“ถ้าดิฉันจะร่วงหล่นลงด้วยน้ำใจของคุณ, เพื่อนรัก, มันคงไม่ก่อนใบไม้ในหน้านี้จะร่วงหมดเป็นแน่—”
(เรียมเอง, “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น”)
พิกลอยู่เหมือนกันที่ประโยคนี้ทำให้ดิฉันถึงกับวางปากกาและเงยขึ้นจากงานเสมียนอาลักษณ์จำเป็นตรงหน้า แล้วสายตาที่เริ่มมีอาการเหม่อลอยผ่านทะลุผนังกระจกใสก็ไปหยุดอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่เรียงรายที่ใบสีเหลืองบ้างแดงบ้างของมันกำลังร่วง ร่วงอย่างที่เพื่อนคนหนึ่งเคยเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังเมื่อครั้งที่เขามาเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้า ว่าเขาไม่รู้จะบรรยายอย่างไรนอกจากบอกว่ามันตั้งหน้าตั้งตาร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง ร่วง
ชั่วขณะนั้น เพื่อนคนหนี่งผู้นัดหมายไว้ว่าจะมาดื่มกาแฟด้วยก็มายืนอยู่ตรงหน้า เมื่อเห็นสมุดหนังสือกางอยู่เต็มโต๊ะ เขาก็ถามว่าทำอะไรง่วนอยู่หรือ ดิฉันแง้มให้เขาดูปกหนังสือสองเล่มที่ดิฉันกำลังคัดลอกข้อความบางหน้าจากในนั้น; แม้ไม่เหลือมาลัยในปฐพี ก็ยังมีมาลัยคล้องใจคน และ ตายเพื่อเกิด* “ที่เมืองไทยก็คงมีอยู่หรอกค่ะ แต่หายาก เป็นหนังสือในมือนักสะสมเสียมากกว่า” ดิฉันรีบอธิบาย “แค่อยากจะเห็นว่าอะไรบ้างที่ถูกเลือกใส่ไว้ในหนังสืองานศพเล่มนี้ของนักเขียนคนนี้ แล้วคัดลอกบางอย่างที่น่าสนใจเก็บลงสมุดบันทึกไว้” และเมื่อเห็นว่าเขายังไม่คลายสงสัย “นอกเหนือจากที่ต้องการประหยัดค่าสำเนาหน้าละสิบเซนต์แล้วก็เป็นเพราะว่าดิฉันใช้เครื่องถ่ายเอกสารทันสมัยของห้องสมุดนี้ไม่เป็น จึงนั่งคัดลอกด้วยมือค่ะ”
เขาคว้าย่ามสีเปลือกมังคุดที่เพิ่งวางลงบนโต๊ะกลับไปสะพายใหม่ “มา เดี๋ยวผมทำให้” แล้วครึ่งชั่วโมงถัดมาที่ควรจะได้เป็นการนั่งสนทนาสบายๆในร้านกาแฟของห้องสมุด ก็กลายเป็นการยืนคุยกันอย่างขลุกขลักอยู่ข้างเครื่องถ่ายเอกสารเพื่อจัดการสำเนาหนังสือสองเล่มให้กลายเป็นไฟล์สแกน ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้กำลังเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกี่ยวกับบางประเด็นอันเกี่ยวเนื่องกับบางพิธีไสยศาสตร์ของไทยผู้นี้ เลือกที่จะไว้ผมทรงคล้ายๆ พระสงฆ์ไทย ดิฉันแซวว่าเมื่อประกอบกันเข้ากับย่ามอย่างย่ามพระที่เขาชอบสะพาย และความใจดีที่เขาอุตส่าห์ช่วย
สงเคราะห์ฆราวาสผู้จนยากและขลาดเขลาอย่างดิฉันในคราวนี้ด้วยแล้ว “เหมือนพระจริงๆเจียวค่ะคุณ” ดิฉันว่า แต่ในชั่ววินาทีถัดมาเราก็หัวเราะและแทบจะพูดออกมาพร้อมกัน “แต่พระไทยเขาไม่ค่อยจะเอ็นดูเมตตาต่อสถานะผู้หญิงในโลกของสังฆะสักเท่าไหร่นี่นา” (ใช่ค่ะ ดิฉันยังจำได้ถึงสายตาระวังภัยของเหล่าภิกษุที่มีต่อดิฉันเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนที่ดิฉันต้องไปหาหนังสือในห้องสมุดของวัดแห่งหนึ่ง แล้วท่านเหล่านั้นต้องคอยรวบจีวรไม่ให้ชายว่อนมาโดนกายหยาบบาปหนาของสีกาผิดกาละเทศะคนนี้) การสนทนายังไม่ทันจบ แต่ถ่ายสำเนาหนังสือเสร็จแล้ว และดิฉันก็ต้องรีบเผ่นแล้วเมื่อดูนาฬิกา เพราะถึงเวลานัดที่จะมีเพื่อนอีกคนมารับกลับที่พักแล้ว ดิฉันได้แต่หันไปโบกมืออำลาและทิ้งท้ายเป็นภาษาไทย “ขอบคุณนะคะหลวงพี่”
เพื่อนผู้ขับรถมารับดิฉันกลับบ้านเป็นชายวัยเจ็ดสิบผู้มีหัวใจราวหนุ่มวัยสิบเจ็ด เขาชวนให้ดิฉันเปลี่ยนบรรยากาศจากบ้านพักข้างมหาวิทยาลัยมาพักอยู่ที่บ้านบนเขาของเขาสักสามสี่วันแล้ว ทำกับข้าวบ้าง ขนฟืนบ้าง นั่งคุยนั่ง
ทอดธุระกันไปเรื่อยเปื่อยบ้าง ห่างไกลจากพื้นที่ทางการของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น แต่วันนี้เขามีธุระต้องเข้ามามหาวิทยาลัย จึงได้พาดิฉันมาหย่อนรอเขาไว้ที่ห้องสมุด และทำให้ดิฉันได้มีโอกาสกอบโกยสำเนาอะไรต่อไปอีกนิดพร้อมกับที่ได้รับนัดกินกาแฟ
เมื่อขึ้นนั่งบนรถแล้วดิฉันก็ถามถึงธุระของเขาว่าเรียบร้อยดีหรือไม่อย่างไร เขาว่าก็เสร็จพิธีไปตามวิสัยของคนที่มักจะมีคนมาขอนัดสัมภาษณ์ รอบนี้เป็นนักข่าวชาวญี่ปุ่นผู้ดั้นด้นลัดฟ้ามาเพื่อสัมภาษณ์เขาเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองของมหาอำนาจ มิไยว่าเขาจะพยายามปฏิเสธการให้สัมภาษณ์อย่างไร แต่สุดท้ายเขาก็ต้องออกจากบ้านมาอย่างเซ็งๆในชุดเสื้อสูทกางเกงขาสั้นลายตาหมากรุกสีสะท้อนแสงที่ดิฉันแซวว่าช่างเปรี้ยวนัก เขาบ่นกระปอดกระแปดถึงเมื่อครั้งวันวานที่คนเราสามารถออกจากบ้านไปไหนได้โดยไม่มีใครมาสนใจว่าจะแต่งตัวอย่างไร ดิฉันอมยิ้มแล้วก็เงียบไว้ พอเริ่มพ้นจากพื้นที่มหาวิทยาลัยมาสักระยะเขาก็ดูจะผ่อนคลายขึ้น เราแวะซื้อปลาหมึกแช่แข็งและมะขามเปียกแกะเม็ดแล้วที่เหลือแต่เนื้อดำปี๋อัดแน่นเหมือนกะปิอยู่ในกระปุกเล็กๆสำหรับส่งออกมาขายแถวนี้ เขาว่าจะเอาไปทำอาหารอินโดให้ดิฉันลองชิม เราหาซื้อสะตอที่เขาอยากลองเอามาผัดไม่ได้ คนขายบอกว่าขาดตลาดตั้งแต่ต้นทางที่ในตัวเมืองนิวยอร์คมาพักใหญ่แล้ว
ความเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ผ่านอะไรมามากของเขา ทำให้ดิฉันชอบฟังเขาเล่าเปรียบเทียบทั้งในทางกาละ (อดีต/ปัจจุบัน) และเทศะ (ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศและภูมิภาคต่างๆ ที่เขาได้ศึกษาหรือได้ไปใช้ชีวิตมา) และความเป็นคนช่างคิด ช่างสงสัยของเขา ก็มักจะทำให้เรื่องเล่าเหล่านั้นเป็นมากกว่าการรำพันความหลังเพื่อข่มทับปัจจุบันอันไร้เดียงสาอย่างที่ดิฉันมักได้พบเจอมาจากผู้ใหญ่คนอื่นๆ บางทีดิฉันก็สบช่องอาศัยความใจกว้างชอบรับฟังความเห็นคนรุ่นหลังของเขาเป็นข้ออ้างในการที่จะได้พูดอะไรโง่ๆออกไปอย่างสบายใจบ้าง
แล้วเราก็วกมาเรื่องที่เขาเพิ่งไปปาฐกถามาเมื่อวันก่อน ที่บรรดานักศึกษาและครูบาอาจารย์มากมายพากันจ้ำเท้าลัดสนามหญ้าข้ามตึกของมหาวิทยาลัยอันกว้างใหญ่ เพื่อมาฟังเขาพูดเรื่อง “จดหมาย, ความลับ และยุคสมัยข้อมูลข่าวสาร” หนึ่งในประเด็นที่เขาพูดวันนั้นคือเรื่อง archive หรือคลังเอกสารและวัตถุดิบทางประวัติศาสตร์ เขาถามดิฉันว่า ที่เมืองไทย มีใครหรือหน่วยงานใดคอยเก็บจดหมาย บันทึก หรือหลักฐานเรื่องราวต่างๆในชีวิตของนักคิดนักเขียนคนสำคัญๆ เพื่อเป็นคลังข้อมูลสำหรับคนรุ่นหลังต่อไปหรือไม่ ดิฉันไม่แน่ใจ ถ้าจะถามถึงหน่วยงานอย่างเป็นทางการก็คงไม่มี สิ่งที่จะได้รับการเก็บไว้เพื่อจัดแสดงก็มีแต่เรื่องราวและข้าวของของเจ้าและขุนนางบางคน ส่วนคนสามัญทั่วไปนั้นถ้าจะเห็นอยู่บ้างก็เป็นเรื่องของบางองค์กรเอกชน มิฉะนั้นแล้วก็เป็นเรื่องของแต่ละครอบครัวจะจัดการไป เขาบ่นว่ามันน่าจะมีคนทำขึ้นมาเสียทีได้แล้ว
ดิฉันนึกอยากหาเรื่องแหย่เขาบ้าง ก็ถามกลับไปว่าถ้าเกิดเจ้าตัวเขาไม่ได้อยากให้ใครมาวุ่นวายกับอะไรเหล่านั้นที่เขาอาจถือเป็นเรื่องส่วนตัวล่ะ ดิฉันเล่าให้เขาฟังถึงเมื่อซักยี่สิบปีก่อนที่หยิบหนังสือรวมเล่มผลงานของฟรานซ์
คาฟกา มาอ่าน ครั้นเมื่ออ่านเรื่องแรกคือ The Trial จบไปอย่างเมามัน แล้วก็หันกลับไปพลิกดูส่วนบทนำหรือ Introduction ว่าทำไมหมอนี่ถึงมีฝีมือร้ายกาจขนาดนี้ ปรากฏว่าบางส่วนของบทนำนั้นบอกว่าคาฟกาสั่งเสียไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนให้เผาบันทึกต้นฉบับและจดหมายทั้งหลายของเขาทิ้งเสียโดยไม่มีข้อยกเว้น และถ้าจะให้ดีก็ควรเผาทิ้งโดยไม่อ่านด้วย “But everything else of mine which is extant (whether in journals, in manuscript or letters), everything without exception in so far as it is discoverable or obtainable from the addressees by request […] – all these things without exception and preferably unread […] – all these things without exception are to be burned, and I beg you to do this as soon as possible.” ** แต่เพื่อนของคาฟกาตัดสินใจไม่ทำตามคำสั่งเสียนั้น และนำงานของเขารวมทั้ง The Trial นี้และจดหมายรวมถึงบันทึกประดามี
(เท่าที่รอดจากการถูกเผา)มาตีพิมพ์อีกด้วย ดิฉันเข้าใจได้ถึงการตัดสินใจของเพื่อนผู้นั้น และหากในวันนั้นเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น ดิฉันก็คงไม่มีโอกาสได้อ่านนวนิยายเรื่องนี้ในวันนี้ แต่ดิฉันก็ยังอดไม่ได้ที่จะรู้สึกผิดว่าเราได้ไปละเมิดความตั้งใจของผู้เขียน และเมื่อนึกถึงหัวอกว่าหากเป็นเราบ้างเล่า จะรู้สึกอย่างไรที่มีคนมาอ่านสิ่งที่เราสั่งเสียเป็นเด็ดขาดว่าไม่ต้องการให้ใครมาอ่าน ความรู้สึกนี้ค้างคาไม่อาจปลงใจได้ถึงขั้นที่ทำให้ดิฉันไม่ยอมอ่านหนังสือเล่มนั้นต่ออีกเลย นิทานเรื่องนี้สอนให้ดิฉันรู้ว่า งานเขียนส่วนตัวใดๆที่ดิฉันไม่อยากให้ใครอ่าน ก็จงทำลายมันทิ้งซะเองให้เรียบร้อยก่อนตาย
เพื่อนของดิฉันข้องใจว่าทำไมดิฉันจึงจะต้องรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจนักหนาหากว่ามีใครมาอ่านบันทึกส่วนตัวหรือจดหมายของดิฉัน “ในเมื่อถึงตอนนั้นคุณก็ตายไปแล้ว ไม่ได้รับรู้แล้ว” ดิฉันตอบไม่ถูก ขัดข้องอยู่แต่ว่าเรื่องบางเรื่องที่เป็นส่วนตัวของเราเมื่อเรายังมีชีวิต ทำไมมันจึงจะต้องกลายเป็นเรื่องสาธารณะเมื่อเราเสียชีวิตไปแล้วด้วย แต่ถึงที่สุดแล้วก็ดิฉันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในท่ามกระแสของวันเวลา สิ่งที่ต้องกลายเป็นสาธารณะนั้นอาจจะใช่แต่เพียงเนื้อหา แต่แม้กระทั่งตัว วัตถุ ที่โอบอุ้มเนื้อหานั้นไว้ก็ยังกลายเป็น วัตถุดิบ ทางประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวของมันเองต่างหากออกไปอีกด้วย
