หากกล่าวในทางดนตรี เพลงลูกทุ่งนั้นเหมาะสมอย่างยิ่งในการใช้เป็นเครื่องมือต่อกรกับอำนาจหลักต่างๆ ในสังคม เนื่องด้วยความเชื่องช้าและรันทดระทมของเพลงนั้นเปรียบได้กับบทโศลกสำหรับการพลัดพรากทั้งจากเป็นและจากตายต่อสิ่งอันเป็นที่รัก ซึ่งเนื้อหาหลักของการครอบครองและพลัดพรากนี้เองที่ค่อยๆ กลายสภาพไปสู่การเป็นความทรงจำเชิงวัฒนธรรม เฉกเช่นความปรารถนาที่ไม่อาจเติมให้เต็มของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือห้วงยามตลอด 50 ปีของการย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลเข้าสู่กรุงเทพฯ หรือกระทั่ง 200 ปี ของการพลัดพรากจากพี่น้องลาวฝั่งเหนือของแม่น้ำโขง และหากมองย้อนกลับไปยังอดีตกาล เราก็พบว่าเพลงลูกทุ่งก็อาจจะเป็นรูปแบบของเสียงสะท้อนจากวรรณกรรมสยามบรรพกาลอย่างนิราศ อันหมายถึงบทกลอนที่เขียนเพื่อบอกเล่าถึงการเดินทางไกล โดยมุ่งบรรยายถึงการพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รัก และตามที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ก่อนหน้าครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้านั้น จุดประสงค์หลักของการเดินทางมิได้เป็นไปเพื่อสร้างความเพลิดเพลินแต่อย่างใด ยิ่งสำหรับคนไทยชนชั้นแรงงานด้วยแล้วนั้น เพลงลูกทุ่งได้แสดงให้เห็นภาพของการสูญเสียและการถูกทำให้พลัดพรากกันโดยไม่ยินยอมพร้อมใจ
James Mitchell, “Red and yellow songs: a historical analysis of the use of music by the United Front forDemocracy against Dictatorship (UDD) and the People’s Alliance for Democracy (PAD) in Thailand”, South East Asia Research 19:3, p. 482.
ในวรรคแรกของ “ผู้หนีช้ำ” เพลงแรกในอัลบั้ม เส้นทางสายคิดฮอด นั้น นักร้องสาว ต่าย อรทัย ร้องว่า “ช้ำใจ จึงจากอีสานบ้านทุ่ง หนีเข้าเมืองกรุง หนีเรื่องยุ่งๆ ไม่อยากพบเห็น” และทั้งหมดในอัลบั้ม รวมถึงละครเพลงที่สร้างจากเพลงในอัลบั้มนี้ก็เป็นเช่นนั้น หลังจากพ่ายรักปลัดหนุ่ม เด็กสาวบ้านนอกก็เดินบน “เส้นทางสายคิดฮอด” ในฐานะแรงงานพลัดถิ่น เนื้อร้องของเพลงเล่าถึงการเดินทางมาหางานทำในกรุงเทพฯ ต่าย อรทัย ไม่ได้เป็นคนแรกที่ร้องเพลงนี้หรือเพลงทำนองนี้ เพราะหลายปีก่อนหน้า ต้นฉบับเพลงนี้ขับร้องโดย จินตหรา พูนลาภ และยิ่งกว่านั้น เด็กสาวในเพลงนี้ก็ไม่ใช่แรงงานพลัดถิ่นคนแรก เมื่อเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่าตัว ต่าย อรทัย เด็กสาวจากบ้านนาจะหลวย อุบลราชธานีเองนั้น ก็เดินบนเส้นทางสายแรงงานพลัดถิ่นมาก่อน ก่อนจะกลายเป็นหนึ่งในนักร้องลูกทุ่งที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของไทย
อัลบั้ม เส้นทางสายคิดฮอด เป็นอัลบั้มรวมเพลงจากศิลปินประจำค่ายแกรมมี่โกลด์ ค่ายเพลงลูกทุ่งที่จัดได้ว่าโด่งดังที่สุดซึ่งอยู่ใต้อาณัติของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แกรมมี่ ตัวอัลบั้มมีลักษณะเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้ม เล่าเรื่องบรรดาแรงงานพลัดถิ่นจากภาคอีสานที่ต่างคนต่างเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ โดยที่ในอีกฟากหนึ่งมีคนจากบ้านเกิดซึ่งเฝ้าคอยคนรักกลับมาด้วยใจจดจ่อ เพลงทั้งหมดค่อยๆ ขมวดไปสู่จุดสำคัญเมื่อแรงงานพากันเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุด และกลับไปมีความสุขกับคนที่ตนรักยังถิ่นเกิดบ้านเก่า
