แม่ศรีสรรพ vs แม่ศรีศัพท์

ราวกับผ่านมาแล้วซักสามปี นับแต่วันที่วารสาร อ่าน ฉบับที่แล้วออกจากโรงพิมพ์ แล้วแม่คุณก็เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าอำลาสู่การเดินทางแสนไกลที่แสนสั้นเกินไป อยากจะไปเสียให้พ้นก็ไม่พ้น กลับมาไม่ทันเท่าไหร่ น้ำก็หลากมาท่วมทุกสายถนนไม่กี่สายที่ใช้อยู่ในชีวิต ท่วมทั้งเคหสถานและสำนักงาน ทั้งของกองบรรณาธิการและนักเขียน วันที่แบกเป้ลุยน้ำออกมาอย่างไม่รู้เหนือใต้และไม่มีที่ไป ก็ได้ซึ้งในพระบรมเดชานุภาพ แห่งพระบรมโพธิสมภาร ของพสกนิกรไทย ก็จะไม่ให้อัศจรรย์ในกฤดาภินิหารนี้อย่างไรในเมื่อเห็นตำตาว่า พลันที่แม่คุณลุยน้ำสูงเกือบเอวออกจากเชิงสะพานย่านสำนักพิมพ์อ่าน แค่ข้ามฝั่งสะพานข้ามคลองไปศิริราชเท่านั้นทุกสิ่งก็พลันแห้งไม่มีกระทั่งรอยหมาด บาทวิถีเต็มไปด้วยฝุ่นธุลีขี้ตีนตามปกติ แม่คุณหันกลับไปขยี้ตามองว่าคลองสายนั้นมันเอียงองศาเทไปทางฝั่งหนึ่งฝั่งเดียวได้ด้วยหรือไร จึงต่างกันไกลราวฟ้ากับดินเช่นนี้ สาธุ…แม่คุณยกมือท่วมเกศา ทรงพระเจริญเพคะ ทรงพระเจริญ

แล้วหนึ่งเดือนก็ผ่านไปโดยที่ทุกอย่างเป็นอัมพาตตั้งแต่นักเขียน กองบรรณาธิการ จนถึงร้านเพลท โรงพิมพ์ ทีมงานแยกย้ายกระจัดกระจาย ช่วงเวลาอพยพนั้นก็เป็นช่วงสุญญากาศอันแสนทรมานอย่างที่คนเคยผ่านประสบการณ์เดียวกันเท่านั้นจึงจะเข้าใจ โทรกลับมาถามไถ่หุ้นส่วนอย่าง สนพ. ฟ้าเดียวกัน ก็พบว่าเขาแห้งสนิทปลอดภัยได้ด้วยพระบารมี เนื่องจากสำนักงานของเขาอยู่บนถนนถัดจากศิริราชไปทางใต้น้ำ ตราบใดที่ศิริราชแห้งผาก ฟ้าเดียวกัน ก็ยังคงแห้งขอด ขณะที่ อ่าน ไม่เพียงไม่ได้อยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน แต่ยังอยู่กันคนละโลกตลอดมาตั้งแต่คนละสำนักงาน คนละทีมบรรณาธิการถึงฝ่ายศิลป์ แม่คุณบรรณาธิการที่ไม่ค่อยเดินสายพบปะใครและไม่ค่อยออกจากห้องของอ่าน จึงขาดภูมิคุ้มกันต่อการต้องระเหเร่ร่อน เมื่อน้ำแห้งแล้วก็นอนสามวันดีสี่วันป่วยอีกเป็นเดือน

แม่วริศาซึ่งเป็นผู้ช่วย บ.ก. นั้นรู้ดี ว่าแม่คุณมีอาการทางจิตอย่างหนึ่งคือชอบสั่งซื้อหนังสือเก่าทางอินเตอร์เน็ตเวลานอนไม่หลับ ยิ่งนอนอยู่บนเตียงนานๆ ยิ่งผลาญเงินไปไม่รู้เท่าไหร่ จนแล้วก็ไม่เคยเจียม จนแล้วก็ยังไม่รู้จักเขียม แต่ด้วยความหลงใหลอย่างคนใกล้ตายต่ออะไรก็ได้ที่ตายไปแล้ว แม่คุณจึงเข้าข้างตัวเองตลอดมาว่าการอ่านเรื่องราวของผู้คนจากอดีตอันไกลโพ้นเหล่านั้น คือภูมิต้านทานที่จะทำให้การยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ยังพอจะทนได้

อย่างเล่มนี้ก็อ่านเพลินๆ ดีนะ ชื่อหนังสือชวนอมยิ้มอยู่สักหน่อย ชุมนุมยอดหญิงของไทย เขียนโดย “ไทยน้อย” แพร่พิทยาพิมพ์ไว้เมื่อปี 2504 มีอยู่บทหนึ่งว่าด้วย “สตรีเจ้าของโรงพิมพ์แห่งแรกของไทย” เธอมีชื่อแสนละไมว่า แม่ละม่อม ชื่อโรงพิมพ์ก็ช่างโดนใจ คนเขียนว่า “ขึ้นชื่อว่าโรงพิมพ์สรรพอนงค์กิจแล้วใครๆ ก็รู้จัก” อยู่ใกล้สี่กั๊กพระยาศรี รับพิมพ์ใบฎีกา สลากยา และหนังสือหนังหาเป็นเล่มๆ แถมยัง “เป็นที่รู้ๆ กันว่าเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกในเมืองไทยที่ตั้งขึ้นโดยสตรีล้วนๆ ไม่มีผู้ชายปะปน” แม่ละม่อมมีแม่ของตัวเป็นคนช่วยบริหาร มีน้องสาว และยังมีมิตรหญิงชื่อ แม่ส้มจีน มาช่วยปรู๊ฟหนังสือ คนเขียนไม่ได้บอกว่าโรงพิมพ์ก่อตั้งปีไหน แต่บอกว่าต้องเลิกกิจการไปเมื่อปี 2441 เพราะแม่ละม่อมไปแต่งงาน (เสียฉิบ!) กับคุณชุ่ม อรรถจินดา แล้วก็เลยต้องติดตามสามีที่ไปรับราชการต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อคุณชุ่มกลายเป็นพระยาอรรถการยบดี แม่ละม่อมก็เลยกลายเป็นคุณหญิงละม่อมซะ (เช่นกันกับที่แม่ส้มจีนแต่งงานไปเป็นคุณหญิงส้มจีน เขื่อนเพ็ชร์เสนา ซะอีกคน) ครั้นสามีออกจากราชการ และมีที่นามากมายที่วังน้อย อยุธยา คุณหญิงละม่อมก็ไพล่ไปสนใจการทำนาซึ่งเกือบจะไม่มีใครในสมัยนั้นไยดี เพราะขุนนางนั้นแม้จะมีที่นามากมาย แต่เขาก็มีไว้นอนเก็บค่าเช่าเฉยๆ นี่คุณหญิงละม่อมของเราอุตริไปดำ ไถ คราด หว่าน เก็บเกี่ยว จนขนเข้ายุ้งฉางด้วยตัวเอง คนเขียนบอกว่าเป็นคุณหญิงคนเดียวในเมืองไทยที่ชาวบ้านได้เห็นเธอสวมเสื้อดำยาวจรดข้อมือ นุ่งโจงกระเบนสวมงอบลงไปดำนาอยู่กับบ่าวไพร่และบริวารเป็นกิจวัตรทุกฤดูปลูกข้าวตลอดสี่สิบปี ก่อนจะเสียชีวิตในวัยเจ็ดสิบสาม

แม่คุณนึกถึงที่เคยนั่งปรับทุกข์กันกับแม่วริศาเมื่ออาการห่อเหี่ยวต่อวงการกำเริบถึงขีดสุด แม่วริศาเสนอว่าเราควรเลิกกิจการแล้วไปเปิดร้านขายข้าวแกงกันเสียจะดีไหม แม่คุณเกี่ยงว่าทำกับข้าวเป็นกับเขาที่ไหนล่ะ ดูฝีมือตัวเองที่ทนกลืนช่วงติดเกาะน้ำท่วมแล้วไม่มีอนาคตกันเห็นๆ ทางเลือกที่น่าสนใจกว่าน่าจะเป็นแม่บ้านทำความสะอาดหรือคนรับเลี้ยงแมวอะไรทำนองนั้น เพราะช่วงหนึ่งของการเป็นผู้ประสบภัยน้ำท่วม แม่คุณได้ไปอาศัยบ้านน้องสาวผู้อารีคนหนึ่งซึ่งมีกิจต้องไปต่างประเทศและต้องการคนเฝ้าบ้านเลี้ยงแมวห้าตัวของเธอพอดี แม่คุณได้ใช้ชีวิตที่ “เซอร์” (หรืออันที่จริงคือเรียลลิสติค?) อย่างยิ่ง คือการอยู่ลำพังในพื้นที่แปลกหน้าที่ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีทีวี ไม่มีข่าวสารจากโลกภายนอก มีเพียงแมวห้าตัววิ่งกระโดดข้ามหัวไปมา ที่แม่คุณต้องให้อาหารและเก็บขี้ของมันเป็นเวลา สลับกับการต้มมาม่า ชงกาแฟให้ตัวเองกิน เหนื่อยจากการถูบ้านวันละสองรอบเพื่อกำจัดรอยตีนแมวและขนแมวแล้ว แม่คุณก็จะนอนอ่าน เด็กชายชาวนา ที่เลือกมาจากชั้นหนังสือ ก่อนจะหลับไปบนโซฟากลางบ้านเพื่อตื่นขึ้นมาทำอย่างเดิมในเช้าถัดไป เป็นชีวิตที่เรียบ เงียบ ง่าย และสงบเสียยิ่งกว่าชีวิตที่แม่คุณเคยจินตนาการไว้ถ้าเขาอนุญาตให้ผู้หญิงประเทศนี้บวชพระ

อีกทั้งช่วงน้ำท่วมหนักนั่นล่ะที่แม่เนาวนิจซึ่งสาหัสที่สุดในทีมงานทั้งหมดเพราะอยู่ชานเมืองย่านลำลูกกา ก็ยังเพียรอุตสาหะเขียนร่างแรกของต้นฉบับส่งมาให้ดู แม่เนาวนิจเขียนเรื่องที่ “นายผี” เคยเขียนคอลัมน์แม่บ้านอยู่พักใหญ่ แนะนำหญิงสาวสามัญชนคนยากทั้งหลายว่าควรจัดการบ้านช่องห้องหับสำรับสำรวมอย่างไรจึงจะมีความสุขได้ตามอัตภาพ แม่คุณอ่านแล้วนึกครึ้มกับศาสตร์ของแม่บ้านขึ้นมา ก็มือไวคลิกสั่งซื้อหนังสือมาศึกษาอีก อยากรู้ว่าในช่วงนั้นคนอื่นเขาเขียนอย่างไรกันอยู่ เดาว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นงานของเจ้าๆ ฝ่ายหญิงที่(ดังนั้นจึง)มีการศึกษาและมีเวลาว่างพอที่จะมานั่งเขียนหนังสือว่าด้วยงานบ้านแทนการทำงานบ้านจริงๆ

แล้วก็ไปเจอเล่มนี้ เขียนในยุคไล่ๆ กับนายผี แต่เนิ่นกว่านิดหน่อย คู่มือแม่บ้านการเรือน โดย “จ.จ.ร.” หรือ ม.จ. จันทร์เจริญ รัชนี เป็นหนังสือเล่มหนา พิมพ์เป็นชุดสองภาคโดยผดุงวิทยาเมื่อปี 2494 ดูจากคำโฆษณาของสำนักพิมพ์แล้วท่าจะขายดีไม่น้อย ไล่ดูแต่ละหัวข้อแล้วก็พอจะสรุปได้ว่านี่น่าจะเป็นคู่มือที่เหมาะสำหรับแม่บ้านชนชั้นกลางเกิดใหม่ ที่ไม่ได้มีบริวารบ่าวไพร่(หรือมีไม่มากพอ)มาจัดการเรื่องเหล่านี้ให้ แต่ก็มีฐานะและไลฟ์สไตล์ที่สะท้อนอยู่ในสรรพสิ่งที่ต้องจัดการเหล่านั้น เช่นในหมวดการครัว นอกจากเรื่องสบู่และการล้างชามแล้วก็มีเรื่องจุกคอร์ค เครื่องเงิน ตู้น้ำแข็ง เตาผิง หมวดปรุงอาหารมีเครื่องตวง การผิงเค้ก หมวดเสื้อผ้ามีเฟอร์ ถุงมือ หมวก การซักรีดก็มีทั้งเรื่องการลงแป้งและเรื่องการส่งของไปซักนอกบ้าน ไหนจะหมวดการเขียนรูป การเขียนและส่งจดหมาย การไปพักแรมและรับประทานอาหารนอกเมือง แถมมีหมวดรถยนต์ด้วย (“ท่านขับรถเองหรือเปล่า ? ถ้าเช่นนั้นท่านคงจะทราบดีว่า การขับรถโดยไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเครื่องยนต์เลยนั้นไม่สมาร์ตเลย โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วทำให้เกิดความจำเป็นว่าผู้หญิงจะต้องรู้เกี่ยวกับรถยนต์มากกว่ารู้เกี่ยวกับเครื่องแต่งตัว…”)

ที่น่าสนใจและนึกไม่ถึง หัวข้อแรกสุดของหนังสือชุดนี้ คือ “หนังสือ” ซึ่งเขียนเป็นลำดับไม่ต่างจากคู่มือการใช้งานและซ่อมบำรุงอุปกรณ์อื่นๆ ในครัวเรือน ตั้งแต่ลำดับแรกคือการเปิดหนังสือใหม่ ให้ “เปิดปกหน้า แล้วปกหลัง ต่อจากนั้นเปิดทีละสองสามจนถึงกลางเล่ม” ถ้าน้ำเปียกหนังสือ “ให้ใช้กระดาษซับทาบเข้าทั้งข้างหน้าข้างหลัง แล้วรีดด้วยเตาอุ่นๆ” หรือถ้าสันหนังสือขาด “ใช้ปลาสเตอร์ติด แล้วระบายสีทับให้เป็นสีเดียวกับของเดิม” นอกจากนี้ยังมี “วิธีถือหนังสือทีละหลายๆ เล่ม” วิธี “ป้องกันหนังสือบนหิ้งจากหนู” “การอ่านหนังสือตัวเล็กโดยไม่มีแว่นขยาย” และที่ดูราวกับคำขวัญ “หนังสือควรได้รับความเอาใจใส่เท่ากับเฟอร์นิเจอร์”(!)

พ่อกุลวัฒน์ที่เป็นฝ่ายศิลป์น่ะรู้ดี แม่คุณเปรยกับเขาบ่อยไปว่าอยากเปลี่ยนหน้าที่ตัวเองไปเป็นช่างเรียง ไม่ใช่กราฟิกดีไซน์เนอร์ด้วยนะ จะเป็นช่างเรียง อย่างที่เวลาเห็นหนังสือยุคก่อนเขาทำกัน มันสวยเรียบๆ ง่ายๆ แต่มีแบบแผน มีจังหวะ สวยได้ทั้งที่ดูเหมือนเชยและไม่มีลูกเล่นอะไร พ่อกุลวัฒน์ว่าทุกวันนี้แม่คุณก็ดูจะเป็นช่างเรียงกับ บ.ก. อย่างละครึ่งอยู่แล้ว แต่แม่คุณก็ยังอยากพัฒนาทักษะการเรียงอักษรให้ดีขึ้นไปอีก บางทีก็เลยได้แต่นั่งดูหนังสือเก่าๆ สมัยที่เขายังมีตำแหน่งช่างเรียงกันจริงๆ อย่างเล่มนี้ก็เรียงสวยดีนะ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ม.จ.ก. ป.ช. ท.จ.ว. ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ๗ เมษายน ๒๕๒๐ ปกในระบุว่าคณะรัฐมนตรีจัดพิมพ์เพื่อถวายพระเกียรติ และสดุดีวีรกรรม มี “พระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖” ว่า “ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง คงจะต้องบังคับขับไสฯ” หน้าถัดมามีเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” หราอยู่ในกรอบลายไทยพร้อมตราครุฑ ครบชุดสมบูรณ์ในทางองค์ประกอบและอุดมการณ์ยิ่งนัก

การจัดหน้าหนังสือเล่มนี้่ตี grid คล้ายๆ วารสารอ่าน ตัวหนังสือโปร่งตา น่าจะขนาด 14 ปอยต์ แต่ที่เก๋คือนอกจากจะมีการเน้นประโยคด้วยตัวเอนแล้ว ยังมีวิธีเน้นด้วยการที่จู่ๆ ก็ลดขนาดตัวอักษรของประโยคนั้นลงไปเหลือซัก 12 ปอยต์แล้วค่อยเอน เช่นตรงที่บอกว่า ผกค. ไม่อาจยึดและทำลายที่ตั้งได้ ผกค. เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ๑ คน และบาดเจ็บล่าถอยไป หรือในย่อหน้าถัดมาเมื่อเลือกเน้นบางประโยคในเครื่องหมายคำพูด เช่น “ม.จ. วิภาวดี รังสิต ทรงสั่งนายแพทย์สุพาสน์ ซึ่งนั่งติดกับคุณมาลี พยาบาลด้านขวาว่า ‘เดี๋ยวฉันจะไปกับหมอมาลีด้วย’ ต่อจากนั้นทรงเขียนคำสั่งย่อบนกระดาษมีใจความว่า ‘เดี๋ยวให้ทุกคนลง เจ้าหญิงจะไปรับคนเจ็บ ๒ คนกับหมอ กับผู้กำกับ หลวงพ่อ หลวงปู่คอยสักครู่ที่โรงตำรวจ หลวงพ่อ หลวงปู่ สวดมนต์คุ้มครองให้พวกเราปลอดภัยด้วย หมู่นี้มันยิงเรือบินเกือบทุกวัน…’ ”

“มัน” ที่ว่าของเจ้าหญิง คือ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” หรือ “ผกค.” ไร้ชื่อ อย่างที่ถูกฆ่าตายในย่อหน้าก่อนนั่นเอง ขณะที่ ม.จ.วิภาวดีนั้น นอกจากจะเป็นถึงเจ้าหญิงแล้ว หนังสือยังอธิบายว่า ทรงดำรงตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์ รับราชการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนพระองค์ ในการปลอบขวัญผู้ปฏิบัติราชการต่อสู้กับ “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในภาคใต้” ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2520 ม.จ. วิภาวดีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติพระภารกิจสุดท้าย ที่บ้านส้อง จ. สุราษฎร์ธานี แล้วเฮลิคอปเตอร์ถูกยิงโดย “ผู้ก่อการร้ายซึ่งซุ่มอยู่ภาคพื้นดิน” ม.จ. วิภาวดี ทรงถึงชีพิตักษัย ในวันนั้นเอง

หนังสือที่ทำอย่างละเอียดปราณีตเล่มนี้ยังแทรกแผ่นพับ “แผนที่สังเขป ผกค. ซุ่มยิง ฮ.” ให้เห็นภาพประกอบการบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถี่ถ้วนทุกกระเบียดถ้อยครั้งนี้ด้วย และมี “บทความวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ประจำวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐” ที่โปรยชื่อบทความอย่างสวยเก๋ กระจายตัวอักษรให้ลงกริดที่ล้อรับกับขนาดของคอลัมน์ “แด่การจากไปของ ม.จ.วิภาวดี รังสิต” ที่ “กระจายเสียงแห่งประเทศไทย” นี้สรุปว่า “ชาวไทยทั้งหลายย่อมจะมองเห็นอยู่ชัดแจ้งว่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์มีความโหดเหี้ยมทารุณไร้มนุษยธรรมเพียงไร ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะพยายามขัดขวางทุกวิถีทางต่อการพัฒนาประเทศและโครงการช่วยเหลือประชาชนของฝ่ายบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับท้องถิ่นที่ ม.จ. วิภาวดี รังสิต ได้เสด็จ ไปตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ก็เป็นท้องถิ่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ จะให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชน ซึ่งต้องอพยพออกจากเขตคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเรากำลังดำเนินการสะสางและกวาดล้างอยู่ […] จึงสมควรที่เราทุกๆ คนจะได้ให้ความร่วมมือร่วมใจกับฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการปราบปรามศัตรูของแผ่นดินเหล่านี้ให้สิ้นซากต่อไป”

และนั่นคือผลสะเทือนจากการ “สิ้นชีพิตักษัย” ที่ไม่ใช่แค่การ “ตาย”

หนังสือที่ระลึกถึง ม.จ. วิภาวดี รังสิต นี้ ว่ากันจริงๆ คงต้องเรียกเป็นซีรีส์ เพราะพอครบรอบหนึ่งปีก็มีการจัดพิมพ์ วิภาวดีรังสิตรำลึก ขึ้นมาอีกเล่ม โดยระบุว่าเพื่อหารายได้มาใช้ในกิจการของมูลนิธิวิภาวดีรังสิต ซึ่งมีภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกิดจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย แม่คุณหาซื้อมาเก็บไว้อีกพร้อมตัวเล่มนวนิยาย รัตนาวดี ฉบับพิมพ์พิเศษที่ ม.จ. ปิยะรังสิต รังสิต จัดพิมพ์ให้แก่มูลนิธิวิภาวดีรังสิตเพื่อเป็นหนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ ของ ม.จ. วิภาวดี แม่คุณเที่ยวซื้อหนังสือเหล่านี้เก็บไว้ก็เพราะเป็นหนึ่งในโปรเจ็กต์ส่วนตัวที่จะสำรวจนวนิยายบางกลุ่มบางช่วงยุคสมัยไปเรื่อยเปื่อย รวมถึงภูมิหลังของผู้ประพันธ์เหล่านั้นด้วย และ ม.จ.วิภาวดีนี้ก็มีชื่อเสียงในนามปากกา “ว.ณ. ประมวลมารค” เจ้าของผลงานชุด ปริศนา, เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี อันล้วนเป็นเรื่องรักของหญิงสาวในแวดวงเจ้า-ผู้ดีในยุคที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น

ใน วิภาวดีรังสิตรำลึก มีหลายบทความที่พูดถึง ม.จ.วิภาวดี ในฐานะนักประพันธ์ ชิ้นที่แม่คุณคาดหวังว่าจะได้อ่านในฐานะบทวิจารณ์นั้นเป็นของ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (ที่เป็นการถอดเทปอภิปรายมาอีกที) แต่ก็ชวดเพราะ ม.ล. บุญเหลือบอกว่านี่เป็น “โอกาสที่เราจะรำลึกถึงท่าน ยังไม่ใช่เวลาที่เราจะมาสอนวรรณคดีวิจารณ์” การ “ประเมินค่า” ที่ ม.ล. บุญเหลือเสนอไว้จึงเป็นว่า “เมื่อเวลาที่ดิฉันได้เฝ้าท่านและได้ยกมือขึ้นไหว้แล้ว รู้สึกว่าสมใจเราเหลือเกินที่ได้ไหว้ แล้วเราก็อดจะมีอคติไม่ได้ว่าเราก็เกี่ยวข้องเป็นอย่างไกลๆ ที่สุดกับท่านที่อยู่ในวงศ์จักรีด้วยกัน เราภูมิใจว่าท่านเป็นเจ้านายที่อยู่ในราชวงศ์จักรี แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนไทย เราโชคดีที่มีเจ้านายดี เรารู้สึกอย่างนั้น”

แม่คุณหยิบเล่ม รัตนาวดี มาพลิกดูอีกทีเพราะนึกอยากสำรวจว่าเวลาเจ้าเขียนนิยายว่าด้วยเจ้า เจ้าจะใช้ราชาศัพท์ถูกไหมเมื่อต้องเขียนบทสนทนาระหว่างสามัญชนกับเจ้า หรือระหว่างเจ้ากับเจ้า ก็พบว่าภาษาต่างด้าวที่โดดเด่นในเล่มนั้นนอกจากราชาศัพท์แล้วก็เห็นจะเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอันที่จริงก็น่าจะเรียกได้ว่าเป็นราชาศัพท์ที่ใช้กันเองในหมู่เจ้าสมัยก่อนเช่นกัน ก่อนที่จะกลายมาเป็นภาษาสามัญในหมู่กระฎุมพี-ชนชั้นกลางทั่วไป ส่วนราชาศัพท์ภาษาเขมรก็มีให้เห็นอย่างลำลองตลอดเล่ม “หม่อมพาน้องหญิงไปทอดเนตรห้องที่ Duc de Guise” “ท่านหญิงจะแข็งทัยเดินสักครึ่งไมล์ไหวไหมหม่อม ?” “ใครจะให้ฝ่าบาทไปบรรทมกับเด็กและยายแก่นั่น เดี๋ยวหม่อมจะลองพูดกับตาชาวนาดูอีกที” “น้องหญิงพักตร์แดง” “หันขนองให้หม่อม” “เด็จกลับเถอะเพคะท่านหญิง”

จะมีราชบัณฑิตหรือสมาคมหนังสือที่ไหนมายกย่องให้นวนิยายเล่มนี้เป็นแบบอย่างการใช้ราชาศัพท์ที่ถูกต้องหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เท่าที่อ่านดูในวิภาวดีรังสิตรำลึก ม.จ. วิภาวดีก็เป็นเช่นเจ้าอีกหลายคนที่มักจะต้องออกตัวว่ามิได้ถือสาในเรื่องการใช้ราชาศัพท์ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าควรจะเลิกใช้ ในจดหมาย ม.จ. วิภาวดีอธิบายเรื่องนี้แก่เพื่อนผู้เป็นข้าราชการสามัญชนว่า “ฉันไม่ได้เป็นคนเห่อยศสักหน่อย ใครจะใช้ราชาศัพท์หรือไม่กับฉัน ก็ไม่ได้ทำให้ฉันดีขึ้นหรือเลวลง ที่ฉันสอนให้เธอใช้ ไม่ได้เกี่ยวกับตัวฉัน แต่เกี่ยวกับตัวเธอ ผู้ที่ได้ยินเธอพูดกับฉันแล้วใช้คำถูกต้อง เธอก็จะได้เป็นคนได้หน้าว่าเปนคนไทยแล้วรู้จักใช้ภาษาที่ควรจะใช้”

แต่มันหลายทีเหลือเกินแล้วเวลาทำต้นฉบับ ที่แม่คุณจะปวดหัวกับราชาศัพท์ วานให้แม่ทิวมาส กอง บ.ก. ผู้สันทัดไปเช็คดูทีเถอะว่าราชบัณฑิตยสถานเขาจะเอาอย่างไรแน่ ก็พบว่าเขาไม่มีตำรามาตรฐานให้ อย่างมากก็มีคล้ายๆ พจนานุกรมราชาศัพท์ซึ่งขาดตลาดไปนานแล้ว นอกนั้นก็มีแต่เป็นบทความสั่งสอนเป็นเรื่องๆ ไปว่าถ้าเจ้าชั้นนี้ให้ใช้อย่างนั้น เจ้าชั้นนั้นให้ใช้อย่างนี้ จะจับกฎเกณฑ์เพื่อจะประยุกต์ใช้ก็ปวดหัวกับข้อกำหนดที่ไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากจะให้มันต่างชั้นกันอยู่อย่างนั้นและต่างชั้นกันแยกย่อยขึ้นไปอีก แม่คุณคร้านที่จะทำอะไรแบบนี้ จึงให้นโยบายแก่แม่ทิวมาสไปว่า ใครเขาเขียนมาแบบไหนก็ใช้ๆ แม่งไปเถอะค่ะ พอใจจะใช้ก็ใช้ พอใจจะไม่ก็ไม่ พอใจจะใช้อย่างไรก็อย่างนั้น อย่าให้ชีวิตพสกอย่างเราต้องแอบเสิร์ดกันไปกว่านี้เลย

แต่บางทีมันสรุปไม่ได้ง่ายๆ ว่าจะใช้คำไหน เพราะไม่แน่ใจว่านัยของศัพท์นั้นคืออะไรแน่ ขืนใช้สุ่มสี่สุ่มห้า หัวจะหลุดจากบ่าเสียเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เช่นในกรณีนี้ “ข้าพเจ้าก็ได้แต่ปลอบใจ ชวนไปหัดยิงปืนลูกซอง เพื่อป้องกันตัว […] ตกลงเขาก็ไปกันทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไปหัดยิงปืนที่ค่ายของนาวิกโยธินที่ อ. เมืองนราธิวาส […] ราษฎรเหล่านั้นก็ขอข้าพเจ้าว่า ขอให้ช่วยพูดกับคณะรัฐบาล ท่านนายกรัฐมนตรี ขอร้องว่าอย่าให้ถอนทหารออกจาก 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะว่าถ้าทหารอยู่ ชีวิตเขาก็ยังอยู่ ถ้าทหารถอนออกไปเขาคงตาย […] ข้าพเจ้าเองก็หมดสติปัญญา ถึงอายุ 72 ก็ตาม ก็เห็นจะฝึกยิงปืนขึ้นมาอีกล่ะ แก่เฒ่าแก่ ก็เอาพวกแก่ๆ นี่ไปหัดยิงปืน ได้แค่ไหนก็แค่นั้น ก็ยังดีกว่าจะต้องให้คนคอยดูแล […] อยากจะพูดกับพวกสิทธิมนุษยชนว่า พวกนี้ไม่ได้ทำบาปทำกรรมอะไรเลย เขาก็มีสิทธิ์ น่าจะมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิต ทำมาหากินในประเทศของเขาอย่างสงบสุข ไม่อย่างนั้นก็โดนฆ่าไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา ก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่อุตส่าห์มาฟังในวันนี้ และขอขอบพระคุณท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลนะคะที่ช่วยกันพยายามแก้ปัญหาอย่างยิ่ง และข้าพเจ้าก็สัญญาว่า ข้าพเจ้า 72 แล้ว จะไปหัดยิงปืนใหม่แล้ว โดยไม่ต้องใส่แว่น ก็ยิงมันไปก็แล้วกัน ขอบพระคุณค่ะ ขอบพระคุณมาก” (“สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงวิงวอนทุกฝ่ายยุติการฆ่ารายวันในภาคใต้”, ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤศจิกายน 2547)

ในเว็บไซต์ชื่อ gunsandgames มีคนนำข่าวนี้มา “น้อมรับด้วยเกล้า” “ซาบซึ้งจริงๆ” แต่ก็มีคนสงสัยว่ากรณีนี้ควรใช้ราชาศัพท์ว่า “พระราชดำรัส” หรือ “พระราชเสาวนีย์” อีกคนในเว็บบอร์ดมาเฉลยว่าค้นจาก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แล้วพบว่า “ที่ถูกต้องใช้ ‘พระราชเสาวนีย์’ ครับ” เพราะโดยนิยามคือ “คำสั่งของพระราชินี” ขณะที่ “พระราชดำรัส” นั้นหมายถึง “คำพูดของพระมหากษัตริย์” ทั้งนี้ “เป็นธรรมเนียมไทยอย่างหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการออกพระนามของเจ้านายชั้นสูง เราจึงใช้คำว่าพระบรมราชโองการแทนคำสั่งของในหลวง พระราชเสาวนีย์แทนคำสั่งของพระราชินี พระราชบัณฑูรย์แทนคำสั่งของมงกุฎราชกุมาร และเมื่อใช้ 3 คำนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเป็นพระราชเสาวนีย์ของผู้ใด เพราะทั้งประเทศไทยจะมีผู้ที่ออก ‘พระราชเสาวนีย์’ ได้เพียงท่านเดียวเท่านั้น” (http://www.gunsandgames.com/smf/index.php?topic=1405.25;wap2)

ไหมล่ะ ไม่ใช่ง่ายๆ เลยนะนี่

หนังสือเล่มนั้นบอกว่าหลังจากโรงพิมพ์สรรพอนงค์กิจเลิกกิจการ ขณะที่แม่ละม่อมกลายเป็นคุณหญิงละม่อมแล้วกลายเป็นชาวนา แม่ส้มจีนก็กลายเป็นคุณหญิงส้มจีนแล้วกลายเป็นกวี น่าสงสัยนักว่าสองแม่นั้นเลือกตัดสินใจจากอะไร หากไม่ได้ถูกหันเหด้วยการแต่งงานเสียแล้ว ทั้งสองแม่จะยังทำกิจการโรงพิมพ์ต่อไปไหม สำหรับทั้งสองแล้วการพิมพ์หนังสือคืออะไร กิจการค้า อาชีพเสรี วิถีอย่างช่าง ความตื่นเต้นกับเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ หรือเพียงฆ่าเวลาระหว่างรอให้ใครมาขอแต่งงาน ครั้นเมื่อแต่งแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าความหลงใหลที่ถูกทำให้สะดุดด้วยการแต่งงานนั้น ได้สานต่อเมื่อต่างกลายเป็นผู้หญิงที่มีผัวหาเลี้ยง มีความมั่นคงในชีวิต มีสถานะที่สูงขึ้น แล้วคนหนึ่งก็สานต่อความรักในศัพท์ด้วยการเป็นกวี ขณะที่อีกคนสานต่อสรรพวิถีด้วยการลงแรงทำนา

มันน่าประทับใจไหมเล่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งเมื่อทศวรรษ 2490 จัดให้ “หนังสือ” เป็นลำดับแรกใน คู่มือแม่บ้านการเรือน อะไรดลใจให้ จ.จ.ร. เลือกอย่างนั้น เพราะหนังสือกำลังเป็นของเก๋ของยุคสมัย? เพราะเธอต้องการบอกว่านี่คือสิ่งสูงค่า? หรือเพราะเธอเห็นว่าหนังสือก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการเรือนของผู้หญิงไม่ต่างจากตะหลิวกระทะ? แต่ที่แน่ๆ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับหนังสือนั้นถูกนำเสนอบนฐานของความเป็นแม่บ้าน การหยิบจับ เก็บ ซ่อม ทำความสะอาด จัดวาง สัญชาตญาณ(?)อย่างแม่บ้านที่ไม่อาจสลัดได้แม้ในโลกสัญลักษณ์ของความเป็นปัญญาชนอย่างหนังสือ

ถ้านับจากชีวิตใน รัตนาวดี ที่เขียนขึ้นจากบันทึกของ ม.จ. วิภาวดีเมื่อครั้งที่แต่งงานใหม่ๆ และได้เดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรปสองครั้งกับสามี มาถึงวันที่เธอกลายเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการบุกฝ่าลุยโคลนเสี่ยงภัยอันตรายแทนพระองค์แล้ว ก็นับว่าเธอ ‘มาไกล’ มาก จากถ้อยคำที่ใครต่อใครบันทึกไว้โดยละเอียดถึงหัวจิตหัวใจและความทุ่มเทของเธอนั้น ถ้าเอาไปเขียนเป็นเล่ม ก็คงคล้ายๆ บันทึกความทรงจำของนักศึกษาที่เข้าป่าแล้วบันทึกถึงการเดินทาง กิจกรรม และผู้คนอัน ‘exotic’ สำหรับพวกเขา ต่างกันแต่ว่ามันจะเป็นบันทึกจากสายตาที่สมาทานอุดมการณ์อย่างฝ่ายราชและฝ่ายอำนาจรัฐ สะท้อนผ่านศัพท์เหล่านั้นอันส่อสกุลและชนชั้น ที่แม้จะพยายาม ‘ลำลอง’ อย่างไร ก็ไม่อาจปิดบังได้

แต่ผู้หญิงคนที่พูดถึงยากที่สุดในประเทศนี้ คือผู้หญิงที่สรรพศัพท์ของเธอนั้นพ่วงมาด้วยอำนาจอันไม่เพียงมิอาจละเมิด แต่ยังยากจะ ignore ดังนั้นมันจึงไม่เพียงยากในการต้องใช้ศัพท์พิเศษแทนคำว่า “พูด” แต่ยังยากจะแยกแยะว่าคำพูดนั้นเป็นแต่เพียงการเปรย ปรารภ เล่าให้ฟัง หรือสั่ง เพราะความศักดิ์สิทธิ์ทั้งโดยศัพท์และโดยสรรพนั้นล้นเกล้า-ล้นกระหม่อม และหาที่สุดมิได้

และอีกครั้งที่แม่คุณได้แต่ยกมือท่วมเกศา ทรงพระเจริญเพคะ ทรงพระเจริญ

เนิ่นนานราวซักเกือบยี่สิบปีที่แล้ว คืนหนึ่งแม่คุณฝันประหลาด ในฉากนั้น แม่คุณนั่งห้อยขาอยู่บนไม้กระดานริมแอ่งคูเล็กๆ ดูผู้หญิงคนหนึ่งค่อยๆ รินน้ำซาวข้าวจากหม้อ น้ำสีขาวขุ่นไหลรินลงไปในคูนั้น ในความฝัน แม่คุณรู้สึกอุ่นใจและสงบอย่างประหลาดเพียงแค่ได้นั่งมองภาพนั้น ในภาวะที่ชีวิตจริงเมื่อตื่นจากฝันมีแต่ความขุ่นข้อง สับสน พะว้าพะวัง ผู้หญิงรินน้ำข้าวคนนั้นแม่คุณรู้จักเธอในชื่อ “ศรีดาวเรือง” ผู้หญิงที่มีรากฐานมาบางอย่าง มีการดิ้นรน มีความหวัง มีความพลิกผันจากการแต่งงาน มีสัญชาตญาณอย่างแม่บ้านที่สลัดไม่ได้ และเป็นผู้ครอบครองคำศัพท์มากมายจากสรรพสารแห่งชีวิตที่แม่คุณได้เสพผ่านงานเขียนของเธอ ความตื่นตะลึงต่อสิ่งที่เธอมีและไม่ว่าจะพยายามอย่างไรแม่คุณก็ไม่อาจมีได้นี้ ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งที่แม่คุณกับแม่มุกหอมและแม่อาดาดลเคยนั่งค่อนขอดกันเองถึงความพยายามทำสิ่งที่เรียกว่าการทรยศทางชนชั้นและเพศสถานะ แล้วผู้หญิงอย่างศรีดาวเรืองล่ะ ในขณะที่การลงจากชนชั้นสูงกว่าไปทำอะไรอย่างชั้นที่ต่ำกว่ากลายเป็นเรื่องน่าบูชา แต่ถ้าจากต่ำไปสูงกลับมักถูกกังขา (และถ้าว่ากันในแง่ผู้หญิง แม่คุณนึกถึงแอคทิวิสต์และนักวิชาการเฟมินิสต์ประเทศนี้ขึ้นมาแล้วก็อยากจะบ้าตายจริงๆ) ฝ่ายที่สูงกว่าก็ต้องถามตัวเองให้ดีว่าถึงจะพยายามสลับตำแหน่งแห่งที่อย่างไร mentality ทางชนชั้นมันเปลี่ยนได้ไหม แน่ใจอย่างไรว่าไม่ใช่ยิ่งตอกย้ำความสูงส่งนั้น

You’ll never live like common people, you’ll never do what common people do, you’ll never fail like common people, you’ll never watch your life slide out of view, and dance and drink and screw, because there’s nothing else to do… แม่อาดาดลเคยส่งเพลงแถวบ้านเพลงนี้มาให้ฟัง บอกว่าเพลงที่โดยสไตล์เรียกว่า brit pop แต่โดย sensibility เรียกว่าลูกทุ่งอังกฤษเพลงนี้ เนื้อเพลงแปลได้ใจความว่า “fuck you”

ในภาวะที่ราวกับกำลังนอนเด็ดกลีบดอกไม้เสี่ยงทายว่าจะเลิกหรือไม่เลิกกิจการ แม่คุณนึกถึงว่าป่านนี้ศรีดาวเรืองก็คงยังเป็นแม่บ้านนั่งเช็ดคราบเชื้อราบนหน้าหนังสือปัญญาชนจำนวนมหาศาลที่ถูกน้ำท่วมอยู่อย่างนั้น และให้นึกหวาดอยู่ในใจว่าในวันหนึ่งวันใด เมื่ออดรนทนไม่ไหว แม่คุณอาจลุกขึ้นมาส่องกระจกแล้วพบว่าทำอะไรไม่ได้นอกจากระเบิดวรรคทองวรรคนั้นในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของศรีดาวเรืองออกมา

“ธ่อ…อีส้นตีน!”
****