ความบกพร่องของอุดมการณ์ชาตินิยมในทวิภพ

ฉันได้อ่าน ทวิภพ ในนิตยสาร สกุลไทย ตอนเป็นวัยรุ่น

ทุกสัปดาห์ฉันคอยลุ้นให้ “พ่อเทพ” และ “แม่มณี” ได้พบกันและคุยกันนานๆ

เมื่อพ่อเทพและแม่มณีแต่งงานกัน ฉันก็จินตนาการถึงชายในฝันแบบพ่อเทพ

ไม่นานฉันก็ย้ายไปอยู่ต่างประเทศ ผ่านไป 20 ปีฉันลืมเลือนพ่อเทพไปเสียสนิท จนกระทั่งได้ยินเรื่องราวของ ทวิภพเดอะมิวสิคัล และละคร ทวิภพ จากเพื่อนที่เมืองไทย ฉันจึงกลับมาอ่านทวิภพ อีกครั้ง

พ่อเทพและแม่มณี คือชายหญิงในอุดมคติของผู้ประพันธ์ (“ทมยันตี”) ที่นำเสนออุดมการณ์ชาตินิยมผ่านความโรแมนติค และทำให้ ทวิภพ เป็นวรรณกรรมชาตินิยมโรแมนติคประเภทเดียวกับ สี่แผ่นดิน ความโรแมนติคใน
ทวิภพ ไม่ได้จำกัดเพียงความรักระหว่างพ่อเทพและแม่มณี แต่ครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมของตัวละครที่ไม่สมเหตุ
สมผล

ความไม่สมเหตุสมผลอาจไม่เป็นปัญหาต่อการนำเสนอตัวนวนิยาย แต่ความไม่สมเหตุสมผลนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของอุดมการณ์ชาตินิยมใน ทวิภพ และทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมในทวิภพ เป็นอุดมการณ์ที่บกพร่อง

ทวิภพ นำเสนอความเป็นชาตินิยมโดยอ้างอิงถึงการเสียดินแดนของสยามหลังจากที่สยามแพ้สงครามกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. 112 พ่อเทพและแม่มณีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสื่อสารและต่อรองกับฝรั่งเศส ทำให้ดูเหมือนพ่อเทพและแม่มณีเป็นวีรบุรุษและวีรสตรีที่ช่วยปกป้องสยามจากการรุกรานของมหาอำนาจตะวันตก

แต่อุดมการณ์ชาตินิยมดังกล่าวไม่สมเหตุสมผลและมีปัญหาหลายประการ

การเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนเป็นทั้งวีรกรรมและการขายชาติ
ข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาเรื่องกรรมสิทธิ์เขาพระวิหารทำให้คนบางกลุ่มพากันหันมาชี้นำว่าการเซ็นสัญญายอมรับว่าเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาคือการเสียดินแดนและการขายชาติ ทำไมการเสียดินแดน (ตามนิยามของพวกเขา) เป็นวีรกรรมในทวิภพ แต่เป็นการขายชาติในปัจจุบัน ทำไมการเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส (และอังกฤษ) เป็นวีรกรรม แต่การเสียดินแดนให้กัมพูชาเป็นการขายชาติ

ประเด็นสำคัญคือสถานะของฝรั่งเศสและกัมพูชา ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม แต่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสและอาณานิคมของสยามในอดีต ในเชิงปริมาณ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ แต่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็ก มีข้อสังเกตว่าไทยไม่ทวงคืนดินแดนที่มาเลเซียรับไปจากอังกฤษ และขนาดเศรษฐกิจของมาเลเซียใหญ่กว่ากัมพูชา

ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า การเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนเป็นได้ทั้งวีรกรรมและการขายชาติ ปัจจัยสำคัญคือขนาดของคู่พิพาทและผลลัพธ์ของสงคราม ถ้าคู่พิพาทใหญ่และไทยแพ้สงคราม อุดมการณ์ชาตินิยมก็เรียกการเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนว่าวีรกรรม ถ้าคู่พิพาทเล็กและไทยชนะสงคราม อุดมการณ์ชาตินิยมก็เรียกการเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนว่าการขายชาติ ถ้าคู่พิพาทเล็กแต่ไทยแพ้สงคราม อุดมการณ์ชาตินิยมจะเรียกการเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนว่าอะไร วีรกรรมหรือการขายชาติ ?

เพื่อให้เห็นความขัดแย้งในตัวเองของอุดมการณ์ชาตินิยมใน ทวิภพ ลองสมมุติว่าถ้าไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษต้องร่วมมือกันทำสงครามที่สมรภูมิยุโรป จะเกิดอะไรขึ้น ?

ก่อนอื่นต้องสังเกตว่า กลุ่มคนที่เชื่อว่าสยามเสียดินแดน (แทนที่จะยอมรับว่ารบแพ้หรือไม่กล้ารบ) มักอ้างอิงว่าสยามเสียดินแดนมา 8 ครั้งภายในเวลา 42 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แปลว่าโดยเฉลี่ยแล้วสยามเสียดินแดน (ตามนิยามของพวกเขา) ทุก 5 ปี

สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเพียง 5 ปีหลังจากที่สยามเสียดินแดน (ตามนิยามของพวกเขา) ให้อังกฤษครั้งสุดท้าย ดังนั้นจึงอนุมานได้ว่าถ้าไม่มีสงครามโลกครั้งที่ 1 ฝรั่งเศสและอังกฤษก็คงจะขอดินแดนจากสยามอีก แล้วสยามจะทำอย่างไร ? ถ้าว่าตามวีรกรรมในทวิภพ สยามก็จะยกดินแดนให้แก่อังกฤษและฝรั่งเศสอีกเรื่อยๆ ทุกครั้งที่โดนขอ อีกไม่กี่ครั้งดินแดนที่เสียไปก็คงจะมากกว่าดินแดนที่เหลืออยู่ หรือสยามอาจจะเสียดินแดนจนหมดก็ได้ วีรกรรมใน ทวิภพ ก็จะกลายเป็นการขายชาติในที่สุด !

สรุปแล้วการเซ็นสัญญาขีดเส้นพรมแดนอาจจะเป็นวีรกรรมหรือการขายชาติก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสารพัด ทั้งขนาดของคู่พิพาท ผลลัพธ์ของสงคราม และสภาวะการเมืองระหว่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ ดังนั้นการนิยามอุดมการณ์ชาตินิยมด้วยการสูญเสียดินแดนจึงทำให้อุดมการณ์ชาตินิยมใน ทวิภพ เป็นอุดมการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้