ในนวนิยายเรื่อง Northanger Abbey ของเจน ออสเตน ตัวเอกฝ่ายชายพูดสัพยอกตัวเอกฝ่ายหญิงไว้ตอนหนึ่งว่า “เท่าที่ผมจะพอวินิจฉัยได้ สไตล์การเขียนจดหมายในหมู่ผู้หญิงนั้นโดยทั่วไปก็ดูจะไร้ข้อตำหนิ เว้นไว้เสียแต่ลักษณะเฉพาะสามประการคือ หัวข้อที่ไม่แจ่มชัด, ไม่คำนึงเอาเสียเลยว่าจะจบเมื่อใด และไม่นำพาอยู่บ่อยไปในแง่ไวยากรณ์”
อ่านดูแล้วก็ค่อนข้างแน่ใจว่าการเขียนจดหมายของตัวเองคงเข้าข่าย และดูเหมือนจะไม่ใช่เพียงการเขียนจดหมาย และไม่ใช่เพียงแค่การเขียน
อ่าน ฉบับที่ 4 ทิ้งช่วงห่างจากฉบับที่ 3 ครบตามรอบไตรมาส ทว่าแต่ละไตรมาสนั้นทิ้งห่างจากกรอบเวลาที่ควรจะเป็นมาไกลโข หากจะแก้ตัวโดยถือโอกาสอวดโอ่ตัวเองไปด้วย ก็คงพูดได้ว่าเพราะเรา (ทั้งนักเขียน บรรณาธิการและทีมงาน) ใช้เวลากับการเค้น คัดสรร และควบคุมการผลิตจากต้นจนถึงนาทีสุดท้าย แต่นิตยสารคุณภาพอื่นๆ ที่สามารถออกได้ตรงเวลาเล่า เขาทำได้อย่างไร บางทีพวกเขาคงมีประสิทธิภาพกว่าจริงๆ (กระทั่งเวลาเขียนจดหมาย)
ขั้นตอนหนึ่งซึ่งเป็นงานที่คนอื่นอาจเข้าใจได้ยากว่าจะเสียเวลาทำไม คือการละเลียดจัดระยะวรรคตอน และระยะระหว่างตัวอักษรทีละบรรทัด ทีละหน้า กำหนดค่าความห่างลงรายละเอียดกระทั่งในกรณีเลขเชิงอรรถที่แขวนอยู่เหนืออัญประกาศ จดจ่อกับขนาดของวงเล็บและตัวเลขว่าจะต้องไม่ใหญ่เกินไปจนทำให้การไหลลื่นของตัวอักษรต้องสะดุด ราวกับเนื้อหาจะไม่อาจสื่อสารออกมาได้ หากรูปแบบนั้นผิดระยะไปแม้เพียงตำแหน่งเดียว
เป็นปัญหาของความหมกมุ่นต่อระยะห่างโดยแท้
อีกสาเหตุหนึ่งของความล่าช้า คือผลกระทบจากลมร้อนวูบนั้นเมื่อเดือนเมษา ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเดิมของวารสารเล่มนี้ ต้นฉบับจำนวนหนึ่งส่งล่าช้าพร้อมคำขอขมาว่าความตึงเครียดของการเมืองทำให้หมดกะจิตกะใจจะเขียน คนรอรับต้นฉบับก็ใช่ว่าจะต่างไป เมื่อวันๆ แทบจะทำอะไรไม่ได้ นอกจากการแสดงความห่วงใยโดยเกาะติดความเคลื่อนไหวอย่างมีระยะห่างอยู่หน้าจอทีวี
เย็นวันหนึ่งก็ถึงแก่อดรนทนไม่ไหว เมื่อพบว่าการรายงาน “ข่าวสาร” ของสื่อมวลชนช่างพร้อมใจกันทำให้ระยะที่ห่างอยู่แล้วยิ่งหากออกไปอีก ด้วยการไม่ใส่ใจที่จะนำเสนอใบหน้า แววตา และคำพูดของประดาประชาชนที่ไม่มีใครรู้จักเหล่านั้น คนดูผู้ขลาดเขลาจึงตัดสินใจทั้งที่ขาสั่น เพื่อจะออกไปที่นั่น ไปให้ใกล้กว่านั้น ราวกับว่ามันจะช่วยอะไรขึ้นมา
รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างพาวนรอบอยู่ห่างๆ “ไม่รู้ใครเป็นใคร อยู่ห่างๆ ไว้ปลอดภัยกว่าครับ” เขาวนพาไปจอดหน้าตลาด คนกลุ่มใหญ่ยืนจับกลุ่มพูดคุย “ทำไมต้องทำกันขนาดนี้” “เข้าไปข้างในไม่ได้หรอก ทหารไม่ให้เข้า มันล้อมหมดแล้ว” “คนข้างในที่จะออกมาก็ไม่รู้หรอกว่าพวกนั้นมันรอดักตี” เขาคุยกันพลางเหลือบมองเราอย่างระแวงว่าเป็นใคร เขาไม่รู้ว่าเราเป็นพวกไหน จะว่าไปเราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน พวกเขายืนยันว่ามีคนตาย “มันเจ็บ ที่ไม่มีคนเข้าใจ ต่อให้เราตาย ก็ไม่มีใครมองว่าเราก็ตายเพื่อประชาธิปไตย” แล้วในฉับพลัน ทุกคนก็มีอันต้องวิ่งกระเจิงจากจุดนั้น เมื่อฝูงชนพร้อมท่อนเหล็ก ท่อนไม้จากอีกฟาก วิ่งฮือไล่ราวีไม่เลือกหน้า สารถีมอเตอร์ไซค์ผู้ชำนาญเส้นทางพาหนีลดเลี้ยวเข้าซอกซอยเปลี่ยวจนมาโผล่ที่ถนนใหญ่อีกฝั่ง เห็นรถกระบะคันหนึ่งซึ่งขับออกมาจากที่ชุมนุม ถูกคนกลุ่มใหญ่ดักฟาดด้วยไม้และท่อนเหล็กวาววับ คนขับมอเตอร์ไซค์รีบตะบึงหนี แต่ยังอยู่ในรัศมีที่ทันเห็นรถตุ๊กๆ ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารออกมาจากจุดเดียวกันถูกกลุ่มประชาชน “ผู้รักความสงบที่ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง” ตามที่ทีวีบอกไว้ กรูเข้าไปกระหน่ำฟาดใส่ มองจากระยะไกลยังเห็นหญิงสาวผู้โดยสารเสื้อแดงผมยาวเคลียไหล่นั่งกันอยู่ในรถที่บัดนี้ถูกรุมจนมิดไปหมดทั้งคัน ภาพสุดท้ายก่อนมอเตอร์ไซค์จะบึ่งออกมา คือมีคนขึ้นไปกระโดดกระทืบอยู่บนหลังคา แขนสองข้างชูหราราวประกาศชัยชนะ
เมื่อกลับมาปลอดภัยอยู่หน้าจอทีวีอีกครั้ง ยังคงได้ฟังแต่เสียงซ้ำเติมผลกรรมของ “ผู้ก่อความวุ่นวาย” คำว่าสิทธิมนุษยชนไม่สากลพอที่จะใช้กับคนเหล่านี้ได้ แล้วสิ่งได้เห็นมาเล่า มันเป็นความจริงไหม หรือจะบอกว่าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของความจริง แต่มันช่างสะเทือนใจ ความจริงเสี้ยวเดียวกันนี้หากคนอื่นเห็นจะรู้สึกต่างกันไหม กระทั่งผู้คนในฟาก “ภาคประชาชน” ที่เคยใกล้ชิดกันมาก็ดูจะกังขาที่จะเห็นใจ หรือว่าเขาไม่เห็นมัน หรือว่าต้องเห็นเท่านั้นจึงจะรู้สึกและเข้าใจ แล้วจะเรียกตัวเองว่าภาคประชาชนต่อไปอย่างไรได้ หากไม่เห็นว่าที่ก้าวเดินออกมาแล้วล้มลงเหล่านั้น ก็คือประชาชนเหมือนกัน – ไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อสีอะไร ทำไมเราจึงห่างกันได้ขนาดนั้น
ปิดทีวีแล้วก็เปิดคอมพิวเตอร์มานั่งจัดเลย์เอาท์ต่อไป ขยับเคาะวรรคขวา-ซ้าย ไฟล์นี้อ้อยอิ่งมานานเกินไปแล้ว
เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยรู้สึกเหมือนได้ “ค้นพบ” หนังของผู้กำกับชาวรัสเซียคนหนึ่ง – อังเดร ทาร์คอฟสกี้ หนังทุกเรื่องของเขาดำเนินไปในจังหวะที่เนิบช้า ทอดเวลาละเลียดกับภาพในแต่ละฉากที่เขายืนยันว่ามันไม่ใช่แค่่การกำกับองค์ประกอบ (mise en scène) เพื่อการถอดรหัสตีความ หากเป็นการจำลองภาพชีวิตผ่านการเชื่อมร้อยด้วยตรรกะบางอย่างซึ่งในท้ายที่สุดเขาเชื่อว่าจะก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจและนำไปสู่การปลดเปลื้องชำระล้าง (catharsis) เขาเรียกมันว่า “ตรรกะอย่างกวีนิพนธ์” ช่างเป็นอุดมคติที่โรแมนติคและคลาสสิคอะไรเช่นนั้น สำหรับเขา กวีนิพนธ์ไม่ได้เป็นแค่ประเภทของบทประพันธ์ แต่คือความรู้ตัวต่อโลก เป็นวิธีการเฉพาะวิธีหนึ่งในการเข้าไปสัมพันธ์กับ “ความจริง” แต่ความจริงที่ว่านั้นจะ “จริง” ได้แค่ไหน ทาร์คอฟสกี้บอกว่า “ถ้าปราศจากการเชื่อมโยงระหว่างความประทับใจอย่างอัตวิสัยของผู้สร้างงาน กับการนำเสนอความจริงอย่างเป็นภววิสัยของเขาแล้ว ศิลปินจะไม่มีทางทำได้แม้แต่ความน่าเชื่อถืออย่างผิวเผิน มิพักต้องพูดถึงเนื้อแท้และความจริงจากภายใน” และ “การผลิตซ้ำความรู้สึกที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเช่นนี้ไม่ใช่เป้าหมายในตัวของมันเอง แต่มันยังมีความหมายของสุนทรียะด้วย และนั่นทำให้มันกลายเป็นสื่อสำหรับการครุ่นคิดที่ลึกซึ้งและจริงจัง” ทั้งหมดนี้เป็นความพยายามที่ไม่ใช่แค่เพื่อตอบคำถามว่าศิลปะคืออะไร แต่เพื่ออธิบายแก่ตัวศิลปินและคนที่อยู่แวดล้อมเขาว่า อะไรคือความหมายของการดำรงอยู่ หรือถ้าหากไม่ใช่การอธิบาย อย่างน้อยก็ได้เป็นการตั้งคำถาม เพราะ “นี่เป็นเรื่องของมุมมองที่มีต่อโลก เรื่องของอุดมคติ และเรื่องของเป้าหมายทางจริยธรรม”
การมานั่งย้อนรำลึกถึงผู้กำกับคนนี้ เกิดขึ้นในวันหนึ่งที่มีคนถามว่า ทำไมจึงเลือกเน้นแต่งานวิจารณ์ ทำไมไม่ตีพิมพ์ตัวผลงานอย่างเรื่องสั้นหรือบทกวีด้วย นี่ถ้าเป็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในวันที่ยังศรัทธาต่อความหมายของศิลปะในฐานะอันสูงส่งเช่นนั้น บางทีการตัดสินใจคงง่ายกว่านี้ แต่ในวันนี้ ทางเดียวที่จะเรียกความเชื่อมั่นนั้นกลับคืนมาได้ คือการรู้จักรักษาระยะห่าง เพื่อมองมันด้วยสายตาใหม่ ในท่ามกลางความซับซ้อน และในหลายๆ ครั้งก็อาจเรียกได้ว่าฉ้อฉล ของเกมกลแห่งความหมาย ที่ทำให้ไม่อาจแน่ใจได้ว่าอะไรคือ “จริง” “ไม่จริง” อีกต่อไป การ “อ่าน” ทุกอย่างที่ขวางหน้า คือภารกิจของการค้นหาความหมายที่ยังลุ้นขาดใจว่ามันมีอยู่จริง
อาจารย์วรรณคดีท่านหนึ่งเคยพูดในทำนองเสียดเย้ยตัวเองว่า สังคมไทย ทั้งในวงวิชาการและในหมู่ผู้กระตือรือร้นต่อการค้นหาความจริงโดยทั่วไป ไม่มีใครคาดหวังว่าการศึกษาศิลปะและวรรณกรรมจะมีน้ำยาสื่อถึงสาระและสัจจะอันยิ่งใหญ่ กระทั่งต่อเหตุการณ์ “จริง” ต่างๆ ที่สั่นคลอนอุดมคติอันสูงส่งให้สามานย์อยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีใครแยแสว่าการ “อ่าน” จะยังประโยชน์อันใด เช่นนั้นแล้ว จะว่าอย่างไรได้ การหาระยะที่เหมาะสมแล้วถอยออกมา อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า มิใช่เป็นการตรวจสอบเพื่อจะบอกว่าเราเห็นความจริงที่จริงกว่า เพราะก็สำเหนียกในทางปรัชญาว่ามนุษย์มีขีดจำกัดที่จะเข้าถึงความจริงได้เท่าที่ในสิ่งที่รู้ (ซึ่งก็มีอยู่ไม่กี่มากน้อยแค่ไหน) แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็ยังอยากจะหาความเป็นไปได้ของความจริงในหลายๆ ลักษณะ ในภาวะที่การผูกขาดความจริงยังครอบงำอยู่ทั่วไป
ระยะห่างระหว่างตัวอักษรนั้น ใช่จะเพียงมีผลต่อความสวยงามของหนังสือทั้งหน้า แต่ยังมีผลต่อความสืบเนื่องทางสายตาและจังหวะของการอ่านได้ อาทิเช่น เครื่องหมายคำถามนี่ก็สำคัญ อย่าปล่อยให้เบียดชิดพยัญชนะเกินไป ต้องเว้นระยะออกมา แต่ให้น้อยกว่าระยะของการเว้นวรรคปกติ เอาแค่ซัก 3 point ก็ได้ ว่าแล้วก็ปลุกปลอบตัวเองอย่างคนขี้แพ้ต่อไป
คงคล้ายกับเวลาที่ผู้หญิงบางคนเขียนจดหมาย ไม่ว่าผู้รับจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ ยังจะมีอะไรที่ทำได้มากกว่านี้อีกหรือ
****