กรณีเดรย์ฟุส: ยุติธรรมที่บิดผัน สังคมที่บิดเบี้ยว สื่อที่บิดเบือน

“นี่นับเป็นอาชญากรรมที่จะโป้ปดต่อสาธารณะ ที่จะบิดผันมติมหาชนให้แปรไปสู่ความวิกลจริตเพื่อเป็น
เครื่องมือในการสร้างกลอุบายเลวทรามที่มุ่งร้ายถึงชีวิต นับเป็นอาชญากรรมที่จะล่อลวงความคิดของผู้ที่ว่าง่ายและหัวอ่อน ที่จะเร่งเร้าความกระหายของฝ่ายปฏิกิริยาและฝ่ายที่ไม่ยอมอดกลั้นต่อความแตกต่าง โดยอาศัยความคิดต่อต้านชาวยิวอันน่ารังเกียจเป็นเครื่องมือ ที่หากเกิดขึ้นโดยปราศจากการยับยั้งเสียแล้ว ย่อมจะนำไปสู่การทำลายความเคารพในสิทธิของมนุษย์ของชาติฝรั่งเศสซึ่งรักในเสรีภาพ นับเป็นอาชญากรรมที่จะฉวยใช้ความรักในปิตุภูมิเป็นเครื่องมือในการสร้างความเกลียดชัง และท้ายที่สุด นับเป็นอาชญากรรมที่จะอำพรางคมดาบมาในรูปลักษณ์ของพระเจ้าแห่งยุคสมัยใหม่ ในยามที่ศาสตร์ทั้งปวงล้วนกำลังพากเพียรเพื่อที่จะบรรลุถึงยุคสมัยแห่งสัจจะและความยุติธรรมซึ่งกำลังคืบคลานใกล้เ้ข้า้มา”
เอมิล โซลา, “จดหมายถึงประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ: ข้าพเจ้าขอกล่าวโทษ !,” 1898

“J’accuse !” หรือวลีที่อาจแปลเป็นไทยได้ว่า “ข้าพเจ้าขอกล่าวโทษ !” เป็นชื่อข้อเขียนชิ้นสำคัญในประวัติศาสตร์บรรณพิภพและประวัติศาสตร์ของโลกสมัยใหม่ ข้อเขียนชิ้นนี้คือจดหมายเปิดผนึกที่ เอมิล โซลา (Émile Zola) นักเขียนเรืองนามแห่งฝรั่งเศส เขียนถึงประธานาธิบดีของตน (ลงตีพิมพ์วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1898 เต็มหน้าหนึ่งของ L’Aurore หนังสือพิมพ์หัวเสรีนิยม – สังคมนิยมของฝรั่งเศส ที่มีชอร์ช เกลมองโซ เป็นบรรณาธิการ) เพื่อประณามนายทหารระดับสูงในกองทัพและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมอันโด่งดัง คือกรณีเดรย์ฟุส (Dreyfus affair) อันเป็นการปรักปรำและเนรเทศผู้บริสุทธิ์ที่เป็นนายทหารเชื้อสายยิว คือ อัลเฟรด เดรย์ฟุส (Alfred Dreyfus) ด้วยข้อหาทรยศต่อชาติโดยการนำความลับทางทหารไปขายให้กองทัพเยอรมันฝ่ายศัตรู
*
กรณีเดรย์ฟุสเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1894 และได้ส่งผลสะเทือนอย่างมหาศาลต่อสังคมฝรั่งเศสตลอดระยะเวลาอีกไม่น้อยกว่าห้าปีให้หลัง รวมทั้งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชาติตะวันตกอื่นๆ ในช่วงนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการใส่ร้ายป้ายสี โกหกปลอมแปลงหลักฐาน และบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมโดยฝ่ายผู้มีอำนาจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทางสังคมและวัฒนธรรมต่อสาธารณชนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สื่อมวลชน ซึ่งในขณะนั้นคือหนังสือพิมพ์หลายฉบับ มีบทบาทสำคัญในการกุข่าว ให้ข้อมูลเท็จ ปลุกกระแสคลั่งชาติ – ต่อต้านชาวยิว สร้างความเกลียดชัง และทำให้เรื่องเท็จกลายเป็นจริง จนสามารถชี้นำมติมหาชนไปในทางที่ผิด และชักจูงให้สาธารณชนยินยอมพร้อมใจที่จะสนับสนุนความฉ้อฉลของฝ่ายอำนาจ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือความปั่นป่วนแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการปรักปรำเพราะเชื่อว่าตนเองกำลังปกป้องเกียรติภูมิของชาติ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าการปกป้องความยุติธรรมและความจริงเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด
*
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้มีรากลึกถึงขนาดเป็นสงครามระหว่างอุดมการณ์ของฝ่ายสนับสนุนการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งเชิดชูความเสมอภาค ศรัทธาในมนุษยนิยมและเหตุผลของแนวคิดแบบภูมิธรรม (Enlightenment) กับฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ซึ่งยังสนับสนุนคุณค่าของสถาบันตามประเพณีทั้งระบอบกษัตริย์ ศาสนจักรคาทอลิก และลำดับชั้นทางสังคมที่สืบทอดมาแต่เดิม ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการฟื้นฟูความคิดแบบชาตินิยม เหตุการณ์เดรย์ฟุสจึงเปรียบเสมือนการจุดชนวนให้กระแสความคิดทั้งสองขั้วระเบิดขึ้นบนรอยต่อสู่ศตวรรษที่ยี่สิบ
****