ศัตรูที่อยู่ใน ไผ่แดง

ข้อสังเกตอย่างกว้างขวางต่อนวนิยายเรื่อง ไผ่แดง (2497) ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช คือการที่ผู้ประพันธ์ ‘แปลง’ มาจากนวนิยาย โลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล (Tales from the Little World of Don Camillo) ของ
นักเขียนอิตาเลียนนาม Giovanni Guareschi โดยที่ไม่ได้อ้างหรือชี้แจงไว้ ถึงกระนั้นก็มีกระแสชื่นชมว่าแม้จะนำ
เค้าเรื่องมา ก็สามารถปรุงเข้ากับรสปากคนไทยได้เนียนสนิท อย่างไรก็ตาม ผู้วิจารณ์ไม่ขอขยายความประเด็นนี้ เนื่องจากมีผู้ถกเถียงกันมาแล้ว

ไผ่แดง
เป็นชื่อสมมุติของหมู่บ้านเล็กๆ ขนาดสิบหลังคาเรือนที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ภายในชุมชนประกอบไปด้วยวัด โรงเรียน บ้าน แม่น้ำลำคลอง ไร่นา และควาย ตามบรรยากาศในช่วงยุคสมัยซึ่งคำนำสำนักพิมพ์สยามรัฐ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 141 ระบุไว้ว่า

ไผ่แดง” เป็นวรรณกรรมที่ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยที่ฝ่าย “อาณาจักร” กำลังใช้นโยบายต่อต้านลัทธิ “คอมมิวนิสต” อย่างสับสนอลหม่าน ทั้งยังมีพฤติกรรมมากมายหลายประการที่สำแดงถึงความตื่นกลัวภัยนั้นๆ เช่น การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้กระเบื้องสีแดงมุงหลังคาอาคารสถานที่ราชการ และการเปลี่ยนชื่อจากสะพานแดงเป็นสะพานบางซื่อ เป็นต้น

เมื่อรวมข้อสังเกตดังกล่าวเข้ากับภาพลักษณ์ของผู้ประพันธ์ที่อยู่ฝ่ายอนุรักษนิยม (อันเด่นชัดจากนวนิยาย สี่แผ่นดิน) ผู้ที่ได้อ่าน ไผ่แดง ย่อมมีแนวโน้มที่จะเห็นตามคำนำนั้น เพราะตัวละครอย่างสมภารกร่างที่อยู่ฝ่ายอาณาจักร ต้องคอยต่อปากต่อคำและแก้ไขสถานการณ์กับคนอย่าง แกว่น แก่นกำจร ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่องก็ดูจะคลี่คลายไปในทางเยาะเย้ยฝ่ายนายแกว่น จนทำให้ภาพของนายแกว่นกลายเป็น “ซ้ายปัญญาอ่อนหรือซ้ายโรแมนติค” ไป

เหตุใดสมภารกร่างจึงเป็นฝ่ายเหนือกว่า เหตุใดนายแกว่นจึงกลายเป็นตัวตลก จริงหรือที่ความขัดแย้งแบ่งเป็นสองฝ่ายชัดเจน และศัตรูของ ไผ่แดง คือคอมมิวนิสต์จริงหรือ ผู้วิจารณ์จะเริ่มวิเคราะห์จากความต่างและความเหมือนของตัวละครหลักทั้งสอง ดังนี้
****