เด็กที่เกิดในทศวรรษที่ 60 ผ่านสภาพแวดล้อมทางสังคมมาเหมือนๆ กัน ผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เมื่อตอนยังเป็นเด็ก คนที่อายุแก่หน่อยก็กำลังเรียนอยู่มัธยม ผ่านสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อตอนรุ่นหนุ่มและผ่านความผันผวนทางสังคมการเมืองภายในอันเป็นผลกระเทือนโยงใยมาจากสงครามเย็นของสถานการณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงระยะเวลาของทศวรรษที่ 80-90 นั้น หลายคนในจำนวนนี้ได้สร้างตัวของเขาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ในระดับหนึ่งแล้ว มีหลายคนต้องเปื้อนฝุ่นผงที่สกปรกของอำนาจรัฐที่วิ่งราวเอาอิสรภาพของพวกเขาไปเสียหลายปี โดยอาศัยกฎหมายและกฎอัยการศึกบังหน้า […]
ถ้าจะประมวลผลงานอื่นของเด็กที่เกิดรุ่นทศวรรษที่ 60 ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างและ
มีความหลากหลายมากและเป็นสิ่งที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเขียนและต่างคนต่างทำนั้น
จะประกอบเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นวิญญาณแห่งยุคสมัย(Zeitgeist) พอจะได้ไหม?
เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงษ์ ปรารภความข้างต้นไว้ในข้อเขียนที่เขามอบเป็นเกียรติในวาระครบหกรอบนักษัตรของสุวัฒน์ วรดิลก เมื่อปี พ.ศ.2538 การใช้วลี “ทศวรรษที่ 60” ในที่นี้ ราวจะเป็นการล้อกับทศวรรษ 1960 หรือยุค “ซิกส์ตี้” อันลือลั่น หากทว่าความจริงแล้วมันหมายถึงทศวรรษ 2460 ของไทย และคุณเสนีย์ยังได้
ยกตัวอย่าง “เด็ก” เหล่านั้นไว้ด้วยว่า ได้แก่ อิศรา อมันตกุล, วิตต์ สุทธเสถียร, ประสงค์ วิทยะ, นายผี, บรรจง บรรเจิดศิลป์, อุษณา เพลิงธรรม, อุทธรณ์ พลกุล, ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์, อิงอร, อ. ไชยวรศิลป์, ส. อาสนจินดา,
คุณาวุฒิ, อุชเชนี, กรุณา กุศลาสัย เป็นอาทิ และแน่นอนว่าย่อมมี สุวัฒน์ วรดิลก ด้วย
ดิฉันเองยังไม่แน่ใจนักว่าจะสามารถตอบโจทย์ข้างต้นของสุภาพบุรุษอาวุโสท่านนี้ได้ เพียงแต่คำปรารภนั้นบังเอิญมีส่วนที่เหลื่อมกันกับความหมกมุ่นประการหนึ่งของดิฉันในระยะสองสามปีที่ผ่านมาว่าด้วยผลงานของนักเขียนจำนวนหนึ่งในรุ่นนี้ มาบัดนี้ ดิฉันเห็นเป็นวาระที่จะอ่านและเขียนถึงงานเหล่านั้นเสียที ก็เงื่อนไขใดเล่าจะเอื้อให้สัมผัสถึงชะตากรรมอันชวนคับข้องของพวกเขาได้ดีไปกว่า ณ ช่วงเวลานี้ที่ดิฉันได้มา “ร่วมสมัย” เผด็จการกันกับพวกเขา แม้ว่าความร่วมสมัยดังกล่าวจะหมายถึงว่าดิฉันกำลังอยู่ในยุคสมัยของสังคมไทยที่ถอยหลังกลับไปถึงครึ่งศตวรรษ
วิธีการและเป้าหมาย
“ท่านสั่งมาแล้วนะ ถ้ามันเขียนเรื่องประโลมโลกไม่เป็นไร ถ้าเขียนข้องแวะการเมืองเมื่อใดให้ดำเนินการทันที ลงชื่อ ส. ธนะรัชต์”
สุวัฒน์ วรดิลก เปิดเผยถึงข้อมูลนี้ไว้ในหลายวาระ รวมถึงในบันทึกความทรงจำที่เป็นงานอัตชีวประวัติของเขาเองคือ ใต้ดาวแดง คนสองคุก บัญชาลายลักษณ์นี้ดูจะเป็นภาพสรุปรวบยอดได้อย่างดีถึงลักษณะของงานเขียนกลุ่มนี้ที่ดิฉันสนใจสำรวจ กล่าวคือเป็นงานของนักเขียนซึ่งมีสำนึกตื่นตัวทางการเมือง หรือวลีที่ใช้กันมากคือมุ่งผดุงความเป็นธรรมทางสังคม, ต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม และบางทีก็ใช้คำในเชิงตำแหน่งแห่งที่ว่าเป็นพวก “ก้าวหน้า” ซึ่งถึงจุดหนึ่งเมื่อไม่อาจทัดทานอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จที่ครอบงำอยู่ได้ ไม่ทันหลบหนีรอดพ้นไปได้ หรือสู้อุตส่าห์กัดฟันที่จะอยู่ร่วมชะตากรรมกับผู้คนในสังคมต่อไป พวกเขาจำนวนหนึ่งต้องหันไปเขียนงานในแนวที่เรียกกันอย่างกว้างๆว่านิยายประโลมโลก อย่างน้อยก็ในตลอดช่วงยุคเผด็จการนั้น
ดิฉันอดไม่ได้ที่จะสงสัยว่า งานเหล่านั้นจะสามารถบอกอะไรได้หรือไม่ถึงการพยายามดำรงศักดิ์ศรีและชีวิตปากท้องของบรรดา “ผู้กระทำการ” (agent) ที่ต้องกลายมาเป็น “เหยื่อ” เหล่านั้น ในขั้นต่ำที่สุด เป็นไปได้หรือไม่ว่ามันคือการเยียวยา การระบายความอัดอั้น ผ่านเรื่องราวในแนว “หลีกหนี” เหล่านั้น และในขั้นเหนือจากนั้น พวกเขายังจะพยายามใช้มันเพื่อสื่อสารความคิดทางการเมืองสู่ผู้อ่านอยู่อีกหรือไม่ การเมืองประโลมโลกของพวกเขาจะเป็นเช่นไร
และด้วยเหตุที่ “มัน” ซึ่งสฤษดิ์ระบุถึงในข้อความข้างต้นนั้น สามารถระบุได้โดยตรงว่า คือ สุวัฒน์ วรดิลก โดยเป็นคำบัญชาที่กำหนดชะตากรรมของเขาเมื่อพ้นโทษจากเรือนจำ ในปี พ.ศ.2505 ดิฉันจึงตัดสินใจจะเริ่มสำรวจผลงานของเขาเป็นคนแรกในจำนวนนักเขียนอีกราวสามหรือสี่คนที่ตั้งใจจะทยอยสำรวจต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันจะใช้วิธีอ่านนวนิยายจำนวนหนึ่งของเขาในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับยุคสมัยเผด็จการนั้น ควบคู่กันไปกับการอ่านบันทึกความทรงจำของเขาและผู้คนแวดล้อม รวมถึงบทสัมภาษณ์ บทความต่างๆ รวมทั้งเอกสารอีกบางประเภท เพื่อปะติดปะต่อร่องรอยของข้อมูลความคิดและความรู้สึกของเขาที่กลืนเข้าอยู่ในนวนิยายประโลมโลกเหล่านั้น เรียกได้ว่าดิฉันจงใจเลือกใช้วิธีการศึกษาอย่างสามัญ คือการไล่ปะติดปะต่อตัวบทนั้น และตีความมันตามตัวอักษร
เหตุที่เลือกใช้วิธีนี้ก็เนื่องเพราะหลังจากอ่านนวนิยายของเขามาได้ระยะหนึ่ง ดิฉันมีสมมติฐานว่า หากแม้นคุณสุวัฒน์จะเคยคิดหรือได้พยายามใช้กลวิธีทางวรรณกรรมที่ต้องอาศัยการตีความในทางสัญลักษณ์หรือบุคลาธิษฐานทางใด ลักษณะเหล่านั้นดูจะไม่ปรากฏชัดในงานประโลมโลกเหล่านี้มากเท่ากับลักษณะที่ดูจะเป็นการไหลหรือกลืนวัตถุดิบจากชีวิตจริงเข้าไปแฝงฝากรอยไว้ในนวนิยายโดยตรง ซึ่งแม้ในขั้นพื้นฐานเช่นนี้ ดิฉันก็ยังไม่พบว่าเคยมีการศึกษาไว้
นอกจากนี้ เหตุที่เลือกศึกษางานของสุวัฒน์เป็นคนแรกก็เพราะมีวัตถุดิบค่อนข้างมากอยู่สักหน่อยโดยเปรียบเทียบ เพราะนอกจากสุวัฒน์จะเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญๆ ในชีวิตไว้ เขายังเป็นนักเขียนที่มักทบทวนตัวเองและแสดงการวิจารณ์ตนเองไว้อยู่เนืองๆ จนถึงขั้นวิเคราะห์พัฒนาการทางความคิดและการประพันธ์เป็นลำดับตามเงื่อนไขทางสังคมการเมืองและบรรยากาศทางอุดมการณ์ไว้ให้ อย่างชนิดที่วงวรรณกรรมไทยเพียงหยิบมาผลิตซ้ำก็แทบไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแล้ว
อย่างไรก็ดี ดิฉันก็ยังมีเหตุผลส่วนตัวอีกบางประการที่ทำให้เลือกศึกษางานของสุวัฒน์ วรดิลก เป็นประเดิมไว้
แต่เรื่องแบบนี้ค่อยขยายความก็ได้ ยังไม่ต้องป่าวประโคมไปในขั้นนี้