หากพิจารณากลุ่มประเภทของหนังไทยในยุคปัจจุบัน จะพบว่าหนังไทยประเภทที่แทบไม่มีการสร้างออกมาเลยก็คือหนังประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ช่วงหลังปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา หนังไทยประเภทประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ เลือกที่จะนำเอาประวัติศาสตร์ยุคโบราณมาเล่าในรูปแบบตำนาน ยกตัวอย่างเช่น บางระจัน หรือ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือไม่ก็ทำให้เป็นเรื่องสมมติไปเลยเช่น สียามา เนื่องจากไม่มีผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์มาคัดค้านหรือขอให้ชำระเหตุการณ์ใหม่ อีกทั้งยังง่ายต่อการสร้างเนื้อเรื่องให้เป็นเส้นตรง ไม่ซับซ้อน มีพระเอก-ตัวร้ายชัดเจน การเมืองคือจริยธรรมของผู้ปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างระบบการเมืองที่ดีอะไรทั้งสิ้น
**
แม้ที่ผ่านมาจะมีการพยายามนำเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นหนังอยู่บ้าง แต่สุดท้ายมักจะต้องล้มเลิกโครงการกลางคัน เช่น เรื่องนักโทษประหารในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม ขอร้องไม่ให้สร้าง จนผู้กำกับยุทธนา มุกดาสนิท ต้องล้มเลิกโครงการไปในที่สุด ทั้งที่ได้มีการเตรียมงานสร้างมากว่า 1 ปีแล้ว
**
หนังประวัติศาสตร์ยุคใกล้เรื่องสำคัญที่ควรกล่าวถึงในที่นี้ มีเพียงเรื่องเดียว คือ 14 ตุลา สงครามประชาชน ผลงานของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ที่แม้ว่าเนื้อเรื่องจะเน้นที่ชะตากรรมชีวิตและมุมมองความคิดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เป็นหลัก แต่ทีมงานสร้างก็ยังพยายามถ่ายทอดบรรยากาศความขัดแย้ง และแนวคิดทางการเมืองในยุคสมัยนั้นได้ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งก็ยังนับว่ามีความกล้าหาญในการนำเสนอ แม้จะอดคิดไม่ได้ว่าถ้าหนังเรื่องนี้ขออนุมัติทุนในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองของประชาชนแหลมคมอย่างในช่วงนี้แล้ว คงไม่มีนายทุนคนไหนกล้าอนุมัติให้แน่ๆ
**
แต่อยู่ดีๆ ในช่วงกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ท่ามกลางความเงียบสงบของหนังไทยและความร้อนแรงของการเมืองไทย ก็มีหนังไทยอ้างอิงประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งโผล่ขึ้นมาฉายในโรงอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย แถมยังใช้ฉากหลังเป็นเหตุการณ์ที่เข้าข่าย “ของร้อน” นั่นคือ เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์นักศึกษาหนีเข้าป่าเพื่อไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
**
เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นเงามืดในหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ยังไม่ถูกชำระจนถึงทุกวันนี้ (คู่กับเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 ซึ่งอย่าว่าจะแต่จะสร้างเป็นหนังตลกเลย แค่อ้างอิงถึงก็ยังไม่มีใครกล้าทำ) ไม่มีบุคคลหรือหน่วยงานใดกล้านำประวัติศาสตร์ช่วงนี้มาชำระ ด้วยเหตุว่าผู้บงการอยู่เบื้องหลังหลายคนก็ยังคงเป็นใหญ่เป็นโตกุมอำนาจรัฐอยู่ในตอนนี้ การปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ทำกันถึงขั้นไม่มีการเอ่ยถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนแม้แต่ในตำราเรียน จนเด็กรุ่นใหม่หลายคนจำ 14 กับ 6 ตุลาคมผสมรวมกันกลายเป็น 16 ตุลาคมไปแล้ว
**
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ทางผู้สร้างหนังเรื่องนี้จะถ่ายทอดเหตุการณ์ดำมืดซึ่งยังไม่มีการชำระนี้ออกมาในรูปแบบอย่างไร และจะซื่อตรงต่อเหตุการณ์จริงได้แค่ไหน
**
ในช่วงก่อนหนังฉาย ได้มีการถกเถียงถึงหนังเรื่องนี้อยู่บ้าง แม้จะมีหลายคนไม่ชอบใจนักที่นำโศกนาฏกรรมนี้มาเป็นฉากหลังในเรื่อง และเป็นห่วงเรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากเห็นว่ามีการโฆษณาหนังเรื่องนี้ทาง ASTV (ที่ต้องถือว่ามีความคิดทางการเมืองคนละขั้วกับนักศึกษาที่เข้าป่า) แต่ก็มีบางท่านคิดว่า การมีหนังเรื่องนี้ย่อมดีกว่าไม่มี เพราะอย่างน้อยก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเรื่องนี้เข้าสู่ความสนใจของสาธารณะ เพื่อจะได้มีการนำเรื่องนี้ไปถกเถียงต่อยอดต่อไป
**
แต่น่าเศร้าที่หลังจากหนังฉายไปแล้ว แทนที่จะมีกระแสถกเถียงถึงมุมมองหรือข้อเท็จจริงในหนังว่าถูกต้องหรือสมควรอย่างไร กระแสที่พูดถึงเรื่อง 6 ตุลาคมกลับเงียบจนน่าแปลกใจ ไม่มีใครมาสนับสนุน คัดค้าน หรือนำประเด็นมาต่อยอดทางสื่อ เสียงจากนักวิจารณ์ไม่คึกคัก เสียงตอบรับจากคนดูส่วนใหญ่เน้นไปที่สนุกหรือไม่สนุก ไม่มีแม้แต่แถลงการณ์ของหน่วยงานหรือมูลนิธิที่ดูแลเรื่องนี้ จนทำให้ผมอดแปลกใจไม่ได้
**
แต่พอดูหนังเรื่องนี้จบ มันทำให้ผมเข้าใจทันทีว่าทำไมประเด็น 6 ตุลาที่หลายคนหวังจะจุดให้ติด ถึงกลับกลายเป็นไม้ขีดเปียกน้ำไปซะอย่างนั้น ก็จะให้จุดติดได้อย่างไร ในเมื่อหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไม้ขีดไฟเพื่อมาจุดไฟ แต่เป็นน้ำเพื่อทำให้ไม้ขีดเปียกไม่มีทางจุดไฟขึ้นมาใหม่ได้อีกต่างหาก เหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ เรามาพิจารณาที่ตัวเนื้อหากันก่อนดีกว่าครับ
**