Memory believes before knowing remembers.*

Q1: ตอนสมัยป้าสาวๆ หรือเด็กๆ ไปกินไอติมที่ไหนครับ
A: มันก็มีทั่วไปแหละลูก แต่ที่อร่อยก็ต้องที่ราชวงศ์สิ เค้าไปกินข้าว แล้วก็ไปกินไอติมราชวงศ์
Q2: แล้วสมัยก่อนมีไอศกรีมกะทิ หรือรสอะไร
A: ป้าว่า ถามคำถาม very funny หัวเราะกันหมด
Q3: ไอติมมีกี่รส
A: กินไอติมอะไร กินข้าวด้วยมือหรือช้อน นั่งขัดสมาธิหรือพับเพียบ
Q3: ละเอียดมากเลย
A: ถามอะไรให้มันเป็นเรื่องเป็นราวหน่อยได้มั้ย…หัวเราะกันหมด
Q1: ผมคิดว่ามีแต่กะทิไงครับ ก็เลยอยากทราบว่ามีรสอะไรบ้าง
A: เค้าก็กินอาหารดีๆ ทั้งนั้นแหละลูกเอ๋ย แต่ไอศกรีมกะทิเห็นจะมากที่สุด ทาบนขนมปัง ที่เจ๊กขายไอติมเอาใส่เป็นถุง ถ้าพิเศษหน่อยก็มีถั่วลิสง
Q3: ราดนม?
A: ไม่ราดนม ราดแล้วขนมปังก็เปื่อยๆ ต้องรีบกิน
Q4: ราดแล้วไอติมก็ละลาย ไม่รู้ราดทำไม แล้วมีใส่ข้าวเหนียวมั้ยคะ
A: ข้าวเหนียว ไม่ค่อยทาน
Q3: ดูสิ ยังไม่เลิกถามอะไร funny เลยนะ หัวเราะกันหมด
Q1: สมัยก่อนคนก็กินข้าวเหนียว
A: เค้าก็ทานข้าวเหนียวนะลูก แต่ก่อนนี้ ต่างจังหวัดก็ต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ก็ส่วนกรุงเทพฯ นะ
Q4: เป็นไอติมแท่งๆ ก็มีใช่มั้ยคะ
A: มีๆ
Q4: ที่เสียบไม้
A: ที่เสียบไม้ เจ๊กขาย เจ๊กขายไอติม เจ๊กขายก๋วยเตี๋ยว
Q4: แล้วมีไอติมแบบที่เค้าเรียกไอติมหลอดมั้ยคะ
A: มีนะ ก็คงมี

มิตรผู้หนึ่งมอบบันทึกถอดเทปสัมภาษณ์ชิ้นนี้มาให้ฉัน เธอเล่าอย่างขบขันถึงการสัมภาษณ์ครั้งนั้นที่เธอและหนุ่มสาว
นักประวัติศาสตร์อีกหลายคนมีโอกาสได้คุยกับผู้อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งเป็นทายาทของหนึ่งในคณะราษฎร การสัมภาษณ์ในรถตู้ระยะทางจากบางปูถึงพระนครที่ใช้เวลาราวสองชั่วโมงครึ่งและถอดเทปออกมาได้เป็นเอกสารความยาว 35 หน้าครั้งนั้น ไม่ได้สิ่งใดที่เป็นสาระสำคัญในทางประวัติศาสตร์การเมืองกลับมา เพราะทุกคนถามแต่เรื่องที่ “funny” และ “non-sense”

เธอหวังใจว่าฉันอาจสนใจที่จะสานต่อภารกิจนี้ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันกว่า ฉันตรองดูแล้วก็เห็นว่าคงเป็นเพราะเธอและมิตรเหล่านั้นล้วนเป็นนักประวัติศาสตร์ที่เจนจบในทางข้อมูลของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยดังกล่าวเสียจนแทบลำดับเรื่องราวได้เป็นตำราอยู่แล้ว สิ่งที่พวกเธอใคร่รู้เห็นจึงกลายเป็นอะไรที่เข้าข่ายประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่สามัญกว่านั้น (เช่นประวัติศาสตร์ว่าด้วยการกินไอศกรีมในยุคคณะราษฎร?) ซึ่งจะว่าไปก็น่าสนุกดีเหมือนกัน และอันที่จริง ลำพังเมื่อพิจารณาเพียงตัวบทสนทนาที่ถ่ายทอดไว้ในเอกสาร ก็เห็นร่องรอยอยู่ในภาษา ศัพท์ และวิธีพูดจา ที่สะท้อนถึงบุคลิกแห่งยุคสมัยที่ต่างไปไว้น่าสนใจไม่น้อย ท่านว่าไหม

แต่ก็เถอะนะ จ้ะ ในเมื่อเนื้อหาหลักของประวัติศาสตร์การเมืองไทยกระทั่งในเชิงข้อมูลชั้นต้นยังกระท่อนกระแท่นเหลือใจ การรวบรวมจากปากคำและความทรงจำของพยานบุคคล จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนในชั่วอายุขัยที่ไม่มีอะไร
รับประกันได้ว่าฉันจะไม่เป็นฝ่ายหมดอายุไปก่อนพยานอาวุโสทั้งหลาย แล้วจะได้ทำให้เกิดการโต้แย้ง ถกเถียง ตีความจิปาถะที่ตามมาต่อวัตถุดิบชั้นต้นเหล่านั้น แต่อย่างน้อยก็ให้ได้ชื่อว่าเรามีฐานข้อมูลที่สมน้ำสมเนื้อกันเสียก่อน

“อยากรู้อะไรอีก ถามมาสิคะ ถามมา” คุณป้าอาวุโสพูดคำนี้อยู่ซ้ำๆ เป็นระยะ เวลาที่บทสนทนาบนโต๊ะอาหารขนาดใหญ่นั้นขาดช่วงไป ความกระตือรือร้นของผู้เล่าในการถ่ายทอดความทรงจำอันแจ่มชัดของเขา ทำให้คนหนุ่มสาว
(กว่า)ทั้งวงดูเป็นฝ่ายเงอะงะและไม่ปะติดปะต่อสักเท่าใด นี่เป็นความพยายามครั้งที่สองของการพูดคุยที่ดูเหมือนจะยังไม่ได้ไปถึงไหน แต่ก็พอมีประเด็นที่จับต้องได้กว่าในครั้งแรก ฉันเป็นฝ่ายนั่งเงียบ รอฟังผู้รู้ต่างรุ่นถาม-ตอบกันและกันพอให้เป็นแนวทาง หากวันหนึ่งวันใดฉันจะกลับมาสัมภาษณ์ใหม่จากต้นชนปลายประสาคนไม่ค่อยรู้อะไร

สิ่งที่ฉันพยายามจะจับให้ได้สักหน่อยในวงสนทนานี้ คือตำแหน่งแห่งที่ที่ผู้เล่าวางความทรงจำนั้นไว้ เรามักพูดกันว่า
ผู้ชนะคือผู้ที่เป็นฝ่ายเขียนประวัติศาสตร์ แต่ความที่ประวัติศาสตร์ของฝ่ายชนะคือกระแสหลักอันมั่นคงและครอบงำ ก็ทำให้มันมักไม่มีสีสันและความกระตือรือร้นในการเล่า เท่ากับประวัติศาสตร์จากฝ่ายที่เห็นว่าตนถูกกดทับและบิดเบือนมาตลอดอย่างในกรณีนี้

แต่เอาเข้าจริงกรณีนี้จะเรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์ของฝ่ายผู้แพ้ได้ไหม ฉันก็ยังไม่แน่ใจ บางทีความอัดอั้นตันใจของ
ผู้เล่าคงมาจากการที่ปัจจุบันต้องเป็นฝ่ายพ่าย ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นฝ่ายชนะ และชนะอย่างชนิดที่เคยได้เขียนประวัติศาสตร์ใหม่ของตัวเองมาแล้วด้วย ฉันคาดเดาไม่ถูกเหมือนกันว่าหากเขายังรู้สึกเป็นผู้ชนะมาตลอดตั้งแต่
ตอนนั้น ความทรงจำที่เขาเลือกเล่าให้ฟังในวันนี้ จะมีน้ำเสียงของการแก้ต่างข้อครหามากเท่าที่เป็นอยู่นี้ไหม จะสามารถยืดอกยืนยันในทางอุดมการณ์ของการตัดสินใจต่างๆ ได้มากกว่าการอธิบายว่าเป็นเรื่องของเงื่อนไขเฉพาะหน้าไหม หรือว่าความจริงมันก็อาจเป็นแค่นั้นก็ได้ มันไม่เคยมีอะไรมากกว่านั้นจริงๆ

ฉันไม่ค่อยสันทัดเรื่องการเมืองนักหรอก จริงๆนะท่าน อย่างเรื่องความขัดแย้งเบื้องลึกเบื้องหลังระหว่างฝ่ายไหน
ไม่ว่าในยุคสมัยไหน ฉันก็รับรู้มาอย่างสับสนปนเปและหลงๆลืมๆเป็นส่วนใหญ่ ลำพังชื่อตัวบุคคลก็จำยากจำเย็น
จะตาย เวลาอ่านข้อเขียนทางประวัติศาสตร์ไม่ว่ายุคใกล้หรือยุคไกลอย่างสมัยอยุธยา ฉันต้องเปิดหนังสือพลิกหน้าพลิกหลังกลับไปทวนทุกทีว่าชื่อนี้เป็นใคร ลูกเจ้าแผ่นดินเจ้าฟ้าเจ้าพระยาคนใด หรือเป็นพลเอกพลเรือตรีพลตำรวจโทอะไร อยู่ก๊กฝ่ายสายไหน

มีเรื่องหนึ่งที่ฉันสนใจ แต่บนโต๊ะอาหารนั้นเขาพูดกันผ่านๆ คือเรื่องการบังคับให้ใช้ตัวสะกดแบบใหม่ในยุคสมัยนั้น ฉันเคยได้ยินมานานอย่างที่ใครๆเรียกว่าเป็นอักขรวิบัติ หรือภาษาวิบัติ แต่ฉันก็นึกสงสัยตลอดมาว่าชัดๆแล้วมันคืออย่างไร ผู้คนในยุคนั้นเขาคิดอย่างไร แล้วผู้ประกาศให้ใช้มีเหตุผลอะไรแน่ และเมื่อใช้จริงๆแล้วจะมีผลต่อความนึกคิดของผู้คนในเรื่องภาษาอย่างไร ท่านว่าฉันคิดมากไปใช่ไหม แต่ท่านเชื่อหรือว่าภาษาศาสตร์เป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆที่ปราศจากแนวคิดที่อธิบายได้ในทางอุดมการณ์

ในทางหนึ่ง ฉันได้เห็นได้ฟังแต่คำอธิบายคร่าวๆว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อรับมือกับการที่ญี่ปุ่นจะบังคับ
ให้คนไทยเปลี่ยนไปใช้ตัวอักษรของญี่ปุ่นเมื่อครั้งสงครามโลก ก็เลยต้องปรับแปลงภาษาไทยให้ง่ายขึ้น ลดความ
ยุ่งยากซับซ้อนของอักขรวิธีเพื่อที่เราจะสามารถรักษาเอกราชของภาษาไว้ได้ (ซึ่งก็เป็นคำอธิบายเดียวกับที่ฉันได้ยินจากปากของท่านผู้เป็นทายาท)ไม่มีอะไรมากกว่านั้น บางคำอธิบายก็บอกว่าเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือให้ราษฎรไทยสามารถอ่านออกเขียนได้กันง่ายขึ้น ลดความซับซ้อนรุงรังของภาษาเพื่อให้เป็นที่เข้าถึงได้ง่ายตามนโยบายที่ต้องการเร่งขยายการศึกษาให้แก่ราษฎร บางคำอธิบายก็บอกว่าเป็นความพยายามลดฐานานุศักดิ์ทางภาษาซึ่งมีอยู่สูงมากแต่เดิม อันเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรม“ที่สูงที่ต่ำ” หรือความไม่เสมอภาคของสังคมไทย

ฉันเคยสงสัยเรื่องนี้มานาน แต่ครั้นจะไปถามนักประวัติศาสตร์การเมือง ก็เกรงว่าเขาจะเห็นเป็นเรื่องหยุมหยิมเข้าข่ายวรรณกรรมคณะราษฎร (คงคล้ายๆศิลปะคณะราษฎร แต่อ่อนดีกรีกว่า) ครั้นจะไปถามพวกนักวรรณคดีไทย ก็เกรงว่าเขาคงจะบริภาษจอมพลป. และคณะราษฎรให้ฟังอย่างเดียว และรักเดียวใจเดียวกับภาษาไทยตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.​ 2545 อย่างหัวปักหัวปำจนกว่าจะได้รับรางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นเป็นคนต่อไป ฉันก็เลยได้แต่เที่ยวสะสมหนังสือหรือเอกสารเก่าที่เป็นทั้งวัตถุดิบและวัตถุพยานของการทดลองใช้อักขระแบบประหลาดนั้นมาศึกษาเอาเองเรื่อยเปื่อย อย่างน้อยก็ให้จับต้องมองเห็นได้ว่าหน้าตาของมันเมื่อใช้งานแล้วจะเป็นอย่างไร

ฉันจะลองยกมาเล่าให้ท่านฟังบ้าง ดีไหม

[อ่านบทความฉบับเต็มได้ในวารอ่าน]

* หมายเหตุ: “Memory believes before knowing remembers.” ประโยคเปิดของบทที่ 6 ในนวนิยายเรื่อง Light in August (1932) โดย William Faulkner