลับไม่เป็นที่นู้นหรือที่โน้น อะไรเล่าคือแรงผลักดันเบื้องหลัง ณ ห้วงขณะการตัดสินใจดังกล่าว
****