ลุงโฮ: เทพเจ้าที่แสนสามัญ

นิกิตา ครุสเชฟ (1894-1971) อดีตนายกรัฐมนตรีรัสเซีย เคยกล่าวไว้ว่า โฮจิมินห์ เป็นเทพเจ้าที่มีลมหายใจของคอมมิวนิสต์ เขาบรรยายคุณลักษณะของโฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ ของชาวเวียดนามไว้ว่า

“ผมเจอคนมาก็มากแล้วในชั่วชีวิตทางการเมืองของผม แต่ไม่ค่อยมีใครสร้างความประทับใจให้กับผมได้สักเท่าไหร่ คนที่เชื่อในศาสนาก็มักจะพูดถึงนักบุญ ถ้าหากพิจารณาถึงวิถีชีวิตและอิทธิพลของเขาที่มีต่อผู้ที่เชื่อมั่นในตัวเขาแล้ว โฮจิมินห์น่าจะเปรียบได้กับนักบุญ เป็นนักบุญแห่งการปฏิวัติ ผมไม่เคยลืมแววตาอันสดใสและจริงใจของเขาเลย ความจริงใจของเขาคือคุณลักษณะอย่างหนึ่งของคอมมิวนิสต์ที่ไม่คดโกง ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเขาคือการที่เขาเป็นคนที่อุทิศตัวเพื่องานของเขา ในหลักการของเขาและการกระทำของเขา”

ศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรชายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสของไทยผู้มีความใกล้ชิดกับโฮจิมินห์ มองลุงโฮด้วยสายตาคล้ายๆ กับของครุสเชฟเหมือนกัน คือขนานนามเขาว่าเป็น “เทพเจ้าผู้ยังมีลมหายใจ” ในงานเขียนชีวประวัติของโฮจิมินห์ ซึ่งได้บรรยายชีวิตอันพิสดารของโฮจิมินห์เอาไว้อย่างละเอียด แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่โฮจิมินห์ทำนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ธรรมดายากนักจะทำได้
**
สำหรับทางการเวียดนามและคนเวียดนามจำนวนไม่น้อย โฮจิมินห์ หรือ ลุงโฮ ที่พวกเขานิยมเรียกกันนั้น เป็นบิดาแห่งชาติผู้ปลดปล่อยประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคม และเป็นผู้สร้างชาติให้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ และในอนาคตเวียดนามก็จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปด้วยแนวทางที่ลุงโฮได้วางเอาไว้เป็นรากฐานสำคัญ
ภาพพจน์ของลุงโฮจากการปั้นแต่งของทางการเวียดนามนั้น คือเป็นคนที่อุทิศทั้งหมดของชีวิตตัวเองให้กับประเทศชาติ ให้กับความเป็นประเทศเวียดนาม ลุงโฮยอมสละความสุขทั้งหมดในชีวิตที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะแสวงหา เขาใช้ชีวิตราวกับพระ ไม่มีครอบครัว ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ไม่ยึดติดกับอำนาจและลาภยศใดๆ ทั้งสิ้น ลมหายใจของลุงโฮนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับลมหายใจของประชาชน ถ้าหากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวเวียดนามด้วยวัตถุประสงค์ที่จะตามรอยลุงโฮจาก เหง่อานห์ บ้านเกิด ถึง ฮานอย เมืองหลวง (มีแพ็คเกจทัวร์แบบนี้อยู่มาก หาซื้อได้ทั่วไป ทั้งแบบเดินทางด้วยรถยนต์และเครื่องบิน ราคาแตกต่างกัน แต่จะได้รับสารอันเดียวกัน) จะพบว่า สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามได้แสดงให้เห็นเกี่ยวกับชีวิตของบิดาแห่งชาติคนนี้ ช่างไม่ธรรมดาเอาเลยจริงๆ บ้านของเขาที่เหง่อานห์นั้นเป็นกระท่อมไม้ไผ่เล็กๆ ไม่น่าเชื่อว่ามันจะคุ้มแดดคุ้มฝนได้ด้วยซ้ำ แม้มีที่ดินบริเวณบ้านค่อนข้างมาก แต่บ้านกระท่อมหลังนั้นก็เล็กนิดเดียว อยู่คนเดียวยังรู้สึกอึดอัด แต่เชื่อเถอะว่า มัคคุเทศก์จะบรรยายว่ากระท่อมไม้ไผ่หลังนี้อยู่กันทั้งครอบครัว 5-6 คน
**
ยิ่งที่ฮานอย ยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ ลุงโฮทำสงครามปลดปล่อยประเทศจนได้รับชัยชนะ ได้เป็นประธานาธิบดี ทางการได้จัดให้เขาอาศัยอยู่ในทำเนียบประธานาธิบดีซึ่งเป็นตึกหลังใหญ่ แต่เขาไม่ชอบบ้านของรัฐที่ใหญ่โตมโหฬารขนาดนั้น เลยขอไปอยู่เรือนคนรับใช้แทน (ผู้เขียนถามแบบตลกๆ กับมัคคุเทศก์ว่า ตอนนั้นคนรับใช้ต้องขึ้นไปอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีแทนท่านหรือเปล่า ไม่ได้รับคำตอบ นอกจากเสียงหัวเราะแหะๆ พร้อมคำพูดเสริมว่า บางทีลุงโฮลงไปอยู่ใต้ดิน เพราะช่วงที่ท่านอยู่ฮานอยนั้นมีระเบิดลงเยอะ) ในบ้านซึ่งเรียกกันว่าเป็นบ้านลุงโฮนั้น แทบไม่มีข้าวของเครื่องใช้อะไรเลย ที่จัดแสดงเอาไว้มีเพียงเตียงนอน โต๊ะเขียนหนังสือ และวิทยุสำหรับฟังข่าวเท่านั้นเอง
**
ด้วยภาพพจน์แบบนี้เอง จึงทำให้ลุงโฮกลายเป็นคนที่น่าเคารพนับถือยิ่งนัก คนเวียดนามที่ไม่ได้เกลียดคอมมิวนิสต์จึงต้องนับถือลุงโฮในความเสียสละอันใหญ่หลวงนี้ รัฐบาลเวียดนามไม่ค่อยจะยอมอนุญาตให้ใครวิพากษ์วิจารณ์ลุงโฮของเขาในทางเสียหาย แต่แน่นอน ไม่ได้ถึงขนาดที่ทำให้ลุงโฮกลายเป็นเทพที่ลอยตัวอยู่เหนือมนุษย์ธรรมดาหรือมีอภินิหารใดๆ เหมือนอย่างประเทศอื่นๆ ที่พยายามจะทำให้ผู้นำของตัวเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้จนถึงขั้นต้องออกกฎหมายห้าม ถ้าเทียบกับดีกรีที่เกาหลีเหนือทำให้กับคิมทั้งผู้พ่อและผู้ลูก หรือกรณีที่ประเทศไทยได้ทำให้กับพระมหากษัตริย์แล้ว ต้องถือว่าสิ่งที่รัฐบาลเวียดนามทำให้ลุงโฮนั้นไม่ได้มากมายอะไรเลย อาจจะดูเล็กน้อยแสนธรรมดาเสียด้วยซ้ำไป ลุงโฮในภาพพจน์ที่ทางการเวียดนามพยายามสร้างนั้นยังเป็นมนุษย์อยู่มาก ส่วนที่พอจะดูเป็นมนุษย์ที่ผิดธรรมดาอยู่บ้างก็คือ ภาพพจน์ที่ทำให้รู้สึกว่าลุงโฮไม่เคยคิดผิดหรือทำอะไรผิดพลาดมาเลย
**
แต่ โซฟี ควิน-จัดจ์ (Sophie Quinn-Judge) อดีตอาสาสมัครที่เคยทำงานในเวียดนาม พูดถึงโฮจิมินห์ต่างออกไปมาก แน่นอนคนที่พูดถึงลุงโฮนั้นมีหลายแง่มุมจากมุมมองที่แตกต่างกัน คนที่ชอบหรือเคารพนับถือ ก็จะพูดถึงความพิเศษผิดมนุษย์มนามากหน่อย ส่วนคนที่ไม่ชอบนั้นก็พูดเสียจนกระทั่งว่าโฮจิมินห์เป็นภูตผีปีศาจที่ไหนก็ไม่ปาน แต่งานของควิน – จัดจ์ น่าจะเป็นงานที่ดีที่สุดเท่าที่สามารถหาอ่านได้ในโลกภาษาอังกฤษที่พูดถึงโฮจิมินห์อย่างเป็นมนุษย์ กล่าวคือเธอพูดถึงโฮจิมินห์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีถูกมีผิด ต้องยอกย้อนและประนีประนอมกับหลักการของตัวเองบ้างในบางครั้ง โลกของลุงโฮจริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าเดินทางเป็นเส้นตรง แบบว่าเกิดมาถูกหล่อหลอมให้รักชาติ เดินทางศึกษาหาความรู้ ประสบการณ์ แล้วกลับมากู้ชาติสร้างบ้านแปงเมืองแค่นั้น แต่จริงๆ แล้วยอกย้อน วกวน มีสำเร็จ มีพ่ายแพ้ มีเรื่องเลอะเทอะปะปนอยู่ไม่น้อย
**