และแล้วความเคลื่อนไหวไม่ปรากฏ

หนังสือ Modern Art in Thailand: Nineteenth and Twentieth Centuries ของอภินันท์ โปษยานนท์ บรรยายถึงผลงานศิลปะที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะชิ้นหนึ่งไว้อย่างไม่ประจบประแจง เขาหมายถึงประติมากรรมโลหะที่สร้างขึ้นในระหว่างปี 2493 ถึง 2496 เพื่อประดับวงเวียนใหญ่อันพลุกพล่านจอแจ ประติมากรรมชิ้นที่ว่านี้คือรูปหล่อโลหะของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ชื่อเดิมสิน หรือเจิ้งกว๋ออิง บุตรนายหยง แซ่เต้ ชาวจีนไหยฮอง) ประทับอยู่บนหลังม้า ทรงเครื่องชุดออกรบ และพระหัตถ์ข้างหนึ่งชูดาบขึ้นสูง ประติมากรรมขนาดใหญ่กว่าตัวจริงที่มีค่าใช้จ่ายในการสร้างสูงลิ่วอย่างน่าตกตะลึงชิ้นนี้ ออกแบบและควบคุมการหล่อโดยบุคคลผู้ซึ่งไม่มีใครโต้แย้งต่อสมญา ‘บิดา’ แห่งศิลปะไทยสมัยใหม่ – ศิลป์ พีระศรี (ชื่อเดิม คอร์ราโด เฟโรชี) อภินันท์อ้างถึงข้อวิจารณ์ของนักวิจารณ์อีก
หลายคน ที่ว่า “อิริยาบถของผู้ที่กำลังขี่ม้าและตำแหน่งของขาม้าที่หยุดนิ่งนั้น ขัดกันกับหางม้าที่กำลังสะบัด ซึ่ง
บ่งบอกถึงการเคลื่อนที่” อภินันท์เห็นว่าลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดความรู้สึก “ละล้าละลัง” มากกว่าจะสื่อถึง “ความองอาจและกล้าหาญ” ของกษัตริย์ผู้อยู่บนหลังม้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ประติมากรรมชิ้นดังกล่าวจึงประสบความล้มเหลว
ถึงสองชั้น ในชั้นแรก หากมองจากมุมมองแบบธรรมชาตินิยม ก็ต้องนับเป็นความพลั้งพลาดไม่สมจริงตามแบบฉบับวิสัยทัศน์วิชาการอันเป็นหัวใจของระบบการศึกษาศิลปะที่เฟโรชีเป็นผู้สถาปนาขึ้น และในชั้นที่สองคือ ความ
ไม่เด็ดขาดของศิลปินผู้ปั้น กลายเป็นเอกลักษณ์ของบุคคลที่ถูกปั้นซึ่งเป็นที่ร่ำลือตามตำนานในแง่ความเด็ดขาดมากกว่าอะไรทั้งสิ้น
*
เราลองย้อนกลับไปดูรูปปั้นบุคคลผู้นี้กันอีกสักครั้ง รูปปั้นของบุคคลที่ติดค้างอยู่ ณ จุดเริ่มต้นในกระแสเวลาเสมือนของจินตนาการแห่งชาติ อภินันท์ไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดประการที่สองซึ่งสอดคล้องกับอากัปอันโบกสะบัดของ
หางม้า นั่นคือ พู่ที่ห้อยอยู่กับพระมาลาของพระเจ้าตากสินฯ แน่นอนว่าความผิดประหลาดซ้ำสองเช่นนี้คงไม่อาจบรรเทาความล้มเหลวที่มองเห็นกันของตัวประติมากรรมนั้น แต่ถึงกระนั้น มันก็น่าจะช่วยเปิดทางเบี่ยงให้
นักประวัติศาสตร์ศิลป์ประเภทจอมซอกแซกได้สามารถลองตีความดูจากมุมอื่นบ้าง บางทีความลวงของกิริยา
การเคลื่อนไหวในประติมากรรมชิ้นนี้อาจจะเป็นความงอกงาม อาจเปรียบเป็นพู่กันตวัดลายเซ็นสำแดงถึงฝีมืออัน
เหนือชั้นผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะได้ไม่บดบังหรือเบนความสนใจไปจากความเคร่งขรึมขลังของกษัตริย์บนหลังม้า หรืออาจมองว่าเป็นความพยายามของประติมากรในการสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่ท่วงท่าที่ดูนิ่งสนิท
ไม่ไหวติงของรูปปั้นชิ้นนี้ก็เป็นได้ หรืออาจเป็นได้ว่าทีมประติมากรเกรงว่าหางม้าที่ปวกเปียกจะทำให้ดูไม่สมชายชาตรีมากพอ และจะกลายเป็นการบ่งนัยถึงอำนาจที่ไม่อาจสืบพงศ์พันธุ์ ไม่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงชนิดที่อยู่ยงคงกระพันได้ บางทีมันอาจเป็นการคาดการณ์ถึงสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รัฐชาติใหม่นี้ต้องเผชิญในทศวรรษต่อๆ มา
****