ฮิวเมอริสต์แบบไม่ขำ

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ผมไม่ได้หมายถึงท่านผู้อ่านคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะที่กำลังอ่านข้อความนี้อยู่ แต่ผมอยากกล่าวทักทายท่านผู้อ่านรวมรวมหลายหลายคนไว้เสียคราวหนึ่งก่อน เพราะไม่อาจนึกออกได้ตอนนี้ว่าเป็นใครบ้างในขณะที่กำลังเขียนอยู่ ได้แต่คะเนว่าคงจะมีท่านผู้อ่านอยู่ข้างนอกนั้นมากกว่าหนึ่งคนเป็นแน่ มิฉะนั้นผมก็แย่
**
ที่ผมเขียนอยู่ขณะนี้ก็ประสงค์จะชวนท่าน (หมายถึงท่านหลายคนไม่ใช่ท่านคนเดียว) อ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มหนึ่งของ “ฮิวเมอริสต์” (อบ ไชยวสุ) ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่ผู้จัดพิมพ์ครั้งล่าสุดใช้ชื่อเล่มว่า เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง รวมเรื่องสั้นบางเรื่องของฮิวเมอริสต์ (ฉบับพิมพ์ ครั้งที่สอง 2551) ตามชื่อเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ ที่กล่าวว่าชวนอ่านนั้นความจริงแล้วก็มิได้หมายความว่าให้ท่านลุกขึ้นเดี๋ยวนี้แล้วไปหาซื้อหนังสือเล่มนั้นมาอ่านทันที ฉะนั้นที่บอกว่าชวนท่านอ่านจึงหมายความจริงจริงว่าชวนท่านอ่านจากสิ่งที่ผม “อ่าน” แล้วเขียนให้ท่านอ่านต่ออีกทอดหนึ่ง
**
ที่ชวนก็เพราะเชื่อว่าเมื่อท่านอ่านแล้วจะ “รู้ภาษา” มากขึ้น แถมเป็นความรู้ติดติดจะครื้นเครงอยู่อีกด้วย เอ- แต่ความจริงท่านก็ต้องรู้ภาษาอยู่แล้วไม่อย่างนั้นคงอ่านข้อความนี้ไม่ได้ แต่ท่านเข้าใจผมไหม ? ว่าผมหมายถึงการรู้ภาษาอีกความหมายหนึ่ง ไม่ใช่รู้ภาษาในความหมายของการรู้ความน่ะ หมายถึง รู้ภาษาจริงจริง
**
รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้นที่ตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 แต่อายุของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องนั้นยิ่งเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีก คือเรื่องแรกเขียนขึ้นในปี พ.ศ. 2474 และอีกหกเรื่องที่เหลือเขียนขึ้นระหว่างทศวรรษ 2490 โดยเรียงลำดับเรื่องสั้นภายในเล่มดังต่อไปนี้คือ “สุนทรพจน์เปิดส้วมสาธารณะ” (2474) “ออกป่าล่าสัตว์” (2492) “นำเที่ยวไทยแลนด์ (สยาม)” (2493) “ศิลปินกลองยี่เก” (2494) “สุขนาตะกัม” (2497) “เอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง” (2490) และ “นวกทนต์” (2498)
**
ตอนท้ายของหนังสือเล่มนี้ยังมีการตีพิมพ์ซ้ำบทปริทัศน์สองชิ้นที่เขียนโดยคุณพรพิไล เลิศวิชา ชิ้นหนึ่ง และโดยคุณกิตติพล สรัคคานนท์ อีกชิ้นหนึ่ง บทปริทัศน์ทั้งสองกล่าวถึงลักษณะเด่นของงานประพันธ์ของฮิวเมอริสต์ไว้สองอย่างที่ผมเห็นว่าสำคัญคือ อย่างแรกคือแง่มุมการสังเกตความเป็นไปในสังคมอย่างละเอียดลออและล้อเลียนได้อย่างแสบคันเมื่อเห็นว่าความเป็นไปนั้นเป็นไปอย่างตามกันเหมือนไร้ความคิด อย่างถัดมาคือความโดดเด่นของการใช้ภาษาและชั้นเชิงวรรณศิลป์อย่างที่เป็นการสำรวจพรมแดนของภาษาและขอบเขตอันจำกัดของประพันธศิลป์นั้นเทียว
**
ผมก็ว่าเรื่องของฮิวเมอริสต์นั้นดีอย่างที่คนเขียนบทปริทัศน์ทั้งสองกล่าวไว้แล้วว่าดี กล่าวแบบนี้่ท่านทั้งหลายอาจจะฉงนว่าแล้วผมจะมาเขียนหาสวรรค์ที่ไหนอีกในเมื่อมีผู้กล่าวคำนิยมงานของฮิวเมอริสต์ไว้ทั้งแง่เนื้อหาสะท้อนสังคมในยุคเปลี่ยนผ่านได้อย่างแหลมคม และรูปแบบการประพันธ์พลิกพลิ้วลื่นไหลยอกย้อนย้อนยอก (ท่านอาจเติมไม้ยมกหลังคำยอกย้อนย้อนยอกได้ไม่จำกัดจำนวนตามรสนิยมในความยอกย้อนของท่านแต่ละคน) ดีพอแล้วก็น่าจะพอเพียง ไม่ต้องสรรเสริญอะไรเพิ่มเติมให้กีดขวางระหว่างตัวบทประพันธ์และท่านทั้งหลายที่ได้อ่านและจะอ่านงานของฮิวเมอริสต์ในกาลข้างหน้า
**
มิได้ครับ ผมไม่ประสงค์จะเขียนยอฮิวเมอริสต์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ผมประสงค์จะเสนอตนเป็นตัวแทนของท่านทั้งหลาย และขณะที่ผมบอกเช่นนี้ผมก็จินตนาการไปแล้วว่าตนเองเป็นหนึ่งในบรรดาท่านทั้งหลาย ที่เป็นผู้อ่านนิรนามที่ฮิวเมอริสต์เองก็ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้างในขณะที่เขาเขียนเรื่องต่างต่าง เพราะถึงเขาจะนึกถึงผู้อ่านในขณะนั้น แต่ก็คงจะเหลือความสามารถที่จะนึกถึงพวกเรา (ท่านทั้งหลาย + ผม) ได้ในขณะที่เขียนอยู่ เพราะเราที่หยิบหนังสือของฮิวเมอริสต์มาอ่านในตอนนี้ น้อยคนหรือไม่มีสักคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนที่ท่านลากดินสอเล่าเรื่องอยู่เลย
**
ฉะนั้นที่ผมจะเขียนถึงฮิวเมอริสต์จึงเกี่ยวกับ “งานเขียน” ของฮิวเมอริสต์พอพอกับที่เกี่ยวกับ “งานอ่าน” ของท่านทั้งหลาย ซึ่งสำหรับผมแล้วมีความน่าสนใจและจะน่าสนใจยิ่งขึ้นเมื่อมาใช้กับงานเขียนแบบของฮิวเมอริสต์โดยเฉพาะ ผมจะบอกต่อไปว่าทำไม ซึ่งความจริงท่านก็อาจจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าทำไมเมื่อได้อ่านเอาเอง แต่อาจมีบางท่านในหมู่พวกเราที่ไม่อยากบอกว่าทำไมเพราะไม่สนใจว่าทำไม ใครอยากรู้ก็อ่านเองสิ ผมจึงอาสาเป็นโซ่ข้อกลางกล่าวแทนท่าน รอว่าเมื่อไรท่านทั้งหลายได้อ่านงานของฮิวเมอริสต์เองแล้วก็ลองเทียบดูว่า “ทำไม” ของเราเหมือนกันหรือไม่
*******