Ground Zero @ Thai Central World Trade Center

ข้อเขียนนี้จะลองเขียนแบบไม่มีมนุษย์อยู่ในสำนึก แบบเดียวกับการเรียกปฏิบัติการต่อเนื่องตลอดเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าการ “ขอคืนพื้นที่” แล้วตามมาด้วยการ “กระชับพื้นที่” ซึ่งมีผลเป็นพื้นที่ที่ได้รับคืนไปประจักษ์แก่สายตาทุกท่านไปทั่วทุกสื่อแล้ว
*
หลายเดือนที่ผ่านมา ทุกพื้นที่อณูอากาศรอบตัวเราเต็มไปด้วยมวลรวมของความสยดสยองในรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่การด่าทอ การประกาศว่ากูเกลียดใครแช่งใคร การยิง ทุบตี เลือดและความตาย การโยนความผิดใส่กัน ลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย เฉยชากับความตายของเขา เจ็บปวดได้เพียงภาพห้างสรรพสินค้าของเราไหม้และมลพิษจากยางรถยนต์ ในขณะที่จำนวนความตายที่เคลื่อนไปข้างหน้าเป็นเพียงดั่งตัวเลขผ่านสายตา เราอยากมีชีวิตอยู่ในพื้นที่แบบที่รัฐพยายามจัดหามาคืนให้แบบนี้กันจริงๆ น่ะหรือ ? … เอ่อ… มันไม่ใช่ราชประสงค์หรอกที่ท่านนำมามอบให้เรา
*
ได้ยินมาว่าทั้งนักรัฐศาสตร์ นักกฎหมาย ต่างเศร้าใจที่วิชาชีพตัวเองดูจะหมดความสามารถในการอธิบายทั้งความชอบธรรมหรือการคลายปมของสิ่งที่เป็นไปนี้ ข้าพเจ้าจึงจะขอลองเพ่งพินิจมันในฐานะนักออกแบบดูสักหน
*
ว่ากันตามทฤษฎีว่าด้วยมนุษย์และที่ว่าง คนหนึ่งหน่วยจะมีฟองอากาศรอบตัวขนาดระยะหนึ่ง เรียกว่า private space คนแปลกหน้าจะเข้าใกล้ได้ก็ในระยะรู้สึกปลอดภัย (territorial) ขนาดประมาณร่มกางหรือขอบฟองอากาศนั้น ส่วนคนที่ไว้ใจเราจึงสามารถกอดกันได้ จึงเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่งที่ campaign ก่อนการฆ่าจำนวนมากมายบอกให้ผู้คนในเดือน-ปีแห่งการเกลียดชังมารักกันไว้เถิด ใครมันจะกอดกันลงถ้าไม่ไว้ใจกัน ไม่ต้องรักกันหรอก ขอเพียงรู้จักเคารพที่จะไม่รุกล้ำฟองอากาศส่วนตัวกันนั้นก็เพียงพอแล้ว
*
และในชีวิตประจำวัน เราแต่ละหน่วยฟองอากาศต่างลอยกันอยู่ใน public space (พื้นที่สาธารณะ) บ้าง semi-public (กึ่งสาธารณะ) บ้าง ทุกคนมีสิทธิสมบูรณ์ที่จะเคลื่อนไปบนพื้นที่สาธารณะใดๆ พร้อมกับปรับเปลี่ยนจากพฤติกรรมส่วนตัวไปเป็นสาธารณะ ด้วยการประนีประนอมซึ่งกันและกันในเสรีภาพส่วนบุคคลภายใต้เงื่อนไขของกาละเทศะ
*
มีตัวอย่างกิจกรรมทางสังคมมากมายที่คนเมืองและชนบทแลกเปลี่ยนกันใช้พื้นที่สาธารณะทางกายภาพ ทั้งที่เป็นประโยชน์ร่วมและทั้งที่เอาเปรียบไม่เป็นธรรมต่อชนบท ซึ่งขอละไว้ในที่นี้
*
ประเด็นแรกคือ ความเป็นคนในพื้นที่ กับการเป็นเจ้าของทางกายภาพของพื้นที่สาธารณะในพื้นที่นั้นๆ เป็นคนละเรื่องกัน ข้าพเจ้าเป็นคนท่าพระจันทร์ เป็นเจ้าของตึกแถวริมน้ำเจ้าพระยา แต่แม่น้ำเจ้าพระยานั้นเป็นของคนมุกดาหารเท่าๆ กับที่เป็นของข้าพเจ้าเช่นกัน แม้ว่าชีวิตนี้เขาจะไม่มีโอกาสเห็นมันเลยก็ตาม คนเมืองซึ่งมีปัจจัยทางเศรษฐกิจในการเคลื่อนย้ายตัวเข้าใช้พื้นที่สาธารณะต่างๆ มักจะมีโอกาสใช้อำนาจนี้มากกว่าคนชนบท แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขามีสิทธิเป็นเจ้าของเมืองหลวงที่ใช้ประกอบกิจวัตรประจำวัน และมีชนบทเป็นเมืองขึ้นเพื่อใช้ในการเดินเล่น
วันหยุดพักผ่อน เว้นแต่มันเป็นสำนึกที่ร่วมอุปโลกน์ขึ้นมาในใจตัวเองจนหลงเข้าใจผิด
*
ประเด็นที่สองคือ สิทธิในการแสดงออกในที่สาธารณะ (ซึ่งรวมความไปตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นไปจนถึงการเรียกร้องทางการเมือง) หรือการมีปริมณฑลสาธารณะนั้น ทุกคนต่างมีได้เท่าเทียมกัน แสดงออกได้ทั้งบนพื้นที่ทางนามธรรม เช่น วิทยุ หนังสือพิมพ์ หรือสื่อทั้งหลาย หรือบนพื้นที่ทางกายภาพด้วยการทำกิจกรรมร่วมกันของคนบนสถานที่หนึ่งๆ
*
ชาวกรุงเทพฯ ไม่มีเอกสิทธิ์ในการถือครองพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ ว่าเป็นของตัว ไม่มีสิทธิเป็นผู้ตัดสินแต่กลุ่มเดียวว่ากาละเทศะใดคนในประเทศจึงจะมีสิทธิในพื้นที่สาธารณะแห่งมหานครนี้ และไม่มีสิทธิที่จะ discriminate การแสดงความเห็นทางการเมืองของเพื่อนร่วมชาติ รัฐมีหน้าที่เป็นกรรมการจัดสรรทรัพยากร แต่น่าเศร้าที่กรณีนี้กรรมการเลือกฟังเจ้าถิ่นที่กร่างว่าเป็นเจ้าของพื้นที่มิใช่ฟังเจ้าของประเทศ
****