Life is Elsewhere: เบื้องหลังการกบฏ

ศตวรรษที่ 18 ไม่เพียงเป็นศตวรรษของการปฏิวัติที่เสรีภาพกลายเป็นแนวคิดทางการเมืองที่สำคัญที่สุดเท่านั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ฐานันดรทางสังคมได้ถูกกัดกร่อนโดยการเกิดขึ้นของทุนนิยม ความเชื่อเก่าๆ ได้ถูกท้าทายโดยความก้าวหน้าทางวิทยาการและความตื่นตัวของความคิดใหม่ๆ ผู้คนไม่ได้เกิดมาพร้อมตำแหน่งหน้าที่ทางสังคมที่ตายตัวและเลือกไม่ได้อีกต่อไป แต่เกิดมาพร้อมกับอิสระเสรีภาพ แนวคิดที่กลายมาเป็นคุณลักษณะศักดิ์สิทธิ์โดยธรรมชาติอันละเมิดมิได้ ที่จะกำหนดความเป็นไปในชีวิตของตัวเอง
**
เสรีภาพในยุคนี้จึงไม่เพียงเป็นเสรีภาพของเสรีชนที่ไม่ใช่ทาสหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นเสรีภาพในการนิยามอัตลักษณ์ความเป็นตัวตน เสรีภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ซ้ำหรืออยู่ในกรอบของใคร ซึ่งเป็นมรดกของความเป็นปัจเจกชนนิยมที่ถือกำเนิดในยุคโรแมนติคนิยม โรแมนติคนิยมถูกขนานนามว่าเป็นผลผลิต (ทางวัฒนธรรม) ชิ้นแรกของประชาธิปไตย (“Romanticism was the first born son of democracy”) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 นี่เองที่การขบถและเสรีภาพเชื่อมโยงกันจนแยกไม่ออก และเป็นค่านิยมสำคัญของผู้มีแนวคิดแบบหัวก้าวหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งใหม่ นับแต่นั้นการขบถก็เกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด และคงไม่มีวัยใดที่ไฟแห่งการขบถจะโชติช่วงได้เท่าวัยหนุ่มสาว วัยที่ความรุนแรง ซึ่งเป็นสาระสำคัญประการหนึ่งของการขบถ ดูจะงดงามที่สุดและไปกันได้ดีกับฮอร์โมนในร่างกาย
**
Life is Elsewhere เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกของมิลาน คุนเดอรา (Milan Kundera) ที่ได้ตีพิมพ์หลังการลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศเชคโกสโลวาเกียไปฝรั่งเศส งานของคุนเดอรานั้นมักมีเนื้อหาที่สะท้อนผลกระทบทางการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในนิยายเล่มแรกๆ อย่างเช่นเรื่องนี้เป็นต้น คุนเดอราระบุในตอนท้ายของ Life is Elsewhere ว่า “เขียนเสร็จในโบฮีเมีย ปี 1969” หนึ่งปีหลังจากการเปิดเสรีทางการเมืองและวัฒนธรรมในเชคโกสโลวาเกียที่เรียกกันว่า Prague Spring ซึ่งกินเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ประเทศจะถูกบุกยึดโดยกองกำลังผสมที่นำโดยโซเวียต เพื่อเปลี่ยนเชคฯ กลับไปสู่แนวทางเดิมของระบอบคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน คือการลุกฮือของนักศึกษาที่ปารีสในเหตุการณ์ที่เรียกว่า May 1968 และน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของคุนเดอราในการเขียน Life is Elsewhere เพราะประโยคดังกล่าวเป็นหนึ่งในคำขวัญที่เขียนบนกำแพงมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ในการลุกฮือครั้งนั้น
**
การเมืองมีผลต่อความคิดที่อยู่ในงานเขียนของคุนเดอราอย่างยิ่ง ก่อนหน้านั้น งานเขียนที่อยู่ในรูปกวีของคุนเดอราในวัยหนุ่มมักมีเนื้อหาสนับสนุนอุดมการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เป็นช่วงที่เขาเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่คุนเดอราเริ่มเข้าร่วมเรียกร้องการเปิดกว้างนั้น นิยายเรื่องแรกที่ออกมาคือ The Joke ก็มีเนื้อหาวิเคราะห์วิจารณ์อุดมการณ์และผลกระทบทางการเมือง รวมทั้งพฤติกรรมของหนุ่มสาวนักปฏิวัติในเชิงล้อเลียน และโดยเฉพาะใน Life is Elsewhere การวิเคราะห์วิจารณ์ดังกล่าวดูจะเด่นชัดมาก และน่าจะเป็นผลจากประสบการณ์การเฝ้ามองผลกระทบจากอุดมการณ์ทางการเมืองและการกบฏเพื่อสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น
**