ในช่วงปี พ.ศ. 2470-2490 มีงานประพันธ์ของไทยประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ไพรัชนิยาย หรือนวนิยายที่ใช้ฉากในต่างประเทศ (exotic novel) ออกมามากมาย หลายเรื่องยังคงได้รับการพูดถึงและศึกษากันต่อมา เช่น ละครแห่งชีวิต (2472) ของหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์, ข้างหลังภาพ ของศรีบูรพา (ตีพิมพ์เป็นตอนครั้งแรกในปี 2479), ปักกิ่งนครแห่งความหลัง (2486) ของสด กูรมะโรหิต ตลอดจน ความรักของวัลยา (2495) ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ไพรัชนิยายเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฉากของเรื่องอยู่ในนครหลวงของประเทศมหาอำนาจทั้งทวีปยุโรปและเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน หรือญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็มีผลงานของนักประพันธ์ที่เลือกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงของไทยเป็นฉากหลังเช่นกัน นักประพันธ์ผู้นั้นคือ แสน ธรรมยศ หรือ ส. ธรรมยศ
ส. ธรรมยศ เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากงานวิจารณ์อันครอบคลุมหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม ด้วยการใช้ภาษาที่วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา จึงทำให้งานเขียนของเขามักเป็นที่
อื้อฉาว ในอีกด้านหนึ่ง ส. ธรรมยศ ยังเป็นนักประพันธ์เรื่อง “อ่านเล่น” ผู้มากความสามารถ แม้เขาเองจะเคยเขียนไว้ว่าเขามิใช่นักประพันธ์ “แต่ที่เขียนหนังสือผูกถ้อยคำเป็นเรื่องมีชื่อกำกับลงพิมพ์ได้ พร้อมทั้งได้ราคาค่างวดตามสมควรนั้นเพราะนึกสนุก ไม่ได้เจตนาเขียนอย่างจริงจัง” และ “แต่ถ้าการเขียนเล่นนั้นกลายเป็นจริงขึ้นมา หรือ ‘ดูเป็นจริง’ ไป ก็ช่วยไม่ได้” ก็ตาม
อย่างไรก็ดี ความน่าสนใจของไพรัชนิยายของ ส. ธรรมยศนั้นอยู่ที่ว่าเรื่องเล่าของเขานอกจากจะเลือกใช้ฉากของเรื่องที่ต่างจากนักเขียนร่วมยุคแล้ว ยังปะปนไปกับประเด็นชาตินิยมและอาณานิคมของประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้นสองเรื่องของ ส. ธรรมยศคือ “เอแลน บาลอง” และ “รวงทอง” ซึ่งทั้งสองเรื่องใช้ฉากในประเทศเวียดนามและมีตัวละครหลักที่เป็นสตรี