ลูกมีงานทำมากอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีเวลาว่าง แม้แต่จะหาเพลงฟังสักเพลงก็ทั้งยาก เพราะวิทยุไม่มีรายการภาษาจีนมานานแล้ว ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรจึงเลิก จะหาฟังได้ก็ต้องติดเครื่องรับพิเศษจากบริษัทแห่งหนึ่ง จ่ายค่าบริการให้เขาเป็นรายเดือน แต่รายการที่มีล้วนแต่เป็นภาษากลางฟังเข้าใจยาก… พวกเด็กๆ เรียนภาษากลางด้วย จึงสนุกสนานกับเครื่องรับใหม่พอสมควร บางวันมีรายการเล่านิทานนิยายเป็นกลอน หมุยเอ็งชอบนัก กลางวันฟังวิทยุ กลางคืนดูโทรทัศน์ ว่างๆนั่งรถยนต์ไปดูงิ้ว ไม่มีใครไปด้วยก็ไปคนเดียว เด็กๆหัวสมัยใหม่ไม่ค่อยชอบดูงิ้ว ชอบการแสดงแบบฝรั่งมากกว่า เครื่องรับเครื่องนี้มีราคาถูก ผิดกับเครื่องรับธรรมดา ยิ่งเทียบกับโทรทัศน์แล้วยิ่งเปรียบกันไม่ได้ ลูกคิดว่ามันก็คุ้มค่าอยู่
ข้อความข้างต้นนำมาจากนวนิยายของ “โบตั๋น” เรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนวนิยายที่นำเสนอภาพสังคมจีนในประเทศไทยได้ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง คำบรรยายดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าวิทยุกระจายเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันชาวเมืองกรุงอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา บริการวิทยุกระจายเสียงมีพัฒนาการต่อเนื่องและได้รับความนิยมขึ้นเป็นลำดับ จากการสำรวจของหน่วยงานข่าวของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี พ.ศ. 2506-2507 พบว่าประชาชนให้ความเชื่อถือข่าวสารจากทางวิทยุเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังเข้าถึงผู้ฟังได้กว้างขวางกว่าสื่อในรูปแบบอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้คนในกรุงเทพฯฟังวิทยุประมาณ 95 เปอร์เซนต์ โดยมีผู้ฟังวิทยุทุกวันหรือเกือบทุกวันอยู่ราว 76 เปอร์เซนต์ ดังนั้นแล้วสามารถกล่าวได้ว่าการกระจายเสียงทางวิทยุเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้คนในกรุงเทพฯ
ในยุคสงครามเย็น เมื่อสหรัฐอเมริการ่วมมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยได้ถูกดึงให้เป็นส่วนหนึ่งในแผนการต่อต้านดังกล่าวด้วย เอ็ดวิน เอฟ. สแตนตัน นักการทูตอเมริกันผู้ถูกหลอกหลอนจากความพ่ายแพ้ของรัฐบาลจีนคณะชาติต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน เชื่อว่าอาวุธที่ร้ายแรงและทรงพลังมากที่สุดในการเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์นั้น ก็คือชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยด้วย เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นซึ่งเต็มไปด้วยความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ ประกอบกับที่ประเทศไทยมีพลเมืองและลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่จำนวนมาก รัฐบาลไทยจึงพยายามผลักดันมาตรการในการควบคุมชาวจีนและสื่อภาษาจีน โดยเฉพาะสื่อเช่นวิทยุกระจายเสียงที่เข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้กว้างขวางกว่าสื่อประเภทอื่นสถานีวิทยุทั้งหมดจึงถูกสั่งห้ามไม่ให้มีการกระจายเสียงภาษาจีนนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา แต่ทว่ามีสถานีวิทยุกระจายเสียงนามว่า “ส่งเสียงทางสาย” เพียงแห่งเดียวที่อยู่รอดปลอดภัยท่ามกลางการกวาดล้างวิทยุภาษาจีนในช่วงนั้น “เครื่องรับ” ที่ถูกอ้างถึงในนวนิยายเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย ข้างต้น ก็คือเครื่องรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงแบบส่งเสียงทางสายนั่นเอง บทความนี้มุ่งแสดงภาพประวัติศาสตร์การกระจายเสียงภาษาจีนในช่วงสงครามเย็น ผ่านการศึกษาวิทยุ “ส่งเสียงทางสาย” (Rediffusion) หรือที่ชาวจีนในไทยรู้จักกันในนาม “ลี่ตีฮูเซิง” ซึ่งหมายถึงเสียงอันไพเราะ อีกทั้งอธิบายพัฒนาการของวัฒนธรรมจีนในชุมชมเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐไทยกับการกระจายเสียงภาษาจีน และพลวัตของวัฒนธรรมบันเทิงจีนในโลกสมัยใหม่