อาทิตย์ สุรทิน นักเขียนผู้บุกเบิกวรรณกรรมชายรักชาย ทศวรรษ 1980-1990

เรื่องราวเกี่ยวกับเพศวิถีชายรักชายและเพศสภาวะเกย์เมื่อครั้งได้รับการนำเสนอในสิ่งพิมพ์จำพวกนิตยสารอย่างชัดเจนเปิดเผยในยุคแรกๆนั้น ปรากฏอยู่ในพื้นที่อย่างนิตยสาร แปลก ของบริษัทจินดาสาส์น ที่มุ่งนำเสนอสารคดีพิสดารพันลึกจากทุกมุมโลก นิตยสารซึ่งเริ่มฉบับปฐมฤกษ์ใน พ.ศ. 2518 และวางแผงทุกวันที่ 7, 17 และ 27 ของเดือนฉบับนี้ อุทิศพื้นที่หลายคอลัมน์ให้แก่การเผยตัวตน วิถีชีวิตและสังคมวัฒนธรรมเกย์ กะเทย เลสเบี้ยน ในฐานะ “ของแปลก” ต่อมา BR นิตยสารซึ่งแต่เดิมเน้นกลุ่มผู้อ่านหญิงและมีคอลัมน์ “หนุ่มหล่อประจำฉบับ” ก็เริ่มตีพิมพ์ภาพกึ่งเปลือยของดารานายแบบหนุ่มซึ่งกำลังเป็นที่นิยม รวมถึงตีพิมพ์นวนิยายรักเพศเดียวกัน ตามมาด้วยนิตยสาร MAN ที่ขยายมาจาก BR ซึ่งเมื่อแรกนั้นมีกลุ่มผู้อ่านทั้งชายและหญิง เน้นภาพแฟชั่น ภาพชุดว่ายน้ำ มีการพูดเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา แต่ต่อมาเริ่มมีกลุ่มผู้อ่านชายรักชายมากขึ้น และมีคอลัมน์ที่เป็นจุดขายคือ “บนถนนคนหนุ่ม” ซึ่งมีภาพเปลือยของดารานายแบบพร้อมบทสัมภาษณ์ นับว่าเป็นนิตยสารเล่มแรกๆที่เสนอภาพผู้ชายเปลือย

ใน พ.ศ. 2526 นิตยสารสหเพศ มิถุนา ก็ออกสู่ท้องตลาด มีเนื้อหาทั้งความบันเทิงและเรื่องเพศ และมีภาพชุด
นายแบบประจำฉบับ ต่อมาในปี 2527 ก็แตกตัวนิตยสารรายเดือน มิถุนาจูเนียร์ ที่เนื้อหาและแฟชั่นนั้นเจาะตลาดชายรักชายอย่างชัดเจน จนกลายเป็นนิตยสารเพื่อชายรักชายเล่มแรก ทั้งนี้ ในท่ามกลางกระแสความหวาดวิตกต่อโรคเอดส์ หรือ HIV ซึ่งเพิ่งมีรายงานการแพร่ระบาดในช่วงสองสามปีก่อนหน้า และมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 2525 โดย Centers for Disease Control and Prevention ของสหรัฐอเมริกา ว่าหนึ่งในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวคือกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน มิถุนาจูเนียร์ ก็ทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ ควบคู่ไปกับการก่อร่างสร้างชุมชนเกย์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข่าวคราวด้านสิทธิทางเพศจากทั่วโลก สารคดี บันเทิงคดี รวมถึงนวนิยายและเรื่องสั้นที่มีตัวละครหลักในเพศสถานะเกย์

ท่ามกลางบรรยากาศและพื้นที่เหล่านี้ “อาทิตย์ สุรทิน” คือผู้บุกเบิกงานวรรณกรรมสะท้อนสังคมของชายรักเพศเดียวกันในเมืองหลวง เผยแพร่ในนิตยสารเฉพาะกลุ่มชายรักชายจำนวนมากเช่นเดียวกับในกับนิตยสารทั่วไป
รวมถึงเขียนสารคดีปกิณกะว่าด้วยชายรักชายด้วย

หมายเหตุ บ.ก. เบ็น แอนเดอร์สัน เคยเตรียมเขียนบทวิจารณ์นวนิยายชีวิตเกย์เพื่อตีพิมพ์ในอ่าน โดยจะเปรียบเทียบระหว่าง ที่นี่….ไม่มีสวรรค์ ของอาทิตย์ สุรทิน กับ ประตูที่ปิดตาย ของกฤษณา อโศกสิน เบ็นได้ขอให้ อ่าน สืบหาว่าผู้ใช้นามปากกา “อาทิตย์ สุรทิน” คือใคร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเขียน ต่อมาเบ็นตัดสินใจส่งต่อให้คนรุ่นใหม่เขียนแทน ขณะที่ อ่าน เองก็ถือโอกาสนี้ขอสัมภาษณ์ อาทิตย์ สุรทิน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประวัติวงการหนังสือต่อไป โดยขอให้ชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นผู้สัมภาษณ์

อนึ่ง บทสัมภาษณ์นี้จงใจเก็บคำพูดที่อาจเข้าข่าย “คำหยาบ” และ “โจ่งแจ้งทางเพศ” ไว้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาษาสามัญที่ใช้กันในชีวิตจริง