ที่มาของบทความชิ้นนี้ มาจากการสนทนากับอาจารย์นพพร ประชากุล เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์นพพรได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นว่า นิทานคำกลอนเรื่อง กากี เป็นมากกว่าเรื่องของผู้หญิงหลายชู้ แต่เผยให้เห็นนัยยะเชิงอำนาจที่แฝงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างกากีกับพระเจ้าพรหมทัต พญาครุฑ และคนธรรพ์ น่าเสียดายว่าอาจารย์นพพรได้ล่วงลับไปเสียก่อนที่จะทันได้เขียนถึงบทประพันธ์ชิ้นนี้ด้วยตนเอง ผมได้นำข้อคิดของอาจารย์มาทบทวนและสานต่อตามกำลังสติปัญญาเท่าที่จะพอมีอยู่บ้างของผม แน่นอนว่าผลที่ออกมาไม่อาจจะเทียบชั้นได้กับที่อาจารย์นพพรเป็นผู้คิดและเขียนเอง บทความชิ้นนี้เป็นเสมือนการทำการบ้านส่งครู เสียดายว่าส่งล่าช้าเกินกว่าที่ครูจะแก้ให้ดีไปกว่านี้ได้ คุณูปการใดๆ ที่บทความชิ้นนี้จะพึงมี ล้วนเป็นเพราะผมโชคดีมีอาจารย์นพพรเป็นเพื่อนอันประเสริฐ เป็นพี่ที่ใส่ใจ และเป็นครูผู้ไม่รู้เหนื่อยที่จะถ่ายทอดวิชา
เมื่อเอ่ยชื่อ “วันทอง” “โมรา” “กากี” เชื่อแน่ว่าไม่มีนักอ่านไทยคนใดจะไม่รู้จัก ชื่อตัวละครทั้งสามในวรรณคดีไทยได้กลายเป็นคำประณามที่ใช้เรียกผู้หญิงหลายใจ มากชู้หลายผัว แน่นอนว่าในปัจจุบัน ด้วยอานิสงส์จากกระแสสิทธิสตรีนิยม ได้มีความพยายามที่จะตีความสถานะและความหมายของตัวละครหญิงทั้งสามนี้เสียใหม่ โดยเฉพาะกรณีนางวันทองนั้นดูจะได้รับการพูดถึงค่อนข้างมากเป็นพิเศษ นักสตรีศึกษาและนักวิชาการด้านวรรณคดีได้พยายามสร้างคำอธิบายแก้ต่างให้กับพฤติกรรมของวันทองในหลายรูปหลายลักษณะ โดยเฉพาะปมประเด็นที่เธอไม่ยอมตัดสินใจว่าจะอยู่กับขุนช้างหรือขุนแผน อันเป็นเหตุให้เธอต้องถูกลงโทษประหารชีวิตโทษฐานเป็นหญิงสองใจ คำอธิบายหนึ่งที่น่ารับฟังคือ ตั้งแต่เกิดจนมีผัวมีลูก วันทองก็เหมือนกับหญิงไทยในอดีตที่ไม่เคยมีโอกาสได้ตัดสินใจเรื่องใดๆ ในชีวิต ดังนั้นเมื่อจู่ๆ พระพันวษาโยนภาระการตัดสินใจมาให้เธอ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่เธอจะรีรอ ลังเล ไม่รู้จะเลือกใครดี การเลือกไม่ได้จึงมิใช่เพราะวันทองเป็นหญิงสองใจ แต่เพราะเธอเลือกไม่เป็นต่างหาก ในทำนองเดียวกัน โมราซึ่งอยู่แต่ในผอบ จึงไม่มีประสบการณ์ในชีวิตพอจะที่รู้ผิดชอบชั่วดีหรือแยกแยะได้ว่าระหว่างจันทโครบ กับโจรป่า ใครคือคนดี คนชั่ว การประณามว่า “โมราฆ่าผัว” จึงไม่เป็นธรรมกับเธอนัก
ในบรรดาตัวละครทั้งสาม กากีดูจะประสบกับชะตากรรมที่น่าเห็นใจที่สุด กากีต่างกับวันทองและโมราในแง่ที่เธอมิได้มีสองผัว แต่มีถึงสาม และด้วยเหตุนี้กระมัง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตฯ จึงถึงกับบัญญัติว่า “กากี” เป็นคำด่า หมายถึง “หญิงมากชู้หลายผัว” ยิ่งกว่านั้น เมื่อเทียบกับวันทองและโมรา กากีเป็นตัวละครที่มีคนแก้ต่างให้น้อยที่สุด ในที่นี้ผมจึงขอหยิบบทประพันธ์ กากีคำกลอน หรือ กากีกลอนสุภาพ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาอ่านใหม่ เพื่อหาแง่มุมที่แผกไปจากเดิมต่อตัวละครหญิงผู้ถูกประณามหยามเหยียดจนกลายเป็นแบบฉบับของหญิงชั่วในสังคมไทย