ดิฉันนึกถึงปาฐกถาที่ได้ฟังวันนั้น แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงอะไรที่กว้างและใหญ่กว่า แต่ท่อนที่ดูเหมือนว่าผู้ฟังจะกระทบใจกันนั้น กลับเป็นเกร็ดส่วนตัวที่แทรกเข้ามาในช่วงท้าย
คงจะเป็นในราวปี 1990 ซึ่งแม่ผมตาย ที่ผมไม่ได้รับจดหมายอีกแล้ว แม่เขียนถึงผมอย่างเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอทุกสิบวันหรือในราวนั้นนับแต่ผมออกจากอเมริกามาเมื่อปี 1958 ผมถือเป็นความเคยชินและเขียนตอบกลับภายในชั่วกำหนดระยะเวลาเดียวกันเกือบจะเสมอ และทุกฉบับก็เป็นจดหมายที่ยังต้องซื้อแสตมป์มาติดด้วย
วอลเทอร์ เบนจามิน เคยกล่าววาทะอันโด่งดังไว้ว่า เราจะรู้สึกถึงความงดงามของสิ่งต่างๆก็ ณ ขณะที่มันกำลังหายไป หลังจากแม่ตาย ผมนำจดหมายของแม่ทุกฉบับมาพิศดูใหม่ และนึกทึ่งเมื่อเห็นว่าในการเขียนด้วยปากกาหมึกซึมของแม่นั้น ไม่เคยมีการขีดฆ่าอะไรออกไปเลย แม่มีเวลาที่จะใคร่ครวญและคิดถึงสิ่งที่แม่ต้องการจะสื่อสารมาถึงผม ต่อมาผมก็เห็นลักษณะแบบเดียวกันนั้นในสมุดบันทึกของพ่อและในจดหมายของปู่ – สไตล์ส่วนตัวที่สละสลวยอย่างผึ่งผายและไม่มีการลบทิ้ง
จดหมายบางฉบับที่ผมเขียนถึงแม่ก็เขียนด้วยลายมือเหมือนกันถ้าผมกำลังอยู่ระหว่างการลงพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นจดหมายพิมพ์ดีด และมีการขีดฆ่าเต็มไปหมดเพราะพิมพ์ผิดบ้าง ไวยากรณ์ห่วยบ้าง ถ้อยคำตกหล่นบ้าง เครื่องพิมพ์ดีดชวนให้ผมทำได้เร็ว แต่อย่างน้อยร่องรอยของความรวดเร็วที่เฟอะฟะนั้นก็เห็นได้ชัดมาก และยังมีความวางใจอย่างซื่อๆในจดหมายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรอยเปื้อนแซนด์วิชทูน่าบนจดหมายของผม หรือลักษณะการเอนของลายมือในจดหมายที่แสดงให้เห็นว่าแม่กำลังอารมณ์ดีหรือกำลังหงุดหงิดรำคาญ เราต่างเขียนถึงซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เขียนถึงคนอื่น
แม่จะเก็บจดหมายของผมไว้แค่บางฉบับที่เห็นว่าสำคัญ ขณะที่ผมเก็บ archive จดหมายของแม่ไว้อย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นเพราะโดยสัญชาติญาณแล้วก็พอจะคาดการณ์ได้ถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อมา การส่งจดหมายสักฉบับถึงคนนับร้อยภายในคราวเดียวกันทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักกันนั้นไม่ใช่เรื่องทีี่่ไกลเกินจะจินตนาการ ถ้าตอนนั้นผมอยากทำลายจดหมายเหล่านี้ทิ้งเสีย มันก็คงจะหายสาบสูญไปตลอดกาล
นี่คือเหตุผลว่าทำไมการอ่านจดหมายของจริงที่เก็บไว้เป็น archive จึงมีอะไรที่ดูจะวิปริตอยู่บ้างอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือความรู้สึกเหมือนได้แอบดูหรือถ้ำมอง โดยไม่ต้องมีความเสี่ยงว่าเราเองก็อาจเป็นฝ่ายถูกแอบดูได้เหมือนกัน อย่างน้อยก็จนกว่าจะถึงวันที่เราตาย ***
แต่แหม ก็คุณเป็นตั้งนักวิชาการคนสำคัญระดับโลกนี่คะ ดิฉันชักถอยร่นมาเถียงในใจเพราะรู้ว่าเขาเบื่อจะตายอยู่แล้วกับการที่ใครๆปฏิบัติกับเขาในฐานะนั้น คนเขาคงไม่สนใจจะมาวิเคราะห์จดหมายของคุณแม่ของคุณนักหนาหากไม่ใช่มันเป็นเพราะว่าคุณแม่ของคุณคือคุณแม่ของคุณ ดิฉันได้แต่ดึงดันแบบข้ามช็อตไปว่า นิทานเรื่องคาฟกายังสอนให้ดิฉันตั้งใจไว้อีกว่า ถ้าหากเราทำให้ตัวเองเป็นคนไม่มีความสำคัญซะ ประวัติศาสตร์ก็คงไม่ต้องมายุ่งกับเรามากเกินกว่าที่เราจะอยากให้ยุ่ง เพราะถ้าดิฉันมีความสำคัญถึงขนาดที่ทำให้การจะเข้าใจประวัติศาสตร์ร่วมสมัยจำเป็นต้องทำความเข้าใจผ่านประวัติชีวิตของดิฉันด้วยแล้ว ดิฉันก็คงไม่มีข้ออ้างที่จะหวงเนื้อหวงตัวหรือไว้ตัวใดๆอีกต่อไป แม้สมัยเป็นเด็กอนุบาลดิฉันจะเคยอยากเป็นนางฟ้า แต่มันคนละความหมายกับการเป็นเทวดาของสังคมไทยแน่ๆ และครั้นเมื่อโตขึ้น ดิฉันก็มีแต่ตั้งใจจะทำให้ตัวเองเล็กลงเรื่อยๆ ใช่แต่ไม่เป็นนางฟ้า แต่ยังจะเป็นคนธรรมดาที่;
เพียงหวังยังชีพเช่นนี้ อย่ามีใครรู้เห็น
ยามสิ้นลมอย่าหลังเร้น ร่ำไห้
สูญจากแผ่นดิน ไร้แม้หลักหิน
ปักป้ายเหนือร่าง ณ ที่ฉันตายThus let me live, unseen, unknown;
Thus unlamented let me die;
Steal from the world, and not a stone
tell where I lye.“Ode on solitude”, Alexander Pope (1688-1774)
ได้ผล ไม่ใช่ในแง่การหักล้างข้อถกเถียง แต่การพูดถึงบทกวีนั้นช่วยให้ดิฉันเบี่ยงตัวหลุดจากภาวะจนมุมออกมาได้ เขาบอกว่านานเหลือเกินแล้วที่ไม่ได้อ่านหรือได้ยินบทกวีที่งดงามชิ้นนี้ ดิฉันบอกเขาว่านานแล้วเหมือนกันที่ดิฉันจะพล่ามถึงมันออกมา เราไม่ควรเอาความประทับใจอันอ่อนไหวในวัยสิบหก (ที่มีต่อบทกวีที่เขียนในวัยสิบสองของกวีฝรั่งคนหนึ่ง!) มาเผยให้ใครเห็นเราเป็นตัวตลกในวัยนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าอิทธิพลของมันยังตกค้างอยู่ก้นบึ้งตรงไหนสักแห่งที่เป็นแรงผลักดันและเครื่องกำกับการทำหรือไม่ทำอะไรของเรา
และเมื่อคุยถึงขั้นนี้ ก็ไม่พ้นที่เขาจะถามถึงอนาคตของดิฉัน อันหมายถึงอนาคตของวารสาร อ่าน และสำนักพิมพ์อ่านด้วย ดิฉันบอกเขาว่าในที่สุดดิฉันตัดสินใจแล้วว่าถึงเวลาที่ดิฉันจะต้องผลัดให้คนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารอ่าน แทนได้แล้ว ส่วนดิฉันก็จะยังช่วยเหลือดูแลในทางบริหารและจะยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์อ่านต่อไป ดิฉันเพียงต้องการถอยจาก “หน้าร้าน” และยกพื้นที่นั้นให้คนรุ่นใหม่ที่แม้จะทำงานใกล้ชิดกันมานานและมีความคิดความอ่านคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็มีความต่างทั้งในแง่วัย รวมถึงความสดใหม่ทางความคิดด้วย คนบางคนนั้นเมื่อเราอ่านออกว่าเขามี “good judgement” เราก็โล่งใจได้ว่าเราไม่จำเป็นต้องถือหางเสือคนเดียวอีกต่อไปแล้ว เขายิ้ม ดิฉันรู้ เขาเข้าใจ แม้ดิฉันจะถือเป็นคนรุ่นใหม่สำหรับเขา แต่ดิฉันก็ควรสำเหนียกว่าดิฉันก็ย่อมจะเป็นคนรุ่นเก่าสำหรับคนรุ่นใหม่กว่าได้เหมือนกัน
และก็ช่างเป็นเรื่องพอเหมาะพอดีที่ในช่วงเวลาของการตัดสินใจนี้ ดิฉันได้รับเชิญให้มาร่วมเวิร์คช็อปที่จัดขึ้นโดยโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เพื่อมาพูดถึงประสบการณ์และความรู้สึกในฐานะบรรณาธิการวารสารอ่าน ราวกับมีเพื่อนชวนให้มานั่งทบทวนด้วยกันถึงสิ่งที่ผ่านมารวมทั้งความหมายและฐานะของสิ่งที่ได้ทำลงไป และหัวข้อของเวิร์คช็อปนั้นก็ขยายไว้อย่างครอบคลุมว่า “การเมืองของการวิจารณ์ในเมืองไทย : ศิลปะและวารสารอ่าน” (The politics of criticism in Thailand : Arts and Aan”)**** ซึ่งมีนักวิชาการอีกหลายคนเข้าร่วม โดยที่จำนวนหนึ่งในนั้นก็เป็นนักวิชาการทั้งไทยและเทศที่เคยมีผลงานตีพิมพ์ลงในวารสาร อ่าน ด้วย การต้อนรับอย่างอบอุ่นและให้เกียรติต่อกัน รวมทั้งความเข้าอกเข้าใจต่อสถานการณ์ของสองปัญหาหลักที่ดิฉันเสนอในเวิร์คช็อป คือปัญหาการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์และปัญหาการเมืองของเพศสถานะหญิง-ชายนั้น ทำให้ดิฉันรู้สึกผ่อนคลายจากความกดดันอย่างที่เผชิญอยู่ที่เมืองไทย และรู้สึกคล้ายจะได้เยียวยาตัวเองจากอาการของหญิงเสียสติอยู่กลายๆ แต่มันก็คล้ายจะขัดแย้งในตัวเองเมื่อนึกถึงว่า หากจะพยายามให้ตัวเองไม่อยู่ในประวัติศาสตร์ ทั้งได้พยายามหลีกเลี่ยงการเป็นที่รู้จักหน้าค่าตาและการพบปะผู้คนในแวดวงตลอดมา แต่การไปพูดอะไรในทางสาธารณะในสถานะอันเป็นสาธารณะเช่นนั้น จะถือเป็นการปลีกวิเวกได้อย่างไร
ดิฉันยังนึกไปถึงบทสนทนากับเพื่อนอีกคนซึ่งวันหนึ่งขับรถมารับพาไปเที่ยวงานออกร้านของชาวไร่ในพื้นที่รอบนอกของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น เขาเป็นนักวิชาการรุ่นใหญ่ที่มีบุคลิกเหมือนเด็กชายผู้รักการผจญภัย ซึ่งเป็นบุคลิกที่ดิฉันนึกไม่ถึงว่าตัวเองจะรู้สึกอบอุ่นสบายใจด้วยขนาดนั้นได้เมื่อใช้เวลาไปกินข้าวหรือนั่งรถเล่นไกลๆ ด้วยกัน หลังจากพาไปเที่ยวบ้านผีสิงในงานออกร้านนั้นแล้ว เขาพาฉันและเพื่อนอีกคนไปนั่งจิบไวน์อยู่ริมท่าน้ำที่บ้านริมทะเลสาบใหญ่ของเขา แล้วเขาก็ถามขึ้นว่า ดิฉันหมายความว่าอย่างไรที่พูดในเวิร์คช็อปนั้นว่าดิฉันตั้งใจว่าจะ “อยู่อีกไม่นาน” ดิฉันตอบไปว่าถ้าไม่นับสัญชาติญาณของการเจริญมรณานุสติอยู่กลายๆ ตลอดเวลาว่าดูท่าแล้วเราคงจะอายุไม่ยืนเท่าไหร่นั้น ก็เป็นปัญหาเรื่องที่ว่าดิฉันคล้ายๆจะรู้สึกล้า ยิ่งเริ่มต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากขึ้นเท่าไหร่ ดิฉันก็ยิ่งรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องหายตัวไปให้เร็วที่สุดเท่านั้น และดิฉันมีความตั้งใจส่วนตัวบางอย่างที่จะต้องรีบปลีกตัวไปทำให้เสร็จก่อนตายและก่อนที่จะล้าเกินกว่าจะทำอะไรได้อีกแล้ว เขาเล่าให้ดิฉันฟังถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญที่เปลี่ยนเส้นทางชีวิตของเขาให้มาใช้ชีวิตเป็นอาจารย์ธรรมดาในมหาวิทยาลัยในท่ามกลางป่าเขาแห่งนี้เช่นกัน “Ten square miles surrounded by reality.” ดิฉันนึกถึงนิยามนี้ที่เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งโตมาจากครอบครัวคนพื้นถิ่นที่นี่พูดถึงมหาวิทยาลัยบนเขาแห่งนี้ ที่ในทางหนึ่งก็เป็นการเสียดสีความยะโสไฮโซของมัน และในอีกทางหนึ่งก็ยืนยันถึงคุณลักษณะของความสันโดษที่เอื้อต่อการได้ใช้เวลาหมกมุ่นกับอะไรบางอย่างให้สุดทางของมันด้วย
แต่ดิฉันก็ต้องยอมรับว่า ในการมาใช้เวลาหนึ่งเดือนทั้งเพื่อสัมมนาและเพื่อค้นคว้าที่นี่และได้รู้จักผู้คนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยเช่นนี้ ดิฉันกลับไม่รู้สึกถึงความล้าอย่างที่เคยรู้สึกมาแต่อย่างใด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเราต่างก็รู้ว่าเราเพียงผ่านเข้ามาในชีวิตของกันและกันเพียงช่วงหนึ่ง แล้วต่างคนก็ต่างยังไม่อาจแน่ใจว่าเราจะได้พบกันอีกหรือไม่ และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดิฉันยังรู้สึกปลอดโปร่งได้ทั้งที่เอาตัวเองออกไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะของการพบปะสัมมนาเช่นนั้น ก็เพราะบรรดาผู้คนเหล่านี้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่ต่างวัฒนธรรมจากดิฉัน ปฏิบัติต่อกันอย่างคนเท่าๆกัน ไม่เพียงไม่ถูกครอบด้วยความเป็นพสก แต่ยังไม่ใส่ใจเรื่องอาวุโส และในแง่ตำแหน่งแห่งที่และเพศสถานะแล้ว เขาไม่เพียงปฏิบัติต่อดิฉันในฐานะบรรณาธิการจริงๆมากกว่าจะเห็นเป็นแค่ ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเห็นดิฉันอย่างที่ดิฉันเป็น คือเป็น อ่าน ด้วย
และนี่ก็ทำให้ดิฉันได้เห็นความขัดแย้งในตัวเองอีกประการหนึ่งว่า ในทางหนึ่ง แม้ไม่ต้องการเป็นที่รู้จักนับหน้าถือตา แต่ในอีกทางหนึ่งก็ไม่ต้องการถูกทัศนคติบางอย่างกดข่มเสียราวกับว่าทุกสิ่งที่ลงแรงทำมาไม่ใช่น้ำยาของตัวเอง
ประเด็นนี้ยังทำให้ดิฉันกระดากใจเมื่อมานึกถึงว่าตัวเองทำเป็นดัดจริตปัดป้องต่อการถูกนับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อย่างที่เถียงเพื่อนกลับไป แต่ครั้นเขาถามว่าดิฉันได้พบอะไรบ้างในระหว่างการค้นคว้าในห้องสมุดของที่นี่ ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ดิฉันสนใจที่สุดคือการค้นประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวของคนอื่นที่ถูกบันทึกไว้ในระหว่างการทำหนังสือและนิตยสารของพวกเขา ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงมานานสำหรับการค้นคว้าเอกสารและหนังสือเก่าที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับเมืองไทย และด้วยระบบของห้องสมุดอันมีฐานมาจากความเชื่อในการเปิดกว้างทางการรับรู้ ดิฉันได้อ่านเอกสารมากมาย ทั้งที่เป็นกระดาษและไมโครฟิล์ม ที่บางอย่างก็ไม่มีที่เมืองไทย หรือหากมีก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใครจะนึกว่าดิฉันจะสามารถเดินเข้าไปในห้องที่มีไมโครฟิล์มนับร้อยๆ เรียงรายอยู่บนชั้นเปิดโล่งที่จัดระบบไว้อย่างดีให้เราสามารถไปเลือกหยิบออกมาได้ด้วยตัวเอง แล้วนำมานั่งอ่านตามสบายผ่านเครื่องอ่านที่ทันสมัยและสามารถสำเนาเป็นไฟล์สแกนได้ทันทีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และใช่ว่าสิทธินี้จะจำกัดไว้แต่เฉพาะสำหรับนักศึกษาและครูบาอาจารย์ ผู้ผ่านทางอย่างดิฉันก็สามารถเดินเข้ามาใช้ทรัพยากรในพืื้นที่นี้ได้ไม่ต่างกัน
และเมื่อได้รับโอกาสที่ดีขนาดนั้น ดิฉันจึงใช้เวลาส่วนใหญ่นั่งอ่านอะไรต่ออะไรเท่าที่จะอ่านไหว แม้สิ่งพิมพ์เหล่านั้นจะเป็นสาธารณะอยู่แล้วเมื่อแรกเริ่มผลิตออกมา แต่เมื่อมันกลายเป็นของหายากไปเสียแล้ว การได้อ่านได้เห็นมันด้วยตาของตัวเองจริงๆ ก็ทำให้ดิฉันรู้สึกเหมือนค้นพบขุมทรัพย์ที่ตามมาหามานาน เมื่อเกิดไม่ทันเสียแล้ว เราก็มีแต่ต้องศึกษาอดีตจากวัตถุดิบเหล่านั้นเท่าที่เหลืออยู่ แล้วปะติดปะต่อเอาเองเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้คนในอดีตและความรู้สึกนึกคิดของเขาที่เรามีแต่ต้องอ่านและพยายามตีความผ่านวัตถุดิบเหล่านั้น แม้ถึงที่สุดก็รู้ว่ามันไม่มีทางจะให้ภาพที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จก็ตาม
แค่ลำพังนิตยสารฝ่ายซ้ายฉบับหนึ่งของไทยที่ดิฉันได้อ่านจากไมโครฟิล์ม ก็มีเรื่องราวให้ชวนคิดและอยากค้นต่อมากมาย ดิฉันก็ช่างไม่เคยรู้เลยว่าในช่วงราวปี 2490 นั้นมีคนหนังสือกลุ่มหนึ่งที่ทำหนังสือชนิดที่ “ซ้าย” กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะขนาดนี้ และถึงแม้หากจะเคยได้ยินหรือได้อ่านที่มีคนเขียนพาดพิงถึงมาบ้าง แต่การได้มาอ่านได้มาเห็นด้วยด้วยตัวเองจากต้นฉบับก็ทำให้ตื่นตาตื่นใจโดยเฉพาะกับรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่อยู่ในนั้น นิตรสารรายสัปดาห์ชื่อ มหาชน นี้ว่ากันว่าเริ่มขึ้นในราวปี พ.ศ. 2485 และมีสถานะใต้ดินบ้างบนดินบ้างตามแต่สถานการณ์ทางการเมือง เช่นว่าต้องลงใต้ดินไประยะหนึ่งหลังรัฐประหาร 2490 ***** ส่วนเล่มต่างๆ ระหว่างปี 2490-2491 ที่ได้อ่านในไมโครฟิล์มนี้ นักเรียนอ่อนประวัติศาสตร์อย่างดิฉันก็ยังไม่แน่ใจว่าจัดอยู่ชั้นไหนของดิน แต่ก็มีบางฉบับที่จู่ๆก็ระบุชื่อผู้พิมพ์ผู้โฆษณาโดยเปิดเผย หรือระบุที่อยู่ที่ติดต่อของของสำนักงานหนังสือพิมพ์เวลาจะโฆษณาขายแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิวนิสต์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (“ตามคำเรียกร้อง”!)
การได้เห็นฉบับจริงยังทำให้ดิฉันได้สำรวจรายละเอียดต่างๆไปเรื่อย เช่นดิฉันก็ได้เห็นว่าแม้เขาจะมีคอลัมน์ที่ซีเรียสเหลือกำลังอย่างคอลัมน์ “ทฤษฎี” (เนื้อหาในคอลัมน์นี้ก็เช่น “สากลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ มีความเป็นมาอย่างไร” หรือ “มาตรฐานการเป็นชาวคอมมิวนิสต์”!) หรือคอลัมน์ “หน้าอภิปรายแถลงการณ์พรรคอมมิวนิสต์ไทย” (“จะว่าไม่ดีอย่างไร” !) แต่เขาก็มีคอลัมน์ที่เป็นข่าวสถานการณ์ทั่วไปทั้งไทยและเทศ ซึ่งก็ยังเป็นข่าวที่อยู่บนฐานของ “เข็มมุ่ง” บางอย่างเช่นในคอลัมน์ “การเมืองของโลก” เมื่อพาดหัวตัวหลักว่า “ดัชต์บุกรุกอินโดนีเซีย” พาดหัวรองก็ชี้น้ำหนักไปที่ “กรรมกรทั่วโลกคัดค้านการกระทำของดัชต์” หรือคอลัมน์สารคดีต่างประเทศ ก็รายงานให้เห็นว่า “ประเทศโซเวียตมีความเดือดร้อนทุกข์ยากหรือ”
และที่น่าสนใจขึ้นไปอีก คือการมีคอลัมน์วรรณกรรม (ชื่อคอลัมน์ “โลกหนังสือ”) มีบทวิจารณ์ภาพยนตร์อย่าง แม่น้ำวิปโยค บ้าง ศึกสเปญ บ้าง แม้จะคาดเดาได้ไม่ยากว่าแนวทางการวิจารณ์จะเป็นอย่างไร แต่การได้อ่านสำนวนลีลาของยุคสมัยนั้น ก็เป็นความรู้สึกชวนพิศวงไปอีกแบบ ดิฉันยังพบว่ามีคอลัมน์เรื่องสั้นที่มีผลงานจากนักเขียนหลายนามปากกา ดิฉันนั่งอ่านเรื่องสั้นเหล่านั้นที่มีภาพประกอบซ้ำกันไปมาระหว่างบางฉบับ ราวกับเขามีสต็อคภาพจำกัดมาก และที่แน่ๆคือคงไม่มีนักวาดภาพประกอบให้ช่วยสร้างขึ้นใหม่ ภาพประกอบส่วนใหญ่จึงดูเป็นภาพที่เอามาจากนิตยสารของฝรั่ง แต่ที่สะดุดใจยิ่งขึ้นสำหรับดิฉันคือไม่เพียงมีเรื่องสั้นจาก ส. อาสนจินดา และ ส. พลายน้อย แต่ยังมี ก. สุรางคนางค์ และธิดา บุนนาค ด้วย
การได้เห็นเรื่องสั้นของนักเขียนเหล่านั้นในนิตยสารฝ่ายซ้ายฉบับนี้ (และเนื้อหาของเรื่องสั้นเหล่านั้นก็ดูจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับแนวทางของนิตยสารอยู่ไม่น้อย) ก็ทำให้ดิฉันอดสงสัยไม่ได้ว่าพวกเขามีความคิดความเชื่ออย่างไร (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้น) เพราะนามปากกาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์วรรณกรรมในฐานะนักเขียนฝ่ายซ้าย หรือกระทั่งในฐานะนักเขียนที่มุ่งประเด็นของผลงานไปที่การเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคมในเชิงอุดมการณ์ใด แต่ดิฉันจะมีหนทางรู้ได้อย่างไรหากตัวนักเขียนเองไม่ได้ประกาศไว้เป็นการทั่วไป หรือหากไม่ได้มีร่องรอยความคิดเห็นในทางส่วนตัวที่ระบุไว้ในจดหมายหรือบันทึกหน้าไหน
กรณีของนักเขียนหญิงยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เพราะแนวโน้มที่มักจะสรุปกันก็คือว่าเพราะสามีหรือชายผู้เป็นที่รักและผูกพันของเธอทั้งสองคนนั้นมีใจฝักใฝ่มาทางนี้ จึงพลอยมีอิทธิพลต่อพวกเธอด้วย (แพทเทิร์นนี้เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้ชายน้อยคนจะเป็นสุภาพบุรุษพอที่จะพูดว่าเขาได้อิทธิพลทางความคิดหรือแรงผลักดันทางอุดมการณ์มาจากภรรยาหรือหญิงสาวคนรัก) และสำหรับกรณีของ ก. สุรางคนางค์ แม้จะเป็นที่รับรู้กันโดยเปิดเผยถึงการแต่งงานของเธอกับนักเขียนในแนวทางเพื่อชีวิตอย่าง ป. บูรณศิลปิน แต่ความซับซ้อนของเรื่องราวหลังจากนั้นก็ทำให้ดิฉันต้องซื้อหนังสืองานศพของเธอมาในราคาแพงเป็นพิเศษทั้งที่ไม่ใช่หนังสือเก่าแต่อย่างใด เพราะเจ้าของร้านหนังสือเก่าเล่าให้ฟังว่าหนังสืองานศพนี้ถูกระงับการเผยแพร่เพราะครอบครัวไม่สบายใจ เช่นกันกับบ้านพักตากอากาศริมหาดที่เธอไปนั่งเขียนหนังสืออยู่เป็นประจำ ก็ถูกทิ้งร้างหรือถูกปล่อยเช่าบางส่วนเป็นห้องน้ำของร้านอาหาร แทนที่จะได้กลายเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์ของนักเขียนคนหนึ่ง (สิ่งที่ดิฉันเคยได้ไปเห็นตั้งจัดแสดงอยู่จึงกลายเป็นของเซ่นไหว้ต่างๆที่คนในละแวกนั้นนำมาบูชาเสาตะเคียนของบ้านหลังนี้ที่คงไม่แคล้วขึ้นชื่อว่าผีดุ) หรือ ธิดา บุนนาค นักเขียนหญิงที่น่าสนใจคนหนึ่งซึ่งดิฉันเข้าใจว่าก็คงเป็นเช่นผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกจะไม่พูดถึงสิ่งที่ไม่อาจพูดได้ในความสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง และไม่สบายใจที่จะให้ใครมาขุดคุ้ยถึงสิ่งเหล่านั้น
นั่นคือความยุ่งยากบ้าง กระอักกระอ่วนใจบ้าง ของการพยายามปะติดปะความเข้าใจต่ออดีตขึ้นจากผลงานและ
หลักฐานเท่าที่ความโชคดีส่วนตัวของแต่ละคนจะเอื้อให้มีโอกาสเข้าถึงมันมากน้อยแค่ไหน แต่สำหรับคนที่สรุปได้แล้วว่าไม่อาจรอหอจดหมายเหตุหรือหอสมุดแห่งชาติของไทยมาช่วยในการปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ การหาทางสร้างบันทึกหลักฐานขึ้นมาจากปากคำของคนสามัญที่เรื่องราวของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่หล่นหาย จึงกลายเป็นภารกิจที่ท้าทายของยุคสมัย ในเวิร์คช็อปที่ดิฉันไปร่วมนั้น มีบทความของนักวิชาการผู้กำลังเขียนหนังสือว่าด้วยประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์ไทย ที่สำรวจผ่านรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ไม่มีใครสนใจ รวมถึงเรื่องราวของบุคคลผู้เป็นฟันเฟืองกลไกเล็กๆของอุตสาหกรรมและศิลปะแขนงนี้****** หนึ่งในบุคคลที่บทความนั้นกล่าวถึงคือนักพากย์หญิงคนหนึ่งที่ขอปกปิดชื่อเสียงเรียงนามจนบทความต้องใช้คำเรียกแทนชื่อของเธอว่า “Auntie B” หรือ “ป้า บ.” ป้า บ. เริ่มมาทำงานเป็นนักพากย์เมื่อมีนักพากย์ชายคนหนึ่งต้องการหาคนพากย์หนังร่วมที่เป็นผู้หญิง แต่เงื่อนไขมีอยู่ว่าผู้หญิงคนนั้นจะต้องอยู่ในเงาหรือเป็นเพียง “เงาเสียง” ของเขา เธอได้ร่วมพากย์ แต่เธอจะไม่ได้รับฐานะของหุ้นส่วนครึ่งหนึ่งอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ได้รับเครดิตและความนับถือต่อสิ่งที่เป็นผลงานและการลงแรงของเธอ ผู้ชมจะถูกทำให้เข้าใจไปว่าพวกเขากำลังดูผลงานฉายเดี่ยวของนักพากย์ชายผู้เก่งกาจคนนั้น เธออยู่หลังฉากและแอบย่องออกจากห้องฉายเมื่อหนังจบและผู้ชมกลับไปแล้ว
บทความชิ้นนั้นและเรื่องราวของป้า บ. กระทบความรู้สึกจนต้องนำมาอ้างถึงในช่วงสรุปของการนำเสนอของดิฉันในเวิร์คช็อปวันนั้นหลังจากที่ดิฉันได้อธิบายถึงการเมืองของงานวิจารณ์แบบต่างๆ ในวารสารอ่าน พร้อมกับขยายความไปในตัวว่า ที่ว่าจะ “อยู่อีกไม่นาน” นั้น อยู่อย่างไร
ก็แค่นี้ล่ะค่ะคือดิฉันที่ทำอ่าน จัดการและจัดสถานะอันเหมาะสมให้กับงานเขียนหลายลักษณะเพื่อรับมือกับหลากโจทย์ หากคุณจะบอกว่านี่เป็นการเมือง ดิฉันก็ไม่ว่ากระไร เพราะดิฉันรู้อยู่ตลอดเวลาว่า อ่าน ไม่ได้ลอยอยู่บนฟ้า แต่มีขาที่เหยียบยืนอยู่บนผืนดินของสังคมเฉพาะสังคมหนึ่งที่ต้องการทางออกเฉพาะในแบบหนึ่งเพื่อให้พ้นจากวิกฤติเฉพาะในลักษณะหนึ่งในช่วงเวลาเฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง ไม่เคยคิดจะเป็นอะไรที่สากลหรืออมตะกว่านั้น ก็แค่วารสารและสำนักพิมพ์เล็กๆ ในชื่อ “อ่าน” ที่เป็นการลงทุนลงแรงของผู้หญิงธรรมดาในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ! และดิฉันก็ไม่ได้คิดจะอยู่นาน แค่พยายามจะอยู่ให้ได้ตราบเท่าที่จำเป็นต้องทำให้เสียงบางเสียงเป็นที่ได้ยิน ขอให้ลองนึกถึงเรื่องราวของป้า บ. ในบทความชิ้นนั้น เธอมาและไปอย่างไม่อาจประกาศ ไม่อาจเป็นที่สังเกตเห็น ไม่อาจได้รับการบันทึกไว้ (หากมิใช่ความจงใจที่จะทำให้ถูกซ่อนหรือถูกบดบัง) และคุณก็คงเห็นได้จากบทความนั้นแล้วว่ามันเป็นเรื่องสำคัญเพียงใดที่จะทำให้เสียงของผู้หญิงคนนั้นเป็นที่ได้ยินและได้รับการบันทึกในวันนี้ เพราะเมื่อนั้นเองที่จะทำให้คุณได้รู้ว่าเสียงของอีกฝ่ายคือผู้ชายคนนั้นเป็นของปลอม และผลงานที่เขาอ้างอวดกับคนทั้งโลกนั้นแท้จริงแล้วมันเป็นของเธอ เขามีบารมีได้มิใช่แค่เพราะเขาพูดเสียงดังกว่า แต่ยังเป็นเพราะว่าเขาพูดความจริงเพียงครึ่งหนึ่งแล้วอุดปากของฝ่ายที่เป็นอีกครึ่งไว้ด้วยความเงียบ
และนั่นไม่นับเป็นการเมืองหรอกหรือ?*******
ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ข้าพเจ้าได้เห็นมา กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนขอบคุณภรรยาของเขาไว้ว่า
ระหว่างที่ได้ไปใช้เวลาศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ตลอดจนได้กลับมาเขียนเรื่องต่างๆ ดังที่ได้รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มแรกชิ้นนี้ ข้าพเจ้าได้รับความช่วยเหลืออันมีค่ายิ่งจาก “จูเลียต” ผู้ซึ่งได้ช่วยรวบรวมเอกสารข้อความรู้และจัดทำบันทึกบางอย่างตลอดมา********
คุณกุหลาบเป็นสุภาพบุรุษ สำหรับดิฉันเสมอ และดิฉันเชื่อว่าคุณกุหลาบน่าจะยินดีหากว่าคุณจูเลียตเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาเขียนบันทึกของเธอเองบ้าง และตัดสินใจเองว่าจะเริ่มตรงไหนและจบลงที่ใด และดังที่เคยมีคนว่าไว้ สุภาพสตรีย่อมหมายรู้ได้ทั้งเทศะและกาละอันเธอเห็นว่าเหมาะสมที่สุด ใช่แต่เฉพาะสุภาพบุรุษเท่านั้นที่จะได้รับความไว้วางใจในทางวิจารณญาณเพียงฝ่ายเดียว ดิฉันตัดสินใจมอบวารสารอ่าน ให้อยู่ในความดูแลของผู้หญิงอีกคนที่เป็นรุ่นใหม่กว่า แต่เรายังไม่ได้ตัดสินใจกำหนดชัดเจนว่าเราจะยังทำมันต่อไปอีกนานเท่าใด ความนับถือและสนับสนุนจาก
ผู้อ่านก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ขอให้รู้ว่าเราไม่ใช่ภาระต่อกัน แต่พันธะทีี่มีขึ้นนั้น ย่อมอยู่บนฐานของความนับถือเชื่อมั่นต่อกันด้วย
ดิฉันตั้งใจอยู่ว่าจะส่งย่ามไปให้ “หลวงพี่” คนนั้นที่มีน้ำใจและให้เกียรติสีกา ดิฉันรู้ว่าเขาไม่รังเกียจที่จะสะพายแม้มันจะเป็นย่ามปักลายดอกไม้ อีกทั้งดิฉันไม่รู้สึกกดดันหรือรู้สึกด้อย ทั้งยังกล้าเผยความขลาดเขลาพะว้าพะวังแก่ผู้ชายที่ทั้งเป็นที่นับหน้าถือตากว่าและสูงวัยกว่าบางคนที่ไม่รังเกียจจะมาทำกับข้าวให้หรือขับรถพาดิฉันไปไหนต่อไหน เพราะเขาทำให้ดิฉันรู้สึกได้ถึงความเชื่อมั่นว่าบนเส้นทางที่ยาวไกลนั้น เราต่างก็ได้เห็นมาไม่มากและไม่น้อยไปกว่ากันเลย
ข้อความในย่อหน้าแรกที่ทำให้ดิฉันถึงกับวางปากกานั้น เป็นข้อความที่ถูกตัดตอนมาสั้นๆไว้ในหนังสืองานศพ มันสั้นเกินกว่าจะระบุได้ชัดว่านัยยะของการ “ร่วง” นั้นคืออะไร ขณะเดียวกันมันก็เปิดกว้างพอที่จะให้เราคิดปะติดปะต่อไปตามภาวะอารมณ์ขณะที่ได้อ่าน เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยและค้นดูจากตู้หนังสือในห้อง (โชคดีที่เรื่องสั้นเก่าๆ เรื่องนั้นมีการนำมาพิมพ์ใหม่) ก็ได้อ่านอย่างสนุกสนานและเห็นว่าเป็นเรื่องราวเข้าข่ายที่ญาติผู้ใหญ่ของดิฉันอาจจะค่อนได้ว่า “สัปดน” นัก
แต่ในวาระของการเขียนนี้ ดิฉันก็ยังอยากจะตัดมาใช้นอกบริบทอีกครั้ง เพียงแต่ให้ครบถ้วนกว่าเดิม เพราะมันก็ยังย้ำถึงความกำกวมที่ไม่รู้ว่าเมื่อใด แน่ แต่อย่างน้อยก็ได้รู้ว่าอย่างไร และให้มีความชัดเจนว่าใคร คือผู้เป็นเจ้าของการตัดสินใจนั้น
“ถ้าดิฉันจะร่วงหล่นลงด้วยน้ำใจของคุณ, เพื่อนรัก, มันคงไม่ก่อนใบไม้ในหน้านี้จะร่วงหมดเป็นแน่ ดิฉันยังมีเรื่องที่จะต้องคิดต้องทำอีกหลายอย่างในหน้าร้อนนี้ บางทีราวปลายเดือนหน้า…” *********
เชิงอรรถ
* แม้ไม่เหลือมาลัยในปฐพี ก็ยังมีมาลัยคล้องใจคน, หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ นายมาลัย ชูพินิจ (พระนคร, การพิมพ์เกื้อกูล, 2506) และ ม. ชูพินิจ, ตายเพื่อเกิด, เอสโซ่ จัดพิมพ์เป็นมิตรพลี ในวันพระราชทานเพลิงศพ นายมาลัย ชูพินิจ
** Franz Kafka, Secker & Warburg/Octopus, 1976.
*** Benedict Anderson, “Letters, Secrecy, & the Information Age: The Trajectory of Historiography in Southeast Asia”, 9th Frank H. Golay Memorial Lecture, October 25, 2012, Cornell University, Ithaca เป็นการพูดโดยต่อเนื่อง แต่นำมาจัดย่อหน้าใหม่ในที่นี้เพื่อสะดวกแก่การอ่าน
**** The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan, October 14, 2012, 9:30 a.m.-5:00 p.m. Kahin Center for Advanced Research on Southeast Asia, Cornell University Southeast Asia Program บทความบางส่วนที่เสนอในเวิร์คช็อปครั้งนี้ จะนำมาแปลและตีพิมพ์ในวารสารอ่าน ฉบับหน้า
***** ขอบคุณ คุณธิกานต์ ศรีนารา สำหรับการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับนิตยสารมหาชน
****** May Adadol Ingawanij, “Figures of plebeian modernity” เนื้อหาของบทความนี้มีการเผยแพร่ไว้ที่ http://siam16mm.wordpress.com
******* Ida Aroonwong, Panel 1: Creative Labor and Critical Positioning, The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan
******** กุหลาบ สายประดิษฐ์, ข้าพเจ้าได้เห็นมา (สนพ. สุภาพบุรุษ, 2494), น. 395-396.
********* เรียมเอง, “ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ใน รวมเรื่องสั้นของ “เรียมเอง” อันดับที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 4 (สนพ.กระท่อม ป.ล., 2537), น. 224.