อ่่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น”

ได้แต่หวังว่าความสำเร็จของ IC ในระดับโลก จะเชื้อเชิญให้การศึกษาชาตินิยมในสังคมไทย
ยกระดับขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ โดยเฉพาะในระดับทฤษฎีและวิธีวิทยาดังที่ IC
ได้ทำเป็นตัวอย่าง จะดียิ่งถ้า IC จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราท้าทายความเข้าใจทั่วไป
และสถานะความรู้ที่มีอยู่ พยายามเข้าใจชาตินิยมในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ของไทย

วรรณคดี ความเรียง และผลงานประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมลัทธิชาตินิยมมีมานานนับศตวรรษคู่กับ
กระแสลัทธิชาตินิยมคลื่นต่างๆ ข้อวิพากษ์วิจารณ์ผลงานเหล่านี้ก็มีมากมาย แต่โดยมากเป็นความ
พยายามกำหนดนิยามหรือสาระสำคัญของชาตินิยมหนึ่งๆ เช่นควรรวมแคว้นนั้นแคว้นนี้เป็นส่วน
หนึ่งของชาติตนหรือไม่ จะนับความเป็นชาติเดียวกันด้วยภาษาหรือศาสนากันแน่ ฯลฯ งานระยะ
แรกๆ เหล่านี้ถือว่าชาตินิยมเป็นธรรมชาติของสังคมที่พึงเกิดขึ้น ไม่ใช่การอธิบายหรือวิพากษ์
ชาตินิยมโดยผู้ศึกษาที่ถอยห่างออกมาแล้วถือเอาชาตินิยมเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องถูก
สอบสวนอธิบาย

ท่าทีชนิดหลังต่อชาตินิยมเพิ่งขยายตัวในต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อตระหนักกันว่าชาตินิยมเป็น
อุดมการณ์ความเชื่อชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมชาติทางสังคมที่พึงเกิดขึ้นดังที่เคยเชื่อกันมาก่อน โดย
เฉพาะอย่างยิ่งต่อเมื่อเกิดกระแสชาตินิยมแบบต่อต้านลัทธิอาณานิคมและกระแสชาตินิยมแบบนาซี
ฟาสซิสต์ในราวกลางศตวรรษ

การศึกษาชาตินิยมเชิงวิพากษ์ในสังคมตะวันตกระหว่างทศวรรษ 1950 – 70 จึงดำเนินไป
ท่ามกลางความรังเกียจลัทธิชาตินิยมที่น่าเกลียดน่ากลัว และท่ามกลางความเฟื่องฟูของลัทธิ
ชาตินิยมนอกสังคมตะวันตก (เราจะไม่ค่อยพบพรรคการเมืองในโลกตะวันตกที่ประกาศตัวว่า
ส่งเสริมลัทธิชาตินิยม และหากมีขึ้นก็มักเป็นพวกขวาจัดเหยียดคนต่างชาติ แต่เราจะพบ
พรรคการเมืองมากมายนอกสังคมตะวันตกที่ประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าเป็นพวกชาตินิยม
บ่อยครั้งถือว่าเป็นฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้าอีกด้วย)