อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ รอยจารึกแห่งประวัติศาสตร์ส่วนตัว

หนังของ อเล็กซานเดอร์ คลูเก้อ (Alexander Kluge) บอกเล่าสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนี ราวกับภาพตัดแปะที่ทั้งผสมปนเป คละเคล้า และทั้งกระจัดกระจาย ยากแก่การเชื่อมโยง บางภาพกำหนดที่มาไม่ได้ ต้องพิจารณากันหลายตลบกว่าจะเข้าใจว่าเป็นภาพอะไร เป็นไปได้หรือไม่ว่า นั่นคือภาพแทนความเป็น “ชาติ” ในหน้าประวัติศาสตร์ที่เขาคลุกคลีมานาน คือ “ชาติ” ซึ่งเป็นมายาภาพที่ใครหน้าไหนก็ไม่มีวันเข้าถึงหรือปะติดปะต่อให้ชัดทุกมุม หลายภาพเป็นเสมือนสิ่งแปลกปลอมที่แทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน คอยทำหน้าที่รบกวนจิตใจให้ขุ่นเคือง คลูเก้อรู้อยู่แก่ใจว่าภาพทุกภาพ ทั้งภาพบันทึกเหตุการณ์จริงและภาพจำลอง ที่เปล่งเสียงบอกเล่าความเป็น “เยอรมัน” นั้น ถูกละเลย ถูกทอดทิ้งมานานเกินไป
*
ภาพรวมจริงๆ ของทุกสังคมก็น่าจะมีสภาพไม่ต่างกัน หากประเทศไหนมีภาพที่สะอาด สวยหรู เรียบร้อย ดูดีไปทุกยุคทุกสมัย ทุกกระเบียดนิ้ว แสดงว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เราสามารถสันนิษฐานในเบื้องต้นได้เลยว่าประเทศนั้นกำลังริอ่านโกหก
*
ณ ปัจจุบัน เมื่อเรามาพินิจพิจารณาสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากทิ้งช่วงให้ “เวลา” เยียวยาทุกๆ บาดแผลเท่าที่จะทำได้ ช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 จนถึงปี พ.ศ. 2488 ดูจะผ่านมาแสนนาน เวลาเริ่มกะเทาะให้เกิดมุมมองใหม่ๆ ที่เปิดกว้างขึ้น การตัดสินจากมุมมองเดิมๆ ที่กรุ่นด้วยอารมณ์ความรู้สึก ค่อยๆ ผ่อนคลายลง เริ่มเกิดความพยายามเข้าใจพรรคนาซีจากข้อเท็จจริงที่ว่า นาซีเป็นเพียงพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศเยอรมนีช่วงจักรวรรดิที่สาม (The Third Reich) ภายใต้การบังคับบัญชาของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งใช้ “อุดมการณ์นาซี” มาโฆษณาชวนเชื่อให้มหาชนเยอรมันในยุคนั้นลุกขึ้นมาสนับสนุนเขาด้วยเหตุผลหลายประการประกอบกัน
*
การจะสามารถให้อรรถาธิบายชัดเจน อยู่ที่การล่วงรู้ว่ากระบวนการใดที่ปั้นแนวคิดอันเข้มแข็งทรงพลัง บ่มเพาะความเกลียดชังให้ระบาดไปทั่ว สภาพจิตใจของผู้คนที่ถูกตระเตรียมจัดตั้งมาตั้งแต่ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ซึ่งเยอรมันแพ้สงคราม) การโฆษณาชวนเชื่อที่แยบยล กวาดต้อนปัจเจกชนให้หันหน้าไปทิศทางเดียวกันได้อย่างไร คำตอบย่อมมากกว่าหลักการความเป็นหนึ่งเดียวของชาวเยอรมัน, ความเป็นสุดยอดของเผ่าพันธุ์อารยัน, การต่อต้านชาวยิวและการต่อต้านคอมมิวนิสต์ นี่คือเบื้องต้นที่จะนำไปสู่เนื้อหาการเมืองที่ชาติไหนๆ ต้องเรียนรู้
****