วรรณะแห่งวิจารณ์คดี

ในเวทีเสวนาที่วารสาร อ่าน จัดร่วมกับฝ่ายวิชาการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2551 ผู้เข้าฟังสัมมนาบางท่านได้ตั้งคำถามสำคัญที่ทำเอาผู้ถูกถามต้องกลับมานอนก่ายหน้าผากถามตัวเองต่ออีกหลายวัน นั่นคือคำถามที่ว่า สิ่งที่วารสาร อ่าน กำลังพยายามทำอยู่นั้น เป็นการตอบโต้หรือคัดง้างกับอะไรหรือไม่ และคำถามที่สองคือ อะไรคือเกณฑ์หรือ criteria ที่ใช้ในการประเมินคุณค่าว่าหนังสือ (หรือภาพยนตร์) เรื่องใด “ดี” หรือ “ไม่ดี”

คำถามเหล่านี้ทำให้นึกย้อนไปถึงกาลครั้งหนึ่ง เมื่อคนกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์ผู้ทรงดีกรีเป็นส่วนใหญ่ ได้มาร่วมกันวิจารณ์นิทรรศการศิลปะชุดหนึ่ง

“โดยที่ไม่ต้องมีทฤษฎีของตะวันตกหรือตะวันออกเลย เดี๊ยนสามารถที่จะบอกว่ารูปนี้หลวมมาก โดยลักษณะของฟอร์มและสีของมัน มันไม่มีไลฟ์ แม้แต่รูปนั้นที่พยายามจะมีมูฟเม่นท์ของไลน์ มันก็แข็ง สแตทิค! เดี๊ยนไม่ได้พูดจากทฤษฎีอะไรเลย พูดจากคนที่ตาไม่บอดน่ะนะคะ แล้วก็มีเซนส์ที่เราเรียกว่า จัดจ์เม่นท์ออฟเทสต์น่ะนะคะ ที่สามารถที่จะบอกว่าดิสอีสบิวตี้ฟูล ว่าไอ้นี่งาม โดยที่ไม่ได้มีอินเทรสอะไร ไม่มีเพอเพอส และไม่ได้บอกด้วยว่าอยากจะรู้ว่ามันบอกอะไร แต่ดูจากการจัดพื้นที่ เดี๊ยนพูดถึงคัมโพซิเชิ่นที่อยู่ในรูป [หยุดเหมือนรอฟัง] มัน…ไม่พูดอะไร [หยุดเหมือนรอฟัง] แล้วธรรมดาเนี่ย สี [เน้นเสียง] นะคะ ถ้าคนที่เรียนศิลปะจะรู้ว่าสีควรจะอินฟลูเอนซ์เดอะโซล ก็คือสีควรจะต้องพูดอะไรกับจิตวิญญาณของเรา แล้วก็เป็นตัวหนึ่งที่เมื่อมาอยู่ในฟอร์มแล้ว มันจะต้องพูดอะไรกับเรา แต่สีพวกนี้ ไม่ได้พูดอะไรกับเดี๊ยน…เดี๊ยนไม่ชอบ!” [การสะกดคำทั้งหมดถอดตามการออกเสียงของผู้พูด]

นั่นเป็นความฝังใจต่อการเผชิญหน้าเป็นครั้งแรกกับสิ่งที่เรียกว่าการวิจารณ์แบบประเมินคุณค่า จำได้ว่าตอนที่เดินออกมาจากงานนั้น มือสองข้างยังสั่น หางเสียงที่ยกสูงตลอดเวลาเหล่านั้นยังค้างแขวนอยู่ในหู เช่นกันกับเสียงหัวเราะของบรรดานักวิจารณ์ เมื่อพูดถึงศิลปินว่าฝีมือระดับอนุบาล แค่เอารูปใส่กรอบที่ดีกว่านี้ก็ยังไม่รู้จักทำ หลายเสียงของนักวิจารณ์เหล่านั้นพ้องตรงกัน “ถ้า [เจ้าของผลงาน] เรียนทางด้านทัศนศิลป์มามากกว่านี้ จะไม่ทำงานอย่างนี้แน่นอน” ฟังแล้วจึงได้่เข้าใจ โอ ศิลปินต้องมีการศึกษา ต้องมีปัญญาจ่ายค่ากรอบดีๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นอย่าหวังเลยว่ามันจะเป็นงานศิลปะที่จะทำให้นักวิจารณ์ผู้มีผัสสะและความรู้ดีเหล่านั้น “ชอบ” ได้

งานศิลปะชิ้นหนึ่งๆ นั้น จะ “ดี” หรือ “เลว” ก็ตาม/ก็ได้ แต่ท่วงทำนองการวิจารณ์เช่นนี้เป็นที่ยอมรับได้อย่างไร แน่นอนว่าการใช้รสนิยมส่วนตัวมาบอกว่าชอบ-ไม่ชอบ สวย-ไม่สวย นั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย ใครๆ ก็ทำกันเป็นปกติ แต่ถ้าหากว่าจะทำกันในฐานะโครงการวิจารณ์ที่ต้องใช้งบประมาณสาธารณะจากกองทุนระดับชาติ คนฟังย่อมอดคาดหวังไม่ได้ว่าจะได้พบกับการสาธิตและพิสูจน์ชุดวิเคราะห์วิจารณ์ที่มีต่อตัวงานอย่างรอบด้านกว่านี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการสำแดงคุณวุฒิส่วนตัวของผู้วิจารณ์ให้เห็นว่าเป็นผู้ผ่านการขัดเกลาทางสุนทรียะมาแล้วเป็นอย่างดีพอที่จะมาเป็นคนตัดสินชี้คุณค่า โดยไม่ต้องเสียเวลาแจกแจงเหตุผล เพราะลำพังแค่การระดมโวหารและศัพท์แสงมาข่มเข้าไว้ ก็ทำให้การประเมินคุณค่านั้นต่างจากเวลาที่ชาวบ้านร้านตลาดคุยกันเรื่องละคร หลังข่าวได้แล้ว

ใช่แล้ว เขาล่ะ อภิสิทธิ์ชนทางสุนทรียะ

กระบวนการเบิกเนตรต่อโลกของวงการวิจารณ์ค่อยๆ ดำเนินไปเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมมนาวิชาการมนุษยศาสตร์ระดับชาติเป็นระยะในฐานะประชาชนธรรมดาที่เสียค่าใช้จ่ายเต็มขั้น และได้ค้นพบว่าการวิจารณ์แนวนี้ หรืออย่างน้อยก็คือนักวิจารณ์ที่เป็นตัวแทนของแนวทางนี้ ดูจะไม่ค่อยเต็มใจยอมรับการวิจารณ์ในแนวทางอื่นๆ ไม่ว่าแนวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา หรือแนวทางการตีความตัวงานโดยปราศจากการประเมินคุณค่า ด้วยข้อหาว่าการใช้เครื่องมือเหล่านั้นเป็นการเห่อตามฝรั่ง (ในยุคคลั่งชาตินี้ข้อหาเช่นนี้นับว่าสาหัสไม่เบา)

จะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม การปฏิเสธแนวทางการวิจารณ์แบบอื่นดังกล่าว ดูจะเป็นการตัดโอกาสในการเข้าถึงโลกการวิจารณ์ของบรรดาลูกชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่ได้ผ่านการ “ขัดเกลาทางสุนทรียะ” มาเท่ากับบรรดาอภิสิทธิ์ชนการศึกษาสูงลูกหลานขุนนางคหบดีทั้งหลาย เพราะแนวทางอื่นๆ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ตามชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย หรือกระทั่งจากการศึกษาหาอ่านด้วยตัวเองตามหนังสือสื่อสิ่งพิมพ์ และในแง่นี้เองที่ทำให้การวิจารณ์ซึ่งเคยถูกผูกขาดอยู่กับแนวทางประเมินคุณค่าในหมู่ผู้เชี่ยวชาญสามารถขยายออกไปสู่ผู้อ่านสามัญ เป็น “ความรู้ [ที่] อาจเรียนทันกันหมด” ถ้าเราเชื่อว่าใครๆ ก็มีสติปัญญาพอที่จะเป็นนักวิจารณ์ได้โดยไม่ต้องติดขัดอุปสรรคทางชาติกำเนิดและภูมิหลัง (ที่ย่อมมีผลต่อโอกาสในการได้รับการขัดเกลาต่อมรับรสทางสุนทรียะ) และถ้าหากจะให้ใช้เกณฑ์ในทางประเมินคุณค่า หนังสือที่คนส่วนใหญ่ชอบอ่านหรือรู้สึกให้คุณค่าก็อาจไม่ได้อยู่ในลิสต์ “หนังสือดี” หรือ “วรรณคดี” ชุดเดียวกันกับที่สถาปนากันอยู่ตลอดมาก็ได้ ในยุคที่ “เด็กยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” ก็เขียนบล็อกวิจารณ์หนังสือกันได้นั้น เรายังจะผูกขาดหนังสือที่ควรอ่านและเกณฑ์ที่ควรใช้ในการวิจารณ์กันได้อยู่หรือ

แน่ล่ะ เราทุกคนไม่ว่าชนชาติ-ชนชั้นไหน ก็สามารถมีสัมผัสในทางสุนทรียะที่จะนำไปสู่การมีความเห็นหรือความรู้สึกต่อตัวงานได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มันจะถูกนำไปปะปนกับการประเมินคุณค่าด้วยแล้วละก็ มันไม่ “สากล” ขนาดที่จะมีคำตอบชี้ขาดเพียงหนึ่งเดียวได้อีกต่อไปแล้ว ภูมิหลัง ความคิดความเชื่อ อุดมการณ์ย่อมเข้ามามีส่วนในการ “ประเมิน” ผู้ประเมินคุณค่าจึงมีภาระของการพิสูจน์ว่าการประเมินหนึ่งๆ ที่มาจากกรอบความคิดความเชื่อชุดหนึ่งนั้น มีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกิจกรรมการประเมินนั้นๆ ไม่ได้ทำกันอยู่ในที่รโหฐานเป็นการส่วนตัว

ลิสต์หนังสือต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้ทั้งในห้องเรียนและเวทีวิจารณ์ ล้วนมีบรรทัดฐานและการให้คุณค่าบางอย่างแฝงฝังอยู่ทั้งสิ้น การที่ไม่ต้องแถลงแจกแจง ไม่ต้องถูกตรวจสอบ เพียงเพราะได้ชื่อว่าเป็นลิสต์ขึ้นหิ้งหรือทำเนียบแห่งชาตินั้น ออกจะเป็นการปิดกั้น (หากมิใช่ปิดบัง) กันเกินไป ถ้าไม่ตรวจสอบกันเสียบ้าง วงวิชาการวรรณคดีก็อาจจะเป็นอย่างที่เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า “อนุรักษนิยม” เสียยิ่งกว่าวิชาประวัติศาสตร์ก็ได้

การประเมินคุณค่าไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง ปัญหาอยู่ที่การผูกขาดการประเมินคุณค่าไว้ในหมู่อภิสิทธิ์ชนทางสุนทรียะ ผู้ผูกขาดการวิจารณ์ไว้กับแนวทางการประเมินคุณค่าเพียงอย่างเดียว

ความรู้และการขัดเกลาทางสุนทรียะในขั้นสูง ไม่ได้รับประกันเลยว่าการประเมินค่านั้นจะปลอดอคติหรือผลประโยชน์ เช่นกันกับที่ฉากหน้าของมนุษยศาสตร์ก็ไม่อาจรับประกันถึงมนุษยธรรม ฐานันดรทางสุนทรียะอาจหมายถึงความสามารถในการบดขยี้อย่างละเมียดละไมต่อโอกาสในการเข้าถึงศิลปะของคน “บ้านๆ” ก็ได้

นี่มิใช่การปฏิเสธคุณค่าของวรรณคดี ปัญหาอยู่ที่ว่าใครกันหรือที่มีสิทธิ์ผูกขาดการประเมินคุณค่า และกระทั่งผูกขาดแนวทางในการอ่านและการวิจารณ์

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัววรรณคดี หากทว่าคือปัญหาของวรรณะแห่งวรรณคดี

ปัญหาวรรณะแห่งวิจารณ์คดี
*****