“พี่เอาแต่นึกภาพว่าเด็กๆ พวกนี้กำลังเล่นอะไรกันอยู่ในทุ่งข้าวไรย์กว้างๆ เด็กเป็นพันๆ คนเลย แล้วก็ไม่มีใครอยู่แถวนั้น ไม่มีคนที่โตกว่าเลยซักคน มีแต่พี่นี่ล่ะ แล้วพี่ก็จะคอยยืนอยู่ตรงขอบหน้าผาเฮงซวยแถวนั้น สิ่งที่พี่ต้องทำก็คือคอยคว้าไว้ถ้าเกิดว่าเด็กพวกนี้วิ่งไปแถวๆ ขอบหน้าผา คือถ้าเด็กๆ วิ่งออกมาไม่ดูตาม้าตาเรือ พี่ก็จะต้องคอยโผล่มาดักคว้าตัวไว้ วันๆ ก็จะทำแค่นั้นแหละ เป็นแค่คนคอยคว้าเด็กในทุ่งข้าวไรย์ ก็รู้หรอกว่ามันออกจะบ้าๆ แต่นั่นแหละคืออย่างเดียวจริงๆ ที่พี่อยากเป็น”
คงไม่มีใครที่เคยอ่านนวนิยายเรื่อง The Catcher in the Rye ของ เจ.ดี. ซาลิงเจอร์ [*] แล้วจะจำคำพูดข้างต้นของโฮลเด้น คอลฟิลด์ ตัวเอกของเรื่องไม่ได้ เป็นคำประกาศจากปากวัยรุ่นอายุสิบหก ผู้อึดอัดคับข้องไม่พอใจทุกสิ่งที่ดำเนินไปในโลกรอบตัว สำหรับโฮลเด้น มันคือโลกของผู้ใหญ่ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความดัดจริตเสแสร้ง มือถือสากปากถือศีล และจอมปลอม ในทศวรรษ 60 โฮลเด้นกลายเป็นฮีโร่ของขบถคนหนุ่มสาว ที่แปลกแยกและต่อต้านระบบระเบียบต่างๆ ของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษา (ก่อนที่ต่อมานวนิยายเล่มนี้จะกลายเป็นหนังสืออ่านในชั้นเรียนวิชาวรรณคดี ที่สอนโดยคณาจารย์ซึ่งเป็นผลผลิตชั้นเลิศของระบบการศึกษานั่นเอง)
ภารกิจในการเที่ยวไล่คว้าเด็กในทุ่งข้าวไรย์นั้น ในชั้นเรียนวรรณคดีก็ตีความกันมาจนปรุเปื่อยแล้วว่า สะท้อนถึงความคิดเชิงอุดมคติของโฮลเด้น ที่จะปกปักรักษาความบริสุทธิ์ในความหมายของคุณค่าความดีงามอันจริงแท้ที่ยังไม่ถูกบิดผันแปรเปลี่ยนให้เสื่อมค่าหรือผิดไปจากความหมายเดิม สำหรับโฮลเด้นความเป็นเด็ก หรือวัยเยาว์ (หรือไม่ก็คนที่ตายไปแล้ว) คือภาพแทนของความบริสุทธิ์นั้น ในขณะที่โลกและสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันล้วนคลาคล่ำไปด้วยความผิวเผินและจอมปลอม โฮลเด้นจึงเป็นได้แค่เด็กเมื่อวานซืนที่กราดเกรี้ยว หมกมุ่น สงสารตัวเอง แปลกแยกกับคนอื่น ไม่มีคำตอบ มีแต่คำถาม ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมประนีประนอม ไม่ยอม “เป็นผู้ใหญ่”
ครูคนหนึ่งพยายามเตือนสติหลังจากโฮลเด้นสอบตกและถูกไล่ออกจากโรงเรียน
“ชีวิตก็เป็นเหมือนเกม ไอ้หนูเอ๊ย ชีวิตคือเกมที่แต่ละคนต้องเล่นไปตามกติกา”
“ครับผมรู้ผมรู้แล้ว”เกมห่าอะไรล่ะ เกมบ้า ๆ ถ้าคุณอยู่ฝ่ายที่มีแต่พวกเจ๋ง ๆ เบ้ง ๆ อย่างนั้นจะเรียกว่าเกมก็ได้วะ แต่ถ้าคุณอยู่อีกฝ่ายหนึ่งที่แม่งไม่มีตัวเบ้ง ๆ เลย แล้วมันจะเป็นเกมได้ไง ไม่มีหรอก ไม่มีเกมอะไรทั้งนั้นแหละ
อย่างไรก็ตาม พลันที่ปรากฏว่า นายเดวิด แชปแมน พกนวนิยายเล่มนี้ในวันที่เขาลั่นไกสังหารจอห์น เลนนอน ซ้ำยังยกคำประกาศข้างต้นในบทที่ 22 ของนวนิยายเล่มดังกล่าวมาเป็นคำให้การในศาล เพื่ออธิบายถึงเหตุจูงใจในการลงมือกระทำการ อาจารย์วรรณคดีทั้งหลายก็คงกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยเมื่อเจอกับอำนาจการตีความและอำนาจของวรรณกรรม ที่แปรออกมาเป็นรูปธรรมอันชวนยอกแสยงเช่นนี้
หากเจตนาของนายแชปแมน เป็นจริงดังที่ให้การไว้ ก็หมายความว่าสำหรับเขาแล้ว การสังหารจอห์น เลนนอน คือภารกิจเดียวกันกับการคว้าเด็กซักคนที่กำลังจะพลัดหล่นตรงขอบหน้าผา เมื่อเห็นว่าตัวแทนของอุดมคติที่เขาสมาทานเสียยิ่งกว่าศาสนานั้น กำลังจะบิดพลิ้วแปรผันไปเขาจึงลงมือผดุงความบริสุทธิ์นั้นไว้ในความหมายที่สุดขั้วที่สุด นั่นคือสตัฟฟ์ไว้ด้วยความตาย
แต่สุดท้ายเราผู้ทะนงตนว่ามีสติและปัญญาเหนือกว่านายแชปแมนหรือโฮลเด้น คอลฟิลด์เอง (ซึ่งล้วนมีประวัติเข้ารับการบำบัดทางจิต) ก็ย่อมสามารถปัดเรื่องราวอันรบกวนจิตใจนี้ทิ้งไปได้โดยง่าย
จะเอาอะไรกับคนบ้า
จะว่าไปก็คงบ้าไม่ต่างจากหมอนั่น – ดอนกีโฆเต้ – – หมกมุ่นพอกัน
อย่างไรก็ดี ถ้านายเดวิด แชปแมนคิดอย่างนั้นจริง ๆ ตามที่อ้าง ถ้านั่นคือสิ่งเดียวกันกับการคว้าเด็กในทุ่งข้าวไรย์ ก็น่าสงสัยว่า ถ้าเขามาเดินท่อม ๆ อยู่แถวนี้ บางที กระทั่งดอนกีโฆเต้ก็คงเป็นศพ
เพราะในสังคมไทยยุคนี้ ไม่มีอะไรที่ชวนกังขาอย่างน่าพรั่นพรึงกว่าการชูธงอุดมการณ์อีกแล้ว คุณค่าความดีงามทั้งหลายหากมิใช่กำลังหลอมระเหิดเป็นอากาศธาตุ ก็กำลังถูกหลอมละลายไหลเยิ้มเรี่ยราดปะปนเสียจนแยกธาตุตั้งต้นไม่ได้ โดยน้ำมือของนักอุดมคติทุกเจเนอเรชั่นจากทุกสนามรบของอุดมการณ์
สารพัดซากโวหารต่างชุดถูกขุดมาผสมเป็นพันธุ์ใหม่ ในท่ามกลางการปลุกเร้าอย่างเข้มข้น ชนิดที่หกตุลาไม่เพียงชิดซ้าย แต่ยังชิดขวา
ผู้เล่นทุกฝ่ายที่เคยสวมเสื้อต่างสี พากันกระโจนเข้ามา ที่เคยอยู่ข้างหลังก็ชักจะมีคนเริ่มเห็นหน้า ที่เคยทำทีเหมือนตีขิมบนกำแพงก็เริ่มจะดอดลงมา ซ้าย ขวา บน ล่าง ประสานพลังกันขวักไขว่ ทุกคนมั่นใจ…งานนี้ต้อง สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
น่าเวทนาเพียงใด ที่ความหมกมุ่นในอันที่จะปกป้องคุณค่าบางอย่างไว้ไม่ให้เสื่อมถอยหรือแปรเปลี่ยนไปนั้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โฮลเด้นชอบไปพิพิธภัณฑ์ ก่อนที่จะมาคิดได้ในภายหลังว่า นั่นอาจเป็นสถานที่ที่ชวนให้สะเทือนใจที่สุดต่างหาก
อย่างหนึ่งที่ดีที่สุดของพิพิธภัณฑ์นั่นก็คือ ทุกสิ่งจะอยู่อย่างที่มันเคยอยู่ ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนทั้งนั้น ต่อให้คุณไปที่นั่นอีกเป็นแสนครั้ง เอสกิโมคนนั้นก็จะยังเพิ่งจับปลาสองตัวนั่นได้เหมือนเดิม ฝูงนกจะยังคงบินไปทางทิศใต้ พวกกวางเขาสวยๆขาเปรียวๆ จะยังคงกำลังกินน้ำจากตาน้ำนั่น ผู้หญิงอินเดียนแดงเปลือยอกคนนั้นยังทอผ้าห่มผืนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนไปก็คือ ตัวคุณ
ในที่สุด เขาก็เปลี่ยนใจ “จ้างให้เป็นล้าน ผมก็ไม่มีวันเข้าไปในนั่นหรอก”
ครูอีกคนหนึ่งของโฮลเด้นพยายามเตือนเขาด้วยคำพูดของนักจิตวิเคราะห์ วิลเฮล์ม สเตเคล ที่ว่าเครื่องหมายบอกถึงความไม่เป็นผู้ใหญ่ของคนเรา ก็คือการที่เขาอยากตายอย่างมีเกียรติเพื่ออุดมการณ์ ขณะที่คนซึ่งเป็นผู้ใหญ่แล้ว ต้องการมีชีวิตอย่างเจียมตนเพื่อคุณค่าเดียวกันนั้น
สำหรับสังคมไทย นั่นอาจเป็นปัญหาของยุคสมัยที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการ “คืนเมือง” แต่ปัญหาของโฮลเด้นในสังคมไทย พ.ศ.นี้ คือการต้องทนดูอุดมการณ์ผีดิบตายซาก ที่ถูกปลุกขึ้นมาตัดต่อพันธุกรรมใหม่ จนไม่รู้จะเอาชีวิตเข้าแลกหรือเจียมชีวิตอยู่เพื่ออุดมการณ์นั้นไปสำมะหาอะไร
ไม่มีการเห็นอะไรที่จะนำมาซึ่งการปลดปลงใจได้เช่นนั้น
เช่นรู้เช่นเห็นชาติกัน
ใครเล่าจะยังอยากเป็นคนบ้านั่งเฝ้าริมหน้าผาต่อไป
[*] หนังสือเล่มนี้เคยได้รับการแปลเป็นภาษาไทยสองสำนวน คือ ชั่วชีวิตของผม (แปลโดยคำรวี-ใบเตย, สำนักพิมพ์ปิยะสาส์น) และ ทุ่งฝัน (แปลโดยศาสนิกสำนักพิมพ์เรจีนา, 2531)