ร. จันทพิมพะ กับ “ผู้หญิงอย่างเดียว” ปลายสมัยรัชกาลที่ 8

“ถ้า ร. จันทพิมพะ ยังมีชีวิตอยู่ ผมแน่ใจว่าเขาจะมาเป็นหนึ่งในทีมของ ‘อ่าน’ ” นั่นคือประโยคแรกของคำตอบจาก ลาว คำหอม หรือคำสิงห์ ศรีนอก ต่อคำถามที่ดิฉันลองเลียบเคียงไปว่า เคยรู้จักตัวจริงของนักเขียนที่ดิฉันสนใจอย่างยิ่งคนนี้หรือไม่ และเธอเป็นอย่างไร

เดาได้ไม่ยากว่าคุณลุงคำสิงห์ตอบอย่างนั้นเพราะ ร. จันทพิมพะ ไม่เพียงเป็นนักเขียน แต่ยังเป็นหนึ่งในคนทำนิตยสาร และเป็นผู้หญิงเหมือนกันกับดิฉันและคณะบรรณาธิการของอ่าน ส่วนในแง่ความคิดนั้น ดิฉันไม่ทันถามต่อว่าแง่มุมไหนด้านใดจึงดูเข้าข่าย ได้แต่อนุมานเอาเองอยู่ในใจไว้บางประการ คุณลุงคำสิงห์ยังบอกอีกว่า ร. จันทพิมพะ คือคนที่มาได้ไกลที่สุดแล้วเท่าที่นักเขียนหญิงคนหนึ่งจะมาได้ของยุคสมัยนั้น ดิฉันก็ไม่ทันถามอีกเหมือนกันว่า ที่ว่าไกลเท่าที่จะมาถึงได้ของยุคนั้น คือไกลหรือใกล้จากยุคของดิฉันเท่าไหน

นอกเหนือจากความสนใจส่วนตัวที่ดิฉันมีต่อนักเขียนคนนี้มานาน โจทย์ข้างต้นเหล่านั้นก็คล้ายจะเป็นสมมติฐานตั้งต้นไปโดยปริยาย และเนื่องจากบทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเสนอในวาระงานครบรอบ 70 ปี สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและนักเขียนซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือในยุคปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าน่าจะพอเข้าทีหากจะลองเสนอมุมมองและเสียงเล่าของดิฉัน ว่าด้วยนักเขียนที่เป็นนักทำหนังสือเหมือนกัน เพียงแต่เธอเป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการและเป็นผู้หญิง ซึ่งอยู่ในยุคสมัยที่ต่างไป แต่จะว่าไปแล้วก็อาจไม่ใกล้ไม่ไกลนักจากยุคสมัยที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้

และเพื่อให้ง่ายสำหรับผู้ฟังหรือผู้อ่านหากจะลองไปตามหาผลงานของนักเขียนคนนี้ ดิฉันจึงเลือกพูดถึงเธอผ่านนวนิยายเล่มที่น่าจะยังพอหาได้ในตลาดหนังสือมือสองหรือตามห้องสมุดทั่วไป ทั้งยังอุตส่าห์ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ให้เป็นหนึ่งใน “100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน” แม้ว่าดิฉันจะเห็นว่ายังมีนวนิยายและเรื่องสั้นอื่นๆของเธอที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และดิฉันตั้งใจจะนำมาวิเคราะห์ในโอกาสต่อไป

แต่ในโอกาสนี้ ดิฉันขอเริ่มต้นที่นวนิยายเล่มนี้ เราลิขิต-บนหลุมศพวาสิฏฐี

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่