ภยันตรายของยูโทเปีย: นาข้าวขั้นบันไดของสาครินทร์ เครืออ่อน

เมื่อปี พ.ศ. 2550 สาครินทร์ เครืออ่อน ศิลปินชาวไทย พยายามทำนาข้าวขั้นบันไดตรงด้านหน้าปราสาท Wilhelmshöhe ที่เมืองคาเซล ประเทศเยอรมนี เพื่อร่วมจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในงานนิทรรศการ Documenta XII งานนิทรรศการดังกล่าวซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยระดับสากลนั้น จัดขึ้นเป็นประจำทุกห้าปี และเป็นที่รู้กันว่าเน้นแสดงผลงานศิลปะแนวคอนเซ็ปชวลกับมุมมองเชิงวิพากษ์จากศิลปินทั่วโลก งาน Documenta นี้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2538 โดยอาร์โนลด์ โบด (Arnold Bode) ผู้เป็นทั้งศิลปินและภัณฑารักษ์ ในบรรยากาศของการแสวงหาทางจิตวิญญาณของเยอรมนีในช่วงหลังสงครามโลก และด้วยฐานคิดเริ่มแรกในการที่จะ “หาจุดบรรจบระหว่างชีวิตความเป็นเยอรมนี กับความเป็นสมัยใหม่ของโลกสากล และจับมันเผชิญกับการตื่นรู้ (Enlightenment) ที่ล้มเหลวของมันเอง” ขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของงานนี้ได้ขยับขยายออกไปอย่างกว้างขวางขึ้น เมื่องานศิลปะร่วมสมัยแผ่ขยายออกไปจากศูนย์กลางของยุโรป-อเมริกันในทศวรรษที่ 90 ซึ่งนิทรรศการ Documenta ครั้งก่อนหน้า (ครั้งที่ 11) ภายใต้การกำกับดูแลของโอควูอี เอนวีเซอ (Okwui Enwezor) ภัณฑารักษ์ผู้ถือกำเนิดในไนจีเรีย คือต้นธารสำคัญในกระบวนการดังกล่าว
**
สาครินทร์ เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้เข้าร่วมแสดงผลงานใน Documenta งานศิลปะ นาข้าวแบบขั้นบันได ของเขา ปลุกความคิดเรื่องแรงงานในลักษณะชุมชนและเทคนิคการเกษตรแบบดั้งเดิมขึ้นมา เขาทำงานร่วมกับอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวยุโรป ในการปรับแปลงพื้นที่ลาดเนินเขาใน Bergpark ของเมืองคาเซลซึ่งเคยเป็นสวนพฤกษศาสตร์ของวิลเฮล์มที่ 9 แต่ทว่าความล้มเหลวของโครงการศิลปะนี้ได้ก่อให้เกิดผลที่น่าสนใจเสียยิ่งกว่า ระบบชลประทานที่ล้มเหลวทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนและประนีประนอมต่างๆ ในเชิงรูปแบบ ลักษณะโดยบังเอิญของงานก็ราวกับเป็นการขุดค้นรากเหง้าของพื้นที่จัดแสดง เผยให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ช่วงสงครามในพื้นที่แห่งนี้ ตลอดฤดูร้อนของเยอรมนี ผลผลิตจากผืนนาแห่งนี้ออกรวงมาเพียงจำนวนน้อยนิด แต่เมล็ดข้าวเหล่านี้ก็ถูกนำกลับมาเมืองไทยและได้รับการหว่านเพาะที่แปลงนาแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ในการคืนถิ่นของโครงการนี้ มีการเพาะกล้าข้าวรุ่นที่สองในนาข้าวชั่วคราว ณ แกลอรี่ศิลปะสมัยใหม่อาร์เดล ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองกรุงเทพฯ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเวิร์คช็อปเพื่อการศึกษาด้านเกษตรกรรมสำหรับเด็ก
**
แทนที่จะร่วมแซ่ซ้องไปกับความเห็นจากทั้งภัณฑารักษ์และนักวิจารณ์ ที่มอง (อย่างเป็นธรรมดีแล้ว) ว่าโครงการนี้เป็นโครงการทดลองที่ทรงคุณค่า การแสดงความเห็นของผมต่อโครงการนี้ จะเป็นการวิจารณ์ในแง่ บริบท ของงาน นั่นคือลักษณะที่โครงการนี้และโครงการอื่นๆ ในแบบเดียวกันถูกกำหนดขึ้นและถูกมอง ทั้งในประเทศไทยเองและในต่างประเทศ มากกว่าที่จะกล่าวถึงตัวผลงาน
**