คาร์ล ป็อปเปอร์ กับวิกฤตการเมืองไทย : สถาบันกษัตริย์กับปัญหาของ “สังคมเปิด”

เกริ่นนำ
ข้อเขียนชิ้นนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึงการถอยกลับไปเป็นสังคม “ปิด” ที่ไร้เสรีของประเทศไทยนับแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากช่วงเวลาสิบสี่ปีที่มีการขยายตัวของเสรีภาพทางการเมืองของไทยนับแต่การเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2535 และช่วงเวลาที่ยาวนานกว่านั้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากมองจากกรอบของบางทฤษฎีว่าด้วยการทำให้เป็นประชาธิปไตยแล้ว พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วของไทยและการก่อตัวของชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก น่าจะผลักดันให้ไทยสามารถก้าวสู่เส้นทางเสรีนิยมประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงทศวรรษ 2520-2530 เฉลี่ยประมาณ
ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์นั้น ถ้าวัดตามมาตรฐานบางเกณฑ์แล้วต้องถือว่าเป็นอัตราขยายตัวที่เร็วที่สุดในขณะนั้น การ
เรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยชนชั้นกลางชาวกรุงในปี 2535 ซึ่งส่งผลให้กองทัพถอยฉากจากการเมืองในระบอบรัฐสภาและทำให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งถือกันว่าเป็นประชาธิปไตยกว่าฉบับอื่นๆ ที่แล้วมาเนื่องจากผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนด้วยนั้น ดูจะยิ่งพิสูจน์ความถูกต้องของทฤษฎีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นับแต่รัฐประหารปี 2549 สถานการณ์ที่ในช่วงไม่กี่ปีก่อนดูจะเป็นการมุ่งหน้าอย่างเชื่อมั่นของไทยไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ปลายทางประวัติศาสตร์” ตามสำนวนอันลือลั่น ที่ฟรานซิส ฟุกุยามา เคยเสนอไว้เมื่อต้นทศวรรษ 1990 นั้น ก็ได้พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ

คำถามที่ว่าเหตุใดจึงเกิดการพลิกผันดังกล่าวขึ้นนั้น ไม่ควรถูกมองเป็นเพียงการถกเถียงอันแห้งแล้งในโลกวิชาการ ทั้งนี้ นับแต่รัฐประหารปี 2549 ประเทศไทยก็ตกอยู่ในห้วงวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาโดยตลอด ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รัฐบาลได้สั่งการให้กองกำลังทหารเคลื่อนสู่ท้องถนนเพื่อสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 รายและบาดเจ็บอีกนับพัน ประเทศยังอยู่ในภาวะแบ่งขั้วทาง
การเมืองอย่างร้าวลึก การที่พรรคการเมืองซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของทักษิณ ชินวัตร ยังสามารถประสบชัยชนะมาได้อีกครั้งในการเลือกตั้งใหญ่เดือนกรกฎาคม 2554 นั้น ไม่อาจนับเป็นทางออกจากวิกฤต หากเป็นเพียงสมรภูมิหนึ่งในสงครามยืดเยื้อทางการเมืองที่ยังดำเนินอยู่เสียมากกว่า ถ้ามองจากอีกแง่มุมหนึ่ง เราอาจทำความเข้าใจสงครามดังกล่าวได้ในฐานะการต่อสู้เพื่อสถาปนา “สังคมเปิด” ขึ้นในประเทศไทย ตามคำอธิบายเรื่อง “สังคมเปิด” (open society) ของคาร์ล ป็อปเปอร์ (Karl Popper) ที่อยู่ใน The Open Society and its Enemies อันเป็น
ผลงานชิ้นสำคัญของเขา

ข้อเขียนนี้จะพยายามอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยข้อเสนอที่ตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาได้เกิดความเข้าใจผิดตลอดมาเกี่ยวกับปัญหาเสรีภาพทาง
การเมืองของไทย ความเข้าใจผิดนี้หลักๆ แล้วเป็นผลมาจากการอ่านประวัติศาสตร์ของชาติอย่างผิดๆ โดยโยนบาปเรื่องลักษณะอำนาจนิยมในการเมืองไทยไปที่ทหารเป็นหลัก ประเทศไทยมักจะถูกเหมารวมให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับรัฐที่กำลังพัฒนาเข้าสู่สมัยใหม่แห่งอื่นๆ ในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย และพม่า ซึ่งทหารมีบทบาทครอบงำทางการเมืองอยู่ตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในยุคหลังได้รับเอกราช การเปรียบเทียบเช่นนี้ ซึ่งมักเป็นที่นิยมของนักทฤษฎีรัฐศาสตร์ ได้มีส่วนบดบังลักษณะเฉพาะของระบบการเมืองของไทยลงไป

อันที่จริงแล้ว ทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นของไทย นั่นคือปัญหาเรื่องสถานะทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์นับแต่การโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ. 2475 ประเด็นที่งานเขียนชิ้นนี้ต้องการเสนอคือ ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์กับอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุถึงความเป็นสังคมเปิดของไทยในปัจจุบัน ตราบใดที่ไม่มีการคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมเปิดในแบบที่ป็อปเปอร์กล่าวถึงได้ ผู้เขียนจะอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อปัญหาเกี่ยวกับอุปสรรคทางการเมืองของไทย และอธิบายว่าสถาบันกษัตริย์กับระเบียบทางการเมืองที่สถาบันกษัตริย์ค้ำจุนอยู่นั้นเป็นปัญหาสำหรับความเป็นสังคมเปิดอย่างไร
****