แน่นอนว่ามันไม่ได้ต่างจากอัลบั้มรวมเพลงชุดอื่นมากมายนัก มันเป็นการคละเคล้าระหว่างนักร้องชื่อดังอย่าง ต่าย อรทัย หรือ ไผ่ พงศธร นักร้องระดับกลางๆ อย่าง มนต์แคน แก่นคูน หรือ เสถียร ทำมือ จนถึงหน้าใหม่รอเกิดอย่าง เอิ้นขวัญ วรัญญา บทเพลงโดยรวมพูดถึงชะตากรรมของแรงงานพลัดถิ่นที่ออกมาตามหาความฝัน หางานทำ สู้ชีวิตลำบาก โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตคือการได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนที่ตัวรักที่บ้านเกิดเมืองนอน
เส้นทางสายคิดฮอด ถูกออกแบบให้เป็นซีดีรวมเพลง และมีการนำมาทำเป็นละครเพลงหลังจากซีดีวางแผง โดยออกอากาศเป็นตอนๆ (ตอนละเพลง) ทางช่องแฟนทีวี (ช่องเคเบิ้ลเพลงลูกทุ่งของแกรมมี่) จากนั้นก็แนบละครเพลงแถมมาในดีวีดีคาราโอเกะอีกครั้ง ละครเพลงกำกับการแสดงโดย “ครูสลา” หรือ สลา คุณาวุฒิ ซึ่งระบุว่าละครเพลงเรื่องแรกที่เขากำกับนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก มนต์รักแม่น้ำมูล หนังเพลงเรื่องสำคัญของ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา ครูเพลงนักพากย์และผู้กำกับภาพยนตร์คนสำคัญของภาคอีสาน (เพลง “ลูกทุ่งคนยาก” ที่ครูพงษ์ศักดิ์แต่ง คือท่วงทำนองที่เป็นต้นแบบของเพลง “ผู้หนีช้ำ” ในเวลาต่อมานั่นเอง)
เนื้อเรื่องของละครเพลงเรื่องนี้อาจพอเล่าได้ว่า ต่าย ถูกปลัดหนุ่มหักอก เลยตัดสินใจมาหางานทำในกรุงเทพฯ โดยจะมาพักกับ ไผ่ หนุ่มนักมวยคนบ้านเดียวกันที่กำลังเก็บตัวเพื่อแข่งขันโอลิมปิก ที่สถานีรถไฟ มนต์แคนหนุ่มชาวประมง และนิ้วก้อยสาวบ้านนา ตามมาส่ง มนต์แคน หวังจะให้ต่ายฝากข่าวถึงข้าวทิพย์ สาวบ้านเดียวกันที่เข้ามาเรียนราชภัฏในกรุงเทพฯ แล้วกลายไปเป็นนักร้องน้องใหม่ ข้างนิ้วก้อยก็อยากฝากข่าวถึงอ้ายไผ่ที่ตัวเองแอบชอบอยู่เช่นกัน
หลังจากเกือบถูกกระชากกระเป๋าที่สถานีชุมทางบางซื่อ สาวต่ายก็ได้มาทำงานโรงงาน หนุ่มไผ่ยังคงขะมักเขม้นซ้อมมวย แต่อาจจะต้องพ่ายรักเพราะแฟนสาวเอิ้นขวัญที่ไปประกวดคว้าไมค์คว้าแชมป์ดูเหมือนจะตกหลุมรักไอ้หนุ่มชาวกรุงผู้จัดประกวดไปเสียแล้ว
โดยบังเอิญระหว่างเดินทางไปหาครูเสถียรที่เข้ากรุงมาเป็นนักร้องในผับเพื่อชีวิต พวกเขาก็ได้พบกับ อ้ายศร คนบ้านเดียวกันที่มาขับรถสิบล้อแล้วโดนเจ้านายไล่ออก พวกเขาสนทนากันถึงวันชื่นคืนสุขและเส้นทางสายคิดฮอดที่พวกเขาต้องเดินต่อไปอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย
ถึงที่สุดอ้ายไผ่ก็พ่าย เอิ้นขวัญก็แพ้ แต่พวกเขาก็มีกันและกัน ทั้งหมดตัดสินใจจัดกฐินผ้าป่าคืนบ้านฮอดเฮือน ให้คนรักได้สมรัก ให้คนแอบรักอย่างนิ้วก้อยได้ทำใจ โดยมีเพื่อนสาวอย่าง มด อุบลมณี และก้านตอง ทุ่งเงิน เป็นกำลังใจให้ ปิดท้ายด้วยขบวนฟ้อนรำรับขวัญคนไกลคืนเรือน
เรื่องราวที่คุ้นเคย คาดเดาได้ไม่ยาก เป็นเพียงเส้นเรื่องตัดสลับมิวสิควิดีโอด้วยเรื่องที่รู้กันอยู่แล้ว ไม่มีอะไรโดดเด่นไม่ว่างานภาพ การแสดง หรือตัวเรื่อง พูดได้ว่าเป็นเพียงการขายเหล้าเก่าในขวดใหม่ทั้งเพลงทั้งภาพ เพราะคุณภาพโดยรวมเทียบกับงานภาพยนตร์มาตรฐานมันก็เป็นเช่นนั้นจริง และมันก็จริงที่จุดประสงค์ของละครเพลงเรื่องนี้ออกมาเพื่อตอบรับการขายเพลงในรูปแบบคาราโอเกะ เพียงแต่ร้อยเรียงเรื่องราวเข้าด้วยกันสักเล็กน้อย
หากในภาพซ้ำจำเจนี่เองที่ร่องรอยการบันทึกภาพพาฝัน ภาพจริง หมายเหตุทางประวัติศาสตร์หรือกระทั่งสารแอบซ่อนระหว่างบรรทัดของเรื่องเล่าคุ้นลิ้น ได้มีโอกาสผุดพรายขึ้นแสดงตัวของมันอย่างเงียบเชียบ โดดเด่นอย่างกลมกลืนและพร้อมจะมองข้ามให้กลายเป็นเพียงเรื่องดาดๆ ไป